ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมสนับสนุนบริการสุขภาพทำหลักเกณฑ์ออกแบบอาคารบริการสาธารณสุข และคู่มือมาตรฐานการกำกับติดตามการก่อสร้างอาคารทุกขั้นตอนให้โปร่งใสตรงตามสเปค แล้วเสร็จตามสัญญา เป็นมาตรฐานกลางของประเทศ เพื่อให้ได้อาคารที่ตรงมาตรฐาน มีความมั่นคง ต้านแรงลมและแผ่นดินไหวได้อย่างปลอดภัย กำหนดให้วิศวกรที่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรมเป็นผู้ออกแบบคำนวณ

นพ.ประภาส จิตตาศิรินุวัตร

นพ.ประภาส จิตตาศิรินุวัตร รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ปัจจุบันประเทศไทยประสบปัญหาภัยพิบัติบ่อยขึ้น กรม สบส.ซึ่งมีบทบาทในการควบคุมมาตรฐานอาคารบริการต่างๆ ของสถานพยาบาลที่อยู่ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งใช้เป็นสถานที่ให้บริการดูแลผู้เจ็บป่วย ได้กำหนดให้โครงสร้างอาคารต้องมีมาตรฐาน มั่นคง แข็งแรง ปลอดภัยต่อการใช้งาน สามารถต้านทานแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวและแรงลมพายุได้ 

ทีมวิศวกรโยธา กองแบบแผน กรม สบส.ได้จัดทำหลักเกณฑ์การออกแบบอาคารสถานบริการสาธารณสุข ซึ่งเป็นชนิดคอนกรีตเสริมเหล็กที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย โดยยึดตามตามมาตรฐานของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง คือ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522, มาตรฐานของวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และมาตรฐานของกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย เพื่อใช้เป็นเกณฑ์มาตรฐานกลางของประเทศ

ทั้งนี้ กำหนดให้ผู้ออกแบบคำนวณการก่อสร้างต้องเป็นวิศวกรที่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรมสาขาวิศวกรรมโยธาตาม พ.ร.บ.สภาวิศวกร พ.ศ.2542 ขณะนี้หลักเกณฑ์การออกแบบอาคารฯ เสร็จแล้ว และได้นำเผยแพร่ทางเว็บไซต์ของกองแบบแผน กรม สบส. (http://dcd.hss.moph.go.th) เพื่อให้วิศวกรหรือผู้สนใจทั่วไป ศึกษาและนำไปใช้ออกแบบโครงสร้างอาคารของสถานบริการสุขภาพได้

นพ.ประภาส กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ กรม สบส.ยังมีนโยบายในการกำกับตรวจสอบคุณภาพการดำเนินงานก่อสร้างอาคารของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขซึ่งมีมูลค่าปีละกว่า 30,000 ล้านบาท ให้เกิดประสิทธิภาพ โดยใช้บุคคลที่อยู่ภายนอกสัญญาหรือผู้ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับการดำเนินการตามสัญญา เป็นผู้ติดตามและรายงานคุณภาพผลการดำเนินงานบริหารสัญญา ทั้งยังเป็นการกำชับให้ผู้เกี่ยวข้องทุกลำดับปฏิบัติหน้าที่ตามระเบียบราชการและวิชาชีพอย่างเคร่งครัด เพื่อให้การใช้งบประมาณของแผ่นดินเกิดประโยชน์ตามวัตถุประสงค์สูงสุด 

โดยได้จัดทำคู่มือมาตรฐาน การกำกับตรวจสอบการดำเนินงานก่อสร้างอาคารและสภาพแวดล้อมสาธารณสุข ใช้เป็นแนวทางดำเนินงานของผู้ติดตาม เพื่อเป็นการส่งเสริม กำกับการตรวจสอบการดำเนินงานก่อสร้างอาคารของกระทรวงสาธารณสุข และเพิ่มประสิทธิภาพความโปร่งใสในการบริหารสัญญาจ้างงานก่อสร้างให้แล้วเสร็จตามแบบและข้อกำหนดของสัญญา ได้อาคารที่มีคุณภาพมาตรฐานตรงตามวัตถุประสงค์ 

คู่มือดังกล่าวประกอบด้วย มาตรฐาน, เกณฑ์การประเมิน และรายการตรวจสอบต่างๆ โดยได้นำเผยแพร่ทางทางเว็บไซต์ของกองแบบแผน กรม สบส.

สำหรับกระบวนการบริหารงานก่อสร้าง มีการปฏิบัติตามขั้นตอนของระเบียบราชการที่เข้มงวด เริ่มตั้งแต่

1.ผู้รับจ้าง ถูกกำกับโดยสัญญา ต้องสร้างตามข้อกำหนดของสัญญาทางราชการที่รักษาและคำนึงผลประโยชน์ของรัฐเป็นหลัก 

2.การกำกับควบคุมงานก่อสร้าง โดยนายช่างผู้ควบคุมงานที่เป็นตัวแทนของผู้ว่าจ้าง เพื่อให้การก่อสร้างเป็นไปตามหลักวิชาชีพครบถ้วน

3.การกำกับตรวจสอบการควบคุมงานก่อสร้างและติดตามผลการก่อสร้าง โดยคณะกรรมการตรวจการจ้าง เพื่อกำกับตรวจสอบการควบคุมงานของนายช่างผู้ควบคุมงานและการก่อสร้างของผู้รับจ้าง

และ 4.การกำกับโดยผู้ว่าจ้างที่เป็นหัวหน้าส่วนราชการ โดยมีผู้ตรวจสอบและนิติกรผู้ว่าจ้าง พิจารณากลั่นกรอง การเบิกจ่ายงบประมาณ