ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมสุขภาพจิต เร่งเพิ่มศักยภาพเภสัชกรจิตเวชทั่วประเทศ ดูแลผู้ป่วยจิตเวชในชุมชน 

เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2560 ที่ รร.เจ้าพระยาปาร์ค กทม. นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต เป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการ “การบริบาลเภสัชกรรมผู้ป่วยจิตเวช” ประจำปี 2560

นพ.บุญเรือง กล่าวว่า ได้มีการคาดการณ์ว่า ประชากรทั่วโลกถึง 1 ใน 4 มีปัญหาสุขภาพจิตในช่วงใดช่วงหนึ่งของชีวิต ผู้ป่วยทางจิตเข้าถึงบริการต่ำกว่าโรคทางกาย เนื่องจากทัศนคติ การยอมรับการรักษา และที่สำคัญ คือ การพัฒนาระบบบริการยังไม่เพียงพอ กระทรวงสาธารณสุขจึงเน้นบริการเครือข่ายไร้รอยต่อมาตรฐานเดียวกัน เพื่อให้ผู้ป่วยจิตเวชเข้าถึงบริการที่มีมาตรฐาน มีคุณภาพ อย่างทั่วถึงในสถานบริการใกล้บ้าน 

อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อว่า สังคมยังมองผู้ป่วยจิตเวชว่า เป็นคนบ้า คนวิกลจริต ไม่สมประกอบ ซึ่งจริงๆ แล้วพวกเขาเจ็บป่วย ไม่ใช่ความอ่อนแอทางจิตใจ การดูแลรักษาจึงต้องผสมผสานและมีความพิถีพิถัน เนื่องจากผู้ป่วยจิตเวชมีความซับซ้อนมากในการดูแลรักษา ต้องมีทั้งการพูดคุย ทำกิจกรรมบำบัด ที่สำคัญคือ การให้ยารักษา เพราะความเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นเกี่ยวข้องกับความเปลี่ยนแปลงของสารเคมีในสมอง การใช้ยาที่ถูกต้อง มีประสิทธิภาพ ปลอดภัย และควบคุมดูแลได้อย่างครบถ้วน ชัดเจนและเข้าใจในคุณสมบัติ ตลอดจนผลที่จะเกิดขึ้น จึงมีความสำคัญยิ่ง

เภสัชกรเป็นวิชาชีพที่รับผิดชอบโดยตรงต่อการบำบัดและให้การดูแลด้วยยา การสร้างและพัฒนาเภสัชกรให้มีความรู้ความเช้าใจด้านจิตเวช มีสมรรถนะเพียงพอต่อการปฏิบัติงาน มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์การบริบาลเภสัชกรรมผู้ป่วยจากเภสัชกรโรงพยาบาลจิตเวช จึงมีความจำเป็น เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับบริการอย่างมีคุณภาพ ได้รับการรักษาด้วยยาอย่างมีประสิทธิภาพ ปลอดภัย และสามารถเข้ารับการบำบัดรักษาและดูแลต่อเนื่องในชุมชนใกล้บ้านได้  

การประชุมวิชาการในครั้งนี้ จัดขึ้นโดย ชมรมเภสัชกรจิตเวชและกลุ่มงานเภสัชกรรม สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ ระหว่างวันที่ 29-31 มีนาคม 2560 เพื่อเพิ่มพูนความรู้และแนวทางปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับงานบริบาลเภสัชกรรมผู้ป่วยจิตเวชในชุมชนและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์การบริบาลเภสัชกรรมผู้ป่วยจากเภสัชกรโรงพยาบาลจิตเวชทั่วประเทศ ได้แก่ เภสัชกรสังกัดกรมสุขภาพจิต เภสัชกรสังกัด รพศ. รพท. รพช. เภสัชกรสังกัดกรมอื่นๆ และนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุข รวม  250 คน

ประกอบด้วย การบรรยาย อภิปราย กรณีศึกษา เน้นการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผลในบัญชียาหลักแห่งชาติ สำหรับโรคจิตเภท ซึมเศร้า อารมณ์สองขั้ว และการใช้ยาจิตเวชในผู้ป่วยกลุ่มพิเศษ ได้แก่ ผู้ป่วยเด็ก ผู้ป่วยที่มีโรคร่วมทางกาย และผู้หญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร เป็นต้น ที่จะส่งผลให้เภสัชกรมีความมั่นใจ ผู้ป่วยให้การยอมรับ ใช้ยาได้อย่างถูกต้องและต่อเนื่อง มีความเท่าเทียมกันในการใช้ยา และไม่ถูกปฏิเสธยาที่สมควรจะได้รับ