ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สธ.ชูกลยุทธ์ PIRAB ขับเคลื่อนงานส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคสู่ความเป็นเลิศ ตั้งเป้าอีก 20 ปี ประชาชนไทยอายุคาดเฉลี่ย 85 ปี แย้มนายกฯ เปิดช่องของบประมาณ Primary care แต่ต้องตอบโจทย์ลดการเจ็บป่วยของประชาชนและลดค่ารักษาพยาบาลในระยะยาว

นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธานเปิดการประชุมขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคสู่ความเป็นเลิศ (Promotion and Prevention Excellence Strategic Plan Forum) พร้อมบรรยายพิเศษในหัวข้อ “การส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคเป็นเลิศ (PP Excellence) : บูรณาการองค์รวม” ณ โรงแรมเซ็นทราศูนย์ราชการและคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ เมื่อวันที่ 29 มี.ค.2560 โดยมีผู้เข้าร่วมงานกว่า 1,600 คน ประกอบด้วยบุคลากรในสังกัด สธ. ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ภาคีเครือข่ายจากภาคประชาชนและกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

นพ.โสภณ กล่าวว่า สธ.มีแผนระยะ 20 ปีด้านสาธารณสุข โดยมี Vision เป็นองค์กรหลักด้านสุขภาพที่รวมพลังสังคมเพื่อประชาชนมีสุขภาพดี ส่วน Mission และเป้าหมายคือประชาชนสุขภาพดี คนทำงานมีความสุข และระบบยั่งยืน ทั้งนี้ ในส่วนของการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค (PP) เป็น 1 ในยุทธศาสตร์สู่ความเป็นเลิศของ สธ. ซึ่งได้ตั้งเป้าหมายในระยะ 20 ปีข้างหน้าไว้ว่าประชาชนไทยจะต้องมีอายุคาดเฉลี่ย 85 ปี และมีช่วงที่สุขภาพแข็งแรงถึงอายุ 75 ปี เด็กจะต้องมีพัฒนาการสมวัยไม่น้อยกว่า 90% อัตราการคลอดในผู้หญิงอายุ 15-18 ปีต้องไม่เกิน 18 คนต่อประชากร 1,000 คน และผู้สูงอายุมีสุขภาพดีไม่ต่ำกว่า 88% โดยงานด้าน PP จะเข้ามาจัดการกับปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาพต่างๆ เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนมีสุขภาพแข็งแรงทุกช่วงอายุ

ปลัด สธ. กล่าวต่อว่า หากพิจารณาสถานการณ์ปัญหาในปัจจุบัน จะพบว่ามีการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรจากหลายสาเหตุ โดยเฉพาะการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน ซึ่งประเทศไทยมีอัตราการเสียชีวิตเป็นอันดับ 1-2 ของโลก รวมทั้งการเสียชีวิตจากวัณโรคซึ่งมีเพิ่มขึ้นจากอันดับที่ 22 มาอยู่ที่ 18 ของโลก รวมทั้งการเสียชีวิตก่อนวันอันควรจากปัจจัยอื่นๆ เช่น เบาหวาน หลอดเลือดสมอง โรคหัวใจ มะเร็งตับ มะเร็งปอด วัณโรค เอดส์ ปอดอุดกั้น ฯลฯ

“ประเทศที่เจริญแล้วเขาสามารถจัดการเรื่องเหล่านี้ได้ ส่วนของไทยเรามีเด็กเหลือน้อย ด้อยคุณภาพ แล้วยังมาสูญเสียคนซึ่งสามารถเป็นกำลังของประเทศได้อีก นี่คือสิ่งที่เราเจออยู่และเป็นปัญหาที่ต้องไปหาทางส่งเสริมป้องกัน” นพ.โสภณ กล่าว

นพ.โสภณ กล่าวต่อไปว่า เพื่อบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ สธ.ได้กำหนดยุทธศาสตร์ด้าน PP Excellence ระยะ 20 ปี โดยในระยะแรกเป็นช่วงของการปฏิรูประบบส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค การบูรณาการบุคลากรทุกระดับลงไปช่วยทำงานในชุมชน การพัฒนาทรัพยากรบุคคลทางด้าน PP จากนั้นระยะที่ 2 จะเน้นเรื่องการทำให้ระบบที่ปฏิรูปได้แล้วเข้มแข็ง เช่นมีกฎหมายบางอย่างมารองรับ ระยะที่ 3 จะเน้นการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เกิดความยั่งยืน และระยะที่ 4 จะต้องมีผลงานการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคเป็นอันดับ 1 ใน 3 ของเอเชีย โดยจะมีแผนงานหลัก 4 ด้านคือ 

1.พัฒนาคุณภาพชีวิตคนไทยทุกกลุ่มวัย ตั้งแต่วัยเด็ก วัยเรียน วัยรุ่น วัยทำงาน จนถึงวัยสูงอายุ ทำอย่างไรให้แต่ละช่วงมีสุขภาพที่แข็งแรง

2.การป้องกันควบคุมโรคและภัยสุขภาพ ทำอย่างไรถึงจะ Prevent Protect และ Response ให้ได้ ซึ่งก็ต้องเริ่มจากระบบเฝ้าระวัง เมื่อมีข้อมูลจะการเฝ้าระวังเข้ามาแล้ว ต้องดูว่าปัญหาเกิดจากอะไร จะ Prevent อะไรได้บ้าง ตลอดจนจะมีการตอบสนองสถานการณ์อย่างไร ทั้งในภาวะปกติและภาวะฉุกเฉิน

3.การลดปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาพ เช่น แอลกอฮอล์ บุหรี่ อาหารที่ไม่ปลอดภัย ถือเป็นเรื่องที่จำเป็นที่ต้องลดปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ 

และ 4.การบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อม เนื่องจากสิ่งแวดล้อมส่งผลต่อสุขภาพมากกว่าที่ทุกคนคาดคิด ยกตัวอย่างเช่น ปัญหาหมอกควันในภาคเหนือ นอกจากพบโรคระบบทางเดินหายใจ แสบตาแล้ว ยังพบด้วยว่าจำนวนผู้ป่วยโรคหัวใจก็มากขึ้นด้วย เป็นต้น

“นั่นคือเป้าหมายที่ต้องเดินไป ถามว่าเป็นไปได้ไหม เป็นไปได้ นักการสาธารณสุขไม่เคยยอมแพ้ เราต้องมีเป้าที่ชัดเจน วางยุทธศาสตร์และกลยุทธ์ไปถึงตรงนั้นให้ได้” ปลัด สธ. กล่าว

นพ.โสภณ กล่าวอีกว่า ในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์และแผนงานที่วางไว้ จะใช้กลยุทธ์ PIRAB ซึ่งประกอบด้วย

1. Partnership การส่งเสริมป้องกันโรคต้องมีเรื่องสุขภาพในทุกๆ นโยบาย (Health in all policy) เช่น กระทรวงคมนาคมมาร่วมทำงานที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและมีเป้าหมายเพื่อสุขภาพ การจะเกิดแบบนี้ขึ้นได้ต้องเป็น Partnership กันก่อน สร้างความเข้าใจว่าเรื่องเกี่ยวกับการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคมีอะไร หรือจะเรียกว่าเป็น Health literacy ในหน่วยงานก็ได้ ซึ่งเมื่อ Partner มีความรอบรู้ ความเข้าใจด้านสุขภาพ ก็จะเกิดนโยบายที่ส่งเสริมสุขภาพขึ้นมา

2. Invest ต้องยอมทุ่มทุนในเรื่องการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ที่ผ่านมาประเทศไทยบอกว่างาน PP สำคัญแต่ของบประมาณไม่ค่อยได้ อย่างไรก็ดี ในปีนี้ได้มอบหมายให้สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ ตั้งงบประมาณสำหรับงาน Primary care โดยอยู่ระหว่างการพิจารณารายละเอียดกันอยู่ ซึ่งจะได้งบเท่าใดนั้นก็ขึ้นอยู่กับยุทธศาสตร์ที่วางไว้ว่าจะมีงานใหม่ๆ อะไรเพิ่มขึ้นบ้าง

“ท่านนายกรัฐมนตรีบอกว่าของบได้นะ พวกคลินิกหมอครอบครัวที่เราทำขึ้นมา แต่ให้ตอบโจทย์ 2 ข้อว่าได้งบไปแล้วจะลดการเจ็บป่วยของประชาชนได้อย่างไร และในระยะยาวจะช่วยประหยัดอย่างไร ตอนนี้กำลังให้ นพ.ยศ ตีระวัฒนานนท์ ผู้อำนวยการโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ ดูว่าถ้าทำ Primary care ให้เข้มแข็งแล้วจำลองสถานการณ์ไปอีก 10 ปีข้างหน้า จะช่วยลดค่าใช้จ่ายการรักษาพยาบาลได้หรือไม่ หรือถ้าปล่อยไปอย่างนี้จะเป็นอย่างไร 2 แบบนี้มีส่วนต่างไหม สมมุติมีส่วนต่าง 10 ปี 1 แสนล้านบาท เราเงินตรงนี้มาลงทุนดีกว่าไหม” นพ.โสภณ กล่าว

3. Regulations การมีกฎหมาย กฎระเบียบ ต่างๆ เช่น กฎหมายเกี่ยวกับการจำกัดการบริโภคบุหรี่หรือนมผง การโฆษณาส่งเสริมการขายต่างๆ เรื่องเหล่านี้ต้องมีกฎหมายออกมาปกป้องประชาชน

“เรื่องบุหรี่ เรื่องการตลาดที่นมแม่สู้นมผงไม่ได้ ทั้งส่งเสริมการขาย การแจกต่างๆ ก็ต้องมีกฎหมายมาปกป้อง เพราะเด็กของเราเกิดน้อย เพราะฉะนั้นเกิดมาต้องมีคุณภาพ นานาชาติก็ทำแบบนี้” นพ.โสภณ กล่าว

4. Advocacy ต้องชี้นำ สื่อสารกับสังคมในเรื่องการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค

และ 5. Building Capacity ซึ่งก็คือ Literacy ด้านสุขภาพ ทำให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลและสามารถในการตัดสินใจว่าจะรับบริการอย่างไร จะปรับพฤติกรรมอย่างไร เรื่อง Health Literacy นี้สำคัญ เพราะเมื่อประชาชนมีความรู้ก็จะสามารถบริหารจัดการสุขภาพตัวเองได้ (Self-care/Self-management)

ทั้งนี้ ปลัด สธ.ยังได้เน้นย้ำว่า งานด้านการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคจำเป็นต้องมี Partner และเครือข่ายต่างๆ ร่วมทำงานด้วย โดยบทบาทในฝั่งสาธารณสุขจะทำงานด้วยพลังของข้อมูล นักสาธารณสุขต้องมีข้อมูลว่าแต่ละปัญหามีสาเหตุเกิดจากอะไร แล้วส่งต่อข้อมูลให้พาร์ทเนอร์ช่วยดูกลุ่มเสี่ยง มีการสื่อสารกับสังคม และช่วยกันทำงานอย่างบูรณาการ และที่สำคัญ นักการสาธารณสุขต้องเป็นผู้นำในการส่งเสริมป้องกันโรค ความเป็นผู้นำคือมีอุดมการณ์ให้ประชาชนมีสุขภาพดี นี่คือสิ่งที่ต้องยึดมั่นโดยไม่เปลี่ยนแปลง

ด้าน นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ เป็นการยกร่างแผนยุทธศาสตร์ส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคสู่ความเป็นเลิศระดับประเทศ เน้นการพัฒนาศักยภาพของทีมงานให้เกิดการเรียนรู้และพัฒนาร่วมกันในทุกระยะ ผ่านกระบวนการคิด วิเคราะห์สถานการณ์ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ตลอดจนพัฒนากระบวนการดำเนินงานในพื้นที่ โดยหลังจากนี้จะมีการจัดเวทีในลักษณะนี้ในส่วนภูมิภาค เพื่อระดมความคิดเห็นในการปรับปรุงแผนยุทธศาสตร์ PP Excellence ต่อไป