ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เภสัชกร ชี้ประชาชนยังขาดความรู้เรื่องยา เชื่อโฆษณาโดยไม่วิเคราะห์ ระบุยาที่ดีต้องไม่ออกฤทธิ์หวือหวา-ทันทีทันใด

ภก.เด่นชัย ดอกพอง จากโรงพยาบาลขุขันธ์ จ.ศรีสะเกษ กล่าวถึงงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านการใช้ยา ภายในเวทีประชุมเภสัชกรรมปฐมภูมิ หัวข้อ “เภสัชกรกับการพัฒนาระบบยาในการแพทย์ปฐมภูมิ” เมื่อวันที่ 28 มี.ค.2560 ณ โรงแรมอมารี ดอนเมือง กรุงเทพฯ ตอนหนึ่งว่า ผู้ใช้ยาในปัจจุบันอาจขาดความเข้าใจในเรื่องชนิดของยา ทั้งเพื่อการรักษา ด้านความสวยความงาม หรือสุขภาพอื่นๆ โดยเฉพาะการโฆษณาสรรพคุณของยาที่หลากหลายเป็นส่วนที่สำคัญในการดึงดูดให้ประชาชนเข้าถึงยาตามความต้องการ โดยขาดกระบวนการตรวจสอบและวิเคราะห์ถึงยาเพื่อความเหมาะสมของร่างกาย

นอกจากนี้ ในส่วนการใช้ยาเพื่อรักษาโรคเรื้อรังต่างๆ นั้น จากการสำรวจพบว่ามีความแตกต่างด้านมุมมองของการใช้ยา โดยแพทย์มักจะมองว่าโรคเรื้อรังไม่หายจะต้องทานยาไปตลอดชีวิต ขณะที่คนขายยามองว่ากินยาแล้วหายหรือเสริมให้ดียิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม ในมุมของคนไข้เองมองว่าการใช้ยาก็ไม่ใช่เรื่องเสียหาย หากทานแล้วไม่ปวด ทำให้นอนหลับ ซึ่งจะเห็นได้ว่าทั้งหมดขาดระบบความเข้าใจของยาอย่างถูกต้องในมุมของการคุ้มครองผู้บริโภค ดังนั้นหน้าที่การตรวจสอบการใช้ยา การให้ยาอย่างเหมาะสมจึงเป็นหน้าที่สำคัญของเภสัชกร ที่ต้องดูว่ายานั้นปลอดภัย ได้ประโยชน์ และคุ้มค่าหรือไม่กับผู้บริโภค

“การตรวจสอบยาคือ ต้องถูกกฎหมาย มีอย. หรือตรงตามทะเบียนยา ที่สำคัญคือใช้แล้วไม่หวือหวา ยกตัวอย่างยาที่หวือหวาคือหากใช้แล้วไม่ปวด กินได้ นอนหลับ ยานั้นคือมีสารสเตียรอยด์ หรือหากทานยาแล้วขาวใน 3 วัน คือยานั้นมีส่วนผสมของไฮโดรควิโนน กรดวิตามินเอ ปรอท หรือน้ำหนักลดทันที ก็จะมีสารฟลูออกเซติน เป็นต้น” ภก.เด่นชัย กล่าว

ภก.เด่นชัย กล่าวต่อว่า ในส่วนของพื้นที่ อ.ขุขันธ์ จ.ศรีสะเกษ แต่เดิมประชาชนในพื้นที่ส่วนใหญ่ยังขาดความเข้าใจด้านการใช้ยา รวมถึงการใช้ชีวิตประจำวันที่ส่งผลกระทบต่อร่างกาย โดยโรคเรื้อรังที่คนขุขันธ์ต้องเสียชีวิตมากที่สุดคือโรคมะเร็ง ที่สูงเป็นอันดับหนึ่งนับตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นมา เนื่องจากผู้คนต้องใช้ชีวิตอยู่กับสารเคมีอย่างไม่รู้ตัว ทั้งการทำเกษตรกรรม หรือการรับประทานอาหาร และการดื่มสุรา เป็นต้น

“แต่ในปัจจุบันปัญหาดังกล่าวถูกคลี่คลายผ่านการทำความเข้าใจ และให้ความรู้กับคนในพื้นที่ ทั้งการอบรมการทำเกษตรที่ไม่ส่งผลกระทบต่อร่างกาย งดใช้ยาฆ่าแมลง งดใช้สารเคมี และสร้างเครือข่ายการใช้ปุ๋ยชีวภาพแทน นอกจากนี้ ยังแนะนำการปลูกพืชผักสมุนไพรที่สามารถช่วยเหลือในการรักษาร่างกายได้ ซึ่งผลจากการแนะนำทำให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดียิ่งขึ้น และงานดังกล่าวก็คืองานคุ้มครองผู้บริโภคในพื้นที่ด้วยเช่นกัน” ภก.เด่นชัย กล่าวทิ้งท้าย