ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา” ชี้เทศกาลสงกรานต์ทำยอดบาดเจ็บในห้องฉุกเฉินพุ่ง เหตุคนนิยมดื่มฉลองหยุดยาว 2 เท่า เผยจักรยานยนต์ยังครองแชมป์อุบัติเหตุสูงสุด พบเมาแล้วขับเป็นปัญหาใหญ่

วันนี้ (29 มีนาคม 2560) ที่โรงแรมเอบีน่าเฮ้าส์ ในเวทีเสวนา “เสียงจากห้องฉุกเฉิน...สงกรานต์และปีใหม่กับภัยจากสุรา”จัดโดยศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) ร่วมกับ สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)  

นพ.อุดมศักดิ์ แซ่โง้ว นักวิชาการศูนย์วิจัยปัญหาสุรา และหัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศด้านการวิจัยระบบสุขภาพและการแพทย์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กล่าวว่า อุบัติเหตุการสูญเสียช่วง 7 วันอันตรายของเทศกาลสงกรานต์มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งปีที่ผ่านมาเกิดอุบัติเหตุรวม 3,447 ครั้ง เสียชีวิต 442 ราย บาดเจ็บ 3,656 ราย เมื่อเทียบกับสงกรานต์ปี 58 มีอุบัติเหตุเกิดขึ้น 3,373 ครั้ง เสียชีวิต 364 ราย บาดเจ็บ 3,559 ราย สาเหตุหลักเกิดจากเมาสุรา เพศชายอายุ 25-49 ปีเป็นกลุ่มที่ได้รับอุบัติเหตุจนเสียชีวิตและบาดเจ็บสูงสุด ยานพาหนะที่เกี่ยวข้องมากที่สุดคือ รถจักรยานยนต์

“หากต้องการลดอุบัติเหตุสงกรานต์นี้ ภาคธุรกิจต้องงดกิจกรรมส่งเสริมการขายสุราในบริเวณที่มีการเล่นสาดน้ำ เช่น การจัดซุ้มขายเบียร์ สำหรับการแก้ปัญหาในระยะยาว รัฐบาลต้องมีนโยบายให้มีการสุ่มตรวจแอลกอฮอล์ในผู้ขับขี่ยานพาหนะกระจายตามพื้นที่ทั่วประเทศ สนับสนุนงบประมาณด้วย เพราะเท่าที่ทราบ สถานีตำรวจในหลายพื้นที่ไม่มีเครื่องมือที่ใช้ตรวจแอลกอฮอล์ในลมหายใจ และรัฐบาลควรออกกฎหมายให้ผู้ขับขี่ต้องมีระดับแอลกอฮอล์เป็น “ศูนย์” เพื่อความปลอดภัยสูงสุดของผู้ใช้รถใช้ถนน และหากรัฐบาลต้องการจะใช้ ม.44 ในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเพื่อให้สงกรานต์ปีนี้เป็นสงกรานต์ที่ปลอดภัย ควรงดการจำหน่ายสุราในช่วงวันที่ 13-15 เม.ย. เหมือนการห้ามจำหน่ายในช่วงวันพระใหญ่” นพ.อุดมศักดิ์ กล่าว 

.นพ.สุวัฒน์ จริยาเลิศศักดิ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า จากการศึกษาการบาดเจ็บของผู้ป่วยที่สัมพันธ์กับพฤติกรรมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ และโรงพยาบาลนครพิงค์ พบว่า ผู้ป่วยที่บาดเจ็บมาห้องฉุกเฉินนั้นมีการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ถึง 16% ซึ่งผู้บาดเจ็บเหล่านี้มีพฤติกรรมการดื่มก่อนเกิดการบาดเจ็บภายใน 6 ชั่วโมง ปริมาณแอลกอฮอล์บริสุทธ์ที่ดื่มเฉลี่ย 108.3 มิลลิกรัม เทียบเท่ากับการดื่มเบียร์ขวดใหญ่ 3.5 ขวด การบาดเจ็บที่พบส่วนใหญ่กว่า 40% ในช่วงเทศกาลเป็นผลมาจากอุบัติเหตุเมาแล้วขับ ได้รับบาดเจ็บรุนแรง เช่น ศีรษะกระแทก บาดแผลในกะโหลกศีรษะ การบาดเจ็บของระบบอวัยวะภายใน นอกจากนี้ผู้ดื่มแอลกอฮอล์ก่อนได้รับบาดเจ็บ 6 ชั่วโมง มีโอกาสได้รับบาดเจ็บที่มีความรุนแรง2.6 เท่า และเป็นการบาดเจ็บที่เกิดจากอุบัติเหตุจราจร 2.7 เท่า เทียบกับผู้ที่ไม่ดื่ม

นางสาวโศภิต นาสืบ นักวิจัยสำนักวิจัยนโยบายสร้างเสริมสุขภาพ สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ กล่าวว่า จากการศึกษาพฤติกรรมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และการบาดเจ็บรุนแรงในช่วงปีใหม่และสงกรานต์เปรียบเทียบกับช่วงปกติ พบว่า เทศกาลหยุดยาว มีการบาดเจ็บหมู่มากกว่าช่วงเวลาปกติ 10.2 % และ 8.7% ส่วนใหญ่เกิดจากการขับขี่รถจักรยานยนต์ 80% และเกิดอุบัติเหตุบนถนนของ อบต./หมู่บ้านมากที่สุด รองลงมา ถนนกรมทางหลวงชนบท 37.9% และ 24.4% ตามลำดับ 

นอกจากนี้ วันหยุดยาวมีการดื่มเหล้ามากกว่าช่วงปกติถึง 2 เท่า และ 70% ของคนที่ดื่มเป็นเยาวชน 20-29 ปี และ 64% ได้รับบาดเจ็บขณะดื่มแล้วขับ ยังทำให้คนที่โดยสารมาด้วย 68% หรือคนเดินถนน 76% ได้รับบาดเจ็บหรืออุบัติเหตุไปด้วย ยิ่งไปกว่านั้น ปริมาณการดื่มช่วงเทศกาลตั้งแต่ปี 56-59 พบว่า ผู้ได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุจราจรดื่มสุราเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 108.5 กรัมของเอทานอล ในปี 56 เพิ่มเป็น 212.9 กรัมของเอทานอล ในปี 59 หรือมีอัตราการบริโภคสุราเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า ซึ่งถือเป็นปริมาณการดื่มที่เป็นอันตรายต่อตัวผู้ขับ

ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้นจริงจัง เช่น การตรวจปริมาณแอลกอฮอล์ และมีมาตรการการห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงเทศกาลวันหยุดยาว

ศ.นพ.สงวนสิน รัตนเลิศ ศัลยแพทย์ด้านระบบประสาทและสมอง คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า การดื่มสุราช่วงเทศกาลก่อให้เกิดอุบัติเหตุ บาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมาก อีกทั้งในด้านสุขภาพ สุรายังกดการทำงานของสมอง ทำให้การควบคุมยานพาหนะด้อยลงในสภาพการจราจรที่คับคั่ง สุรานอกจากทำลายเนื้อสมองแล้วยังก่อให้เกิดความสูญเสียมากมาย และจากข้อมูลของ นพ.ธาราณ์ ตันธนาธิป คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ที่ศึกษาผู้ป่วยบาดเจ็บที่บริเวณศีรษะ ในกลุ่มอายุน้อยกว่า16 ปี ที่เข้ารับการรักษาช่วงปี 47 ถึงปี 58 พบว่า มีสูงถึง 948 ราย เกิดจากอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ 43% ในจำนวนนี้ 34% เป็นผู้ขับขี่ที่อายุน้อยที่สุดคือ7 ปี 10 เดือน และอัตราการเสียชีวิตสูงถึง 39% ในผู้ป่วยบาดเจ็บที่ศีรษะชนิดรุนแรง