ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เปิด 3 สาเหตุทำพยาบาลขาดแคลน 1.รักษาในระบบไว้ไม่ได้ รุ่นใหม่ออกจากวิชาชีพเร็วขึ้น 2.กระจายบุคลากรไม่ดี 3.ใช้ประโยชน์จากพยาบาลไม่เต็มประสิทธิภาพ เหตุให้ทำงานอื่นจนกระทบงานหลัก ระบุอนาคตต้องการพยาบาลมากขึ้นตามสถานการณ์สังคมที่มีผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคเรื้อรังเพิ่มขึ้น

ดร.กฤษดา แสวงดี

เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2560 ดร.กฤษดา แสวงดี นักวิจัยอาวุโสด้านนโยบายกำลังคน และอุปนายกสภาการพยาบาล กล่าวในเวที สช.เจาะประเด็นหัวข้อ “ล้นตลาดหรือขาดแคลน! ถึงเวลา ‘สแกน’ กำลังคนด้านสุขภาพ”ว่า นโยบายการกระจายบริการสุขภาพ ในรูปแบบ ‘คลินิกหมอครอบครัว’ ใกล้บ้าน เริ่มเกิดขึ้นเพื่อให้ประชาชนได้รับบริการสุขภาพพื้นฐานที่จำเป็น รวมทั้งการรักษาพยาบาลและดูแลต่อเนื่องในผู้ป่วยโรคเรื้อรัง มีแพทย์ พยาบาล และบุคลากรสุขภาพประจำครอบครัวคอยให้คำปรึกษา บุคลากรต่างๆ ทำงานร่วมกันเป็นทีม ดูแลสุขภาพแบบองค์รวมทั้งรักษาพยาบาล ส่งเสริม ป้องกันโรค และการฟื้นฟู โดยกำหนดให้แพทย์ 1 คน รับผิดชอบประชาชน 10,000 คน และมีพยาบาล 1 คนต่อประชาชน 2,500 คน 

“การแบ่งความรับผิดชอบเป็นทีมเช่นนี้ เสมือนว่าประชาชนทุกครัวเรือนมีญาติเป็นแพทย์ เป็นพยาบาล เป็นบุคลากรสุขภาพที่พึ่งพาได้ ทำให้ประชาชนได้รับการบริการดูแลอย่างใกล้ชิด แล้วยังลดความแออัดของโรงพยาบาลอีกด้วย โครงการในลักษณะนี้อาจมีชื่อเรียกต่างๆ กัน เช่น คลินิกใกล้บ้านใกล้ใจ คลินิกชุมชนอบอุ่น ทีมหมอครอบครัว หรือคลินิกหมอครอบครัว”

สำหรับรูปแบบการทำงานของระบบสุขภาพในอนาคต ควรเป็นแบบ ทีมทักษะผสม (Skill Mixed) เช่น การตรวจรักษาโรคง่ายๆ พยาบาลเวชปฏิบัติทำได้เอง ช่วยลดจำนวนแพทย์ที่ต้องทำงานนี้ลง หรือในการสร้างเสริมสุขภาพ เป็นทักษะที่นักสาธารณสุขทำได้ดี ก็จะช่วยลดในส่วนนี้ของพยาบาลได้

ในส่วนของวิชาชีพพยาบาล ดร.กฤษดา ในฐานะอุปนายกสภาการพยาบาล มองว่า ปัจจุบันปัญหาการขาดแคลนพยาบาลเป็นผลจาก 3 สาเหตุ คือ

1.ไม่สามารถรักษาพยาบาลไว้ในระบบบริการสุขภาพได้ พยาบาลรุ่นใหม่ออกจากวิชาชีพเร็วขึ้น

2.การกระจายพยาบาลในแต่ละหน่วยบริการยังไม่ดีพอ มีการกระจุกตัว บางพื้นที่ขาดอัตรากำลังอย่างรุนแรง บางพื้นที่มีกำลังคนเหลือ

3.การใช้ประโยชน์จากพยาบาลไม่เต็มศักยภาพ มอบหมายงานอย่างอื่นให้พยาบาลทำ จนกระทบหน้าที่หลัก

“ความต้องการอัตรากำลังพยาบาลในอนาคตจะมากขึ้นตามสภาพสังคมที่มีผู้ป่วยเรื้อรังและผู้สูงอายุมากขึ้น ต้องการการดูแล (Care) และการดูแลระยะยาว ดูแลที่บ้าน มากกว่าการรักษา (Cure) ดังนั้น นอกจากเพิ่มการผลิตให้เพียงพอแล้ว ที่สำคัญคือต้องธำรงรักษาพยาบาลไว้ในระบบให้ได้ และต้องหามาตรการสนับสนุนให้พยาบาลที่ออกจากวิชาชีพไปแล้วหรือเกษียณอายุมีโอกาสเข้ามาเป็น พยาบาลประจำครอบครัว หรือดำเนินกิจการดูแลผู้สูงอายุ หรือ long term care ก็จะช่วยเพิ่มกำลังคนได้อีกส่วนหนึ่ง”

ดร.กฤษดา กล่าวว่า สำหรับการผลิตบุคลากรด้านสาธารณสุขนั้นจะต้องเป็นการผลิตเพื่อบทบาทใหม่รองรับแนวทางการส่งเสริมป้องกันโรค จากผู้รักษาเป็นผู้ให้ความรู้ที่ถูกต้องกับประชาชน เพื่อให้ปฏิบัติสุขภาพของตนเองได้ถูกต้อง