ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กระทรวงสาธารณสุข สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กองทุนประกันสังคม กองทุนสวัสดิการข้าราชการ และกองทุนอื่น ๆ เดินหน้านโยบาย “UCEP” ตามมติ ครม. มีผล 1 เมษายน นี้ 

วันนี้ (31 มีนาคม 2560) ที่ศูนย์ประชุม อิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ผู้แทนกรมบัญชีกลาง นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน ประธานวิทยาลัยแพทย์ฉุกเฉินแห่งประเทศไทย และเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ แถลงข่าว การดำเนินการนโยบาย “เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่” (Universal Coverage for Emergency Patients : UCEP)  หลังจากที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ เรื่อง “หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต” เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2560 ที่ผ่านมา

นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า นโยบาย “เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่” มีวัตถุประสงค์ให้ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตสามารถเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้ได้ทุกแห่งทั้งรัฐและเอกชน โดยไม่ต้องสำรองจ่ายเงินในระยะ 72 ชั่วโมงแรก ซึ่งคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉินได้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์วิธีการ เพื่อให้ประชาชนที่เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต ได้รับการดูแลความสะดวกปลอดภัย รวมทั้งแก้ไขในสิ่งที่เป็นข้อกังวล เช่น นิยามผู้ป่วยฉุกเฉิน อัตราค่าบริการ การจ่ายเงิน การดูแลหลังพ้นวิกฤต 72 ชั่วโมง เป็นต้น กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ได้ออกอนุบัญญัติตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล ได้แก่

1.การจำแนกประเภทผู้ป่วยวิกฤตฉุกเฉินที่สถานพยาบาลไม่เรียกเก็บเงินค่ารักษาพยาบาลใน 72 ชั่วโมง  

2. กำหนดหลักเกณฑ์ให้สถานพยาบาลในการดูแลรักษาผู้ป่วยวิกฤตฉุกเฉิน และการส่งต่อผู้ป่วยหากเกินขีดความสามารถเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยเสียชีวิตหรือภายหลังพ้นวิกฤต 72 ชั่วโมง

3.หลักเกณฑ์อัตราค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉิน ที่จะได้รับการชดเชยจากกองทุนต่างๆ ในอัตราที่คณะกรรมการสถานพยาบาลได้เสนอไปและคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2560 ที่ผ่านมา

สำหรับอนุบัญญัติ 2 ฉบับแรก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ลงนามในประกาศกระทรวงสาธารณสุขอยู่ระหว่างลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาในวันที่ 31 มีนาคม 2560 นี้ และมีผลบังคับใช้ 1 เมษายน 2560 ซึ่งจะได้แจ้งเวียนประกาศฯ ไปยังสถานพยาบาลเอกชนทั่วประเทศ ให้ถือปฏิบัติตามกฎหมายต่อไป เพื่อให้ผู้ป่วยวิกฤตฉุกเฉินได้รับการดูแลรักษาพยาบาลจากสถานพยาบาลทุกแห่ง ใน 72 ชั่วโมงแรก โดยไม่ต้องกังวลเรื่องค่าใช้จ่าย สถานพยาบาลมีเจ้าภาพคือกองทุนต่าง ๆ ชดเชยค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการบริการผู้ป่วยวิกฤตฉุกเฉิน

ทั้งนี้ ได้กำหนดให้สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ เปิดศูนย์ประสานคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต เป็นผู้มีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับการวินิจฉัยในการคัดแยกผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต โดยค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นโรงพยาบาลเอกชนเรียกเก็บจากกองทุนต่าง ๆ ส่วนระบบสำรองเตียงรับผู้ป่วยหลังพ้นวิกฤต 72 ชั่วโมงจากภาคเอกชนนั้น ในเขตกรุงเทพมหานคร กระทรวงสาธารณสุขได้ประสานให้โรงพยาบาลรัฐทุกสังกัด รวมทั้งโรงพยาบาลในเขตปริมณฑลรองรับ ในส่วนภูมิภาคโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทุกแห่งพร้อมรองรับเช่นกัน โดยมีเบอร์ศูนย์ประสานงานคุ้มครองสิทธิ์ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต สพฉ. หมายเลข 02 872 1669 ตลอด 24 ชั่วโมง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘หมอปิยะสกล’ วอนอย่าเพิ่งโจมตี ‘ป่วยวิกฤตมีสิทธิทุกที่’ หากมีข้อผิดพลาดในช่วงแรก