ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ และกองกฎหมาย กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ลงตรวจสอบคลินิกย่านชินเขต หลังตรวจพบโฆษณาผ่านสื่อโซเชียล เชิญชวนให้ประชาชนเข้ารับบริการเสริมความงาม ทั้งเสริมจมูก ทำปากทรงกระจับ ทั้งๆ ที่ไม่ได้จบแพทย์ และไม่มีใบประกอบวิชาชีพเวชกรรม

จากกรณี ที่มีการเตือนภัยผ่านสื่อโซเชียลว่ามีชายหนุ่มใช้นามแฝงว่า “หมอต้อล” โฆษณาผ่านสื่อโซเชียลเชิญชวนให้ประชาชนเข้ารับบริการเสริมความงามทั้งการผ่าตัดเสริมดั้งจมูก ทำปากกระจับ ที่คลินิกย่านชินเขต ซึ่งจากการตรวจสอบผ่านเว็บไซต์ของแพทยสภาไม่พบบุคคลดังกล่าวมีรายชื่อเป็นแพทย์ที่มีใบประกอบวิชาชีพเวชกรรม  

ทพ.อาคม ประดิษฐสุวรรณ

ความคืบหน้ากรณีดังกล่าว วันนี้ (29 มีนาคม 2560) ทพ.อาคม ประดิษฐสุวรรณ ผู้อำนวยการสำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า นพ.วิศิษฎ์ ตั้งนภากร อธิบดีกรม สบส. ได้สั่งการให้พนักงานเจ้าหน้าที่จากสำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ และกองกฎหมายเข้าตรวจสอบคลินิกดังกล่าวอย่างเร่งด่วนใน 3 ประเด็นหลัก คือ

1.ประเด็นของคลินิกว่ามีการขึ้นทะเบียนถูกต้องตามที่พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สถานพยาบาล พ.ศ.2541 ที่แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 4 พ.ศ.2559 กำหนดหรือไม่

2.แพทย์ผู้ให้บริการมีใบประกอบวิชาชีพเวชกรรม หรือไม่

และ 3.คลินิกดังกล่าวมีส่วนรู้เห็น หรือใช้บุคคลที่มิใช่แพทย์มาสวมรอยให้บริการตรวจรักษาประชาชนหรือไม่

โดยกำหนดให้แล้วเสร็จภายใน 3 วัน เพื่อดำเนินการทางกฎหมาย รวมทั้งคุ้มครองความปลอดภัย และสร้างความมั่นใจแก่ประชาชน

ทพ.อาคม กล่าวต่อว่า ขณะนี้การบริการเสริมความงามกำลังได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย และมีการโฆษณาผ่านสื่อโซเชียลอย่างกว้างขวาง เพราะสามารถเข้าถึงกลุ่มคนในวงกว้างได้อย่างรวดเร็ว ดังนั้น ประชาชนที่ต้องการรับบริการเสริมความงามจะต้องพิจารณาให้ถี่ถ้วน อย่าหลงเชื่อคำโฆษณา ซึ่งส่วนใหญ่มักจะลงภาพหลังการรักษาให้เห็นด้วย เพื่อเป็นกลยุทธ์ในการสร้างความเชื่อถือแก่ผู้เข้าชม อย่างเช่น กรณีของบุคคลที่ใช้นามแฝงว่า “หมอต้อล” ก็มีการนำคำวิจารณ์ และภาพแสดงผลการรักษาในด้านบวกมาโฆษณา ซึ่งเรื่องนี้ต้องดำเนินการตรวจสอบอย่างเร่งด่วน เพื่อป้องกันอันตรายที่จากหมอเถื่อน คลินิกเถื่อน

ประเด็นหลักที่ประชาชนจะต้องตรวจสอบก่อนรับบริการเสมอ มี 2 ประการสำคัญ คือ

1.หลักฐานของคลินิก จะต้องมีการแสดงเลขที่ใบอนุญาต 11 หลักที่หน้าสถานพยาบาล โดยสามารถตรวจสอบผ่านสมาร์ทโฟน ทางเว็บไซต์ สำนักสถานพยาบาลฯ (http://mrd-hss.moph.go.th) ที่ไอคอนตรวจสอบคลินิก/รพ.เอกชน โดยพิมพ์ชื่อคลินิกเป็นภาษาไทยให้ถูกต้องตามป้ายคลินิกก็จะรู้ทันที หากไม่ปรากฏชื่อให้สงสัยได้เลยว่าคลินิกดังกล่าวไม่ถูกต้องตามกฎหมาย

2.ในส่วนของแพทย์ให้ตรวจสอบได้ที่เว็บไซต์ของแพทยสภา (www.tmc.or.th) โดยพิมพ์ชื่อ-นามสกุล ของแพทย์ที่ให้บริการหรือที่ปรากฏผ่านสื่อโซเชียล หากไม่ปรากฏให้ตั้งข้อสงสัยว่าบุคคลนั้นมิใช่แพทย์ และให้รีบแจ้งที่สายด่วน กรม สบส. 02 193 7999 หรือเฟซบุ๊ค สารวัตรสถานพยาบาลออนไลน์ หรือมือปราบสถานพยาบาลเถื่อน เพื่อดำเนินการตามกฎหมายโดยทันที

ทั้งนี้ ผู้ที่ลักลอบเปิดคลินิกจะมีความผิดตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ.2541 ที่แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 4 พ.ศ.2559 มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ในกรณีที่ผู้ดำเนินการนำบุคคลที่ไม่ใช่แพทย์มาให้บริการตรวจรักษา มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากเป็นหมอเถื่อนจะมีความผิดตาม พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2525 มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ