ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

"...วอนหากโครงการเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตมีสิทธิทุกที่ เกิดข้อผิดพลาดในระยะแรกอย่าเพิ่งกล่าวโทษกัน ชี้เป็นเรื่องใหม่และจะทำให้คนทำงานเสียกำลังใจ ควรติเพื่อก่อและร่วมสนับสนุนให้ระบบเกิดความยั่งยืน..."

เริ่มตั้งแต่ 1 เมษายนเป็นต้นไป

หากไม่มีการเตรียมพร้อมรับมือผลกระทบจากนโยบายอย่างถี่ถ้วน เราจะต้องเผชิญกับปรากฏการณ์ต่างๆ ที่จะมีโอกาสเกิดขึ้นไม่ช้าก็เร็ว ดังนี้

1. ความบาดหมาง และข้อพิพาท จากการตีความภาวะเจ็บป่วยวิกฤติ ระหว่าง "คนไข้และญาติ" กับ "โรงพยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์"

2. การช่วงชิงโอกาสหาประโยชน์จากกระบวนการขนส่งผู้ป่วยทั้งสังกัดรัฐ เอกชน และมูลนิธิ

3. ปัญหาเรื่องมาตรฐานของการดูแลรักษา วัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ และเทคโนโลยีที่จะถูกเลือกใช้ใน "หน้างานจริง"

4. อัตราตายและพิการที่สูงขึ้นจากการรอส่งต่อทั้งจากเอกชนสู่รัฐ รัฐสู่รัฐ หรือระหว่างเอกชนด้วยกันเอง

5. หนี้นอกระบบ จากการเต็มใจยินยอม หลงเชื่อ หรือไม่ยินยอมแต่ไร้ทางเลือก อันเป็นผลจากความกลัวตายของคนไข้และ/หรือญาติ

6. อัตราการร้องเรียนไปยังหน่วยงานต่างๆ รวมถึงการฟ้องร้องจะเพิ่มขึ้นอย่างคาดไม่ถึง

7. ภาระทางกาย ทางใจ และทางกฎหมาย จะถาโถมมาสู่บุคลากรในโรงเรียนแพทย์ และ รพ.รัฐ

8. ภาวะวิกฤติทางการเงินจะรุนแรงอย่างมากในโรงเรียนแพทย์และ รพ.รัฐขนาดใหญ่

9. ธุรกิจบริการช่วยฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายในกรณีฉุกเฉินจะผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด และตามมาด้วยการขยายตัวอย่างหยุดไม่อยู่ของธุรกิจประกันทั้งต่อประชาชนและบุคลากรทางการแพทย์

10. การเรียกร้องปฏิรูประบบสุขภาพรอบที่ 3 จนเกิดการมัดคอบุคลากรภาครัฐในการทำประกันเสริมแม้จะอยู่ภายใต้ความคุ้มครองของต้นสังกัด ควบคู่ไปกับการร่วมจ่ายของประชาชนทุกสถานภาพ ท่ามกลางวิกฤติศรัทธาและความหวาดระแวงระหว่างกัน

ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์

...

ไม่ได้ติเพื่อทำลาย

แต่ติเพื่อก่อ

นโยบายสาธารณะนั้น โดยธรรมชาติแล้วอำนาจทั้งหลายจะอยู่ในมือผู้สร้างและขับเคลื่อนนโยบายเฉพาะช่วงก่อนประกาศสู่สาธารณะ

แต่หลังประกาศไปแล้ว อำนาจต่างๆ จะถดถอยลง และถ่ายโอนไปสู่สังคม ที่ยากนักที่กลุ่มผู้สร้างนโยบายจะไปจัดการได้

โดยเนื้อแท้แล้ว นโยบายนี้ฝืนธรรมชาติ เพราะบังคับทำทุกคนทุกที่ มีทั้งเต็มใจและไม่เต็มใจ ภายใต้ทรัพยากรในระบบที่จำกัดและรูปแบบการจัดการแบบเสื้อตัวเดียวใส่ได้ทุกคน โดยรู้ทั้งรู้ว่าจะเกิดผลไม่พึงประสงค์ต่างๆ ตามมา

นโยบายวิกฤติเข้าได้ทุกที่ดีทุกสิทธินั้นไม่สามารถทำให้เกิดอย่างมีประสิทธิภาพในโลกแห่งความเป็นจริงครับ

สำหรับฝั่งรัฐนั้น จะกลับลำตอนนี้ก้ไม่ทันแล้ว

เหลือที่พอจะช่วยได้คือ จงรีบระดมสรรพกำลัง และเปิดช่องทางให้คนจากทุกภาคส่วนมาช่วยกันสร้างกลไกจัดการปัญหา 10 ประการข้างต้นเถอะครับ!!! ไม่ควรคิดเอง เออเอง ทำเอง แบบที่ผ่านมาเพราะถือว่าข้าถือกฎระเบียบ และถือเงิน แต่ไม่แคร์คำบอกกล่าวเล่าแจ้งจากคนนอกและนักวิชาการ

เอาใจช่วย...

ในขณะเดียวกัน ฝั่งประชาชนก็ควรรู้เท่าทัน และเตรียมตัวรับมือกับภาวะฉุกเฉิน ไม่หลงระเริงว่ามีนโยบายนี้ออกมาแล้วจะสบายใจได้จริง

การเจ็บป่วยไม่เข้าใครออกใคร จะเป็นเบาเป็นหนัก บาดเจ็บเล็กน้อยหรือสาหัส ล้วนเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ทุกเวลาในสังคมปัจจุบันที่มีความเสี่ยงในการใช้ชีวิตมากขึ้นทุกที

ขณะที่กำลังแข็งแรงดี ทำงานได้ ควรเก็บออมเงินไว้บางส่วนเพื่อใช้ยามฉุกเฉินทั้งสำหรับตนเองและครอบครัว เพราะหลายครั้งหลักประกันสุขภาพของภาครัฐและของเอกชนนั้นอาจไม่ครอบคลุม หรือภาวะเจ็บป่วยที่เราเป็นนั้นไม่อยู่ในข่ายที่เบิกได้

ถามว่าต้องกันเงินไว้เท่าไหร่ เพื่อใช้จ่ายยามป่วยฉุกเฉิน ตัวเลขกลมๆ โดยคร่าวคือราว 20,000-200,000 บาท น่าจะพอช่วยให้หายใจได้ยามหน้าสิ่วหน้าขวานข้างต้น โดยไม่ทำให้เราต้องบากหน้าไปกู้หนื้ยืมสินจากเพื่อนพี่น้องหรือจากนอกระบบจนเป็นภาระระยะยาว

ระลึกไว้เสมอว่าโรงพยาบาลรัฐนั้นค่าใช้จ่ายโดยรวมจะน้อยกว่าเอกชนอย่างมาก ดังนั้นหากเจ็บป่วยแล้วไม่มีเงินถุงเงินถัง ไม่มีกำลังจ่าย ถึงแม้จะมีการซื้อประกันไว้บ้าง ยามฉุกเฉินค่าใช้จ่ายอาจบานปลายจนหยุดไม่อยู่ หากมุ่งไปที่ รพ.เอกชน ก็จำเป็นต้องเตรียมรับมือกับค่าใช้จ่ายที่งอกออกมาและอาจต้องรับผิดชอบเอง แม้รัฐจะประกาศว่ารับผิดชอบ 72 ชั่วโมงแรก แต่การย้ายออกไปนั้นมีอุปสรรคหลายด่านที่ต้องฝ่าฟัน ทางที่เหมาะสมในสถานการณ์แบบนี้คือ ไปรับการดูแลที่โรงพยาบาลรัฐจะดีกว่า

พ่วงท้ายสำหรับกลุ่มผู้หวังดีแต่ประสงค์ร้าย หรือคิดจะฉวยโอกาสหาประโยชน์จากนโยบายที่ยังไม่สมบูรณ์ว่า การหากินกับความเจ็บป่วยของคน ไม่ว่าจะเรื่องการเลือกขนส่งไปที่ที่ให้เงินหรือของรางวัลตอบแทน ตลอดจนการยุยงให้เกิดการฟ้องร้องโดยไม่จำเป็นเพื่อหวังส่วนแบ่ง หรือในรูปแบบอื่นๆ ที่เราเคยได้รับรู้กันมาตลอดนั้น...เป็นบาปหนักนะครับ อย่าทำเลย ช่วยเหลือคนด้วยเจตนาที่ดี ไม่มีประโยชน์แอบแฝง จะเป็นสุขทั้งต่อตัวท่านและต่อผู้อื่น

ป.ล.

วิกฤต หรือวิกฤติ ใช้ได้เหมือนกัน...เอาที่สบายใจ

1 เมษายน เป็น April Fool's Day แต่ที่เขียนมานั้นไม่ได้โกหกนะ

ด้วยรักต่อทุกคน

ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ สำนักงานวิจัยและพัฒนาเพื่อการแปรงานวิจัยสุขภาพสู่การปฏิบัติ ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

1 เมษายน 2560