ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ข้อมูลศูนย์ประสานคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต 3 วัน พบประชาชนขอใช้สิทธิ์ UCEP แล้ว 235 ราย เข้าเกณฑ์เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต 113 ราย เลขาธิการ สพฉ.ย้ำให้ประชาชนจดจำกลุ่ม 6 อาการเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตไว้ให้ขึ้นใจและหากพบเห็นผู้ป่วยให้รีบโทรแจ้งสายด่วน 1669 เพื่อขอใช้สิทธิ์ UCEP ได้ทันที เชื่อระบบจะค่อยๆ พัฒนาให้ประชาชนได้รับการรักษาอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม

เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2560 ร.อ.นพ.อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน (สพฉ.) ระบุว่า จากเก็บรวบรวมสถิติข้อมูลการดำเนินการของศูนย์ ตั้งแต่วันที่ 1-3 เม.ย.ที่ผ่านมามีจำนวนผู้ป่วยที่เข้ามาในระบบ 235 ราย และเป็นผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์ นโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่ (Universal Coverage for Emergency Patients : UCEP) 113 ราย โดยเป็นผู้ป่วยจากสิทธิกองทุนประกันสุขภาพถ้วนหน้า 70 ราย ผู้ป่วยจากกองทุนสิทธิประกันสังคม 70 ราย ผู้ป่วยจากกองทุนสิทธิข้าราชการ 20 ราย สิทธิจากกองทุนอื่นๆ อีก 7 ราย และเป็นผู้ป่วยที่ไม่เข้าเกณฑ์ใดๆ อีก 122 ราย มีประชาชนโทรเข้ามาขอคำปรึกษาอีกกว่า 307 สาย  

ร.อ.นพ.อัจฉริยะ กล่าวว่า ผู้ที่จะใช้สิทธินี้ได้ต้องเป็นผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเอกชน ในพื้นที่ที่อยู่ใกล้และเป็นโรงพยาบาลเอกชนนอกคู่สัญญากับกองทุนที่ผู้ป่วยมีสิทธิ์ โดยเริ่มที่ 3 กองทุนก่อน คือ กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ, กองทุนประกันสังคม, กองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ผู้ที่จะใช้สิทธินี้ได้ต้องเป็นผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต ตามหลักเกณฑ์การคัดแยกผู้ป่วยฉุกเฉินที่คณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (กพฉ.) กำหนด และรายละเอียดเกณฑ์การคัดแยกผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตที่ สพฉ.กำหนดกรณีกลุ่มอาการฉุกเฉินวิกฤต คือ หมดสติ ไม่รู้สึกตัว ไม่หายใจ หายใจเร็ว หอบเหนื่อยรุนแรง หายใจติดขัดมีเสียงดัง ซึมลง เหงื่อแตก ตัวเย็น หรือมีอาการชักร่วม เจ็บหน้าอกเฉียบพลัน รุนแรง แขนขาอ่อนแรงครึ่งซีก พูดไม่ชัด แบบปัจจุบันทันด่วน หรือชักต่อเนื่องไม่หยุด หรือมีอาการอื่นร่วม ที่มีผลต่อการหายใจระบบการไหลเวียนโลหิตและระบบสมองที่อาจเป็นอันตรายต่อชีวิต ขอให้ประชาชนยึดหลักของกลุ่ม 6 อาการนี้ไว้สำหรบการคัดแยกผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต

เลขาธิกา รสพฉ. กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตามการทำงานของสายด่วน 1669 ในระบบปรกตินั้นก็ยังดำเนินต่อไป โดยประชาชนที่เจ็บป่วยฉุกเฉินก็สามารถโทรเข้ามาเพื่อขอใช้บริการสายด่วนของเราได้ ซึ่งเราก็จะมีนิยามในการคัดแยกอาการเจ็บป่วยฉุกเฉิน 25 กลุ่มอาการเหมือนเดิมอาทิ

1.ปวดท้องบริเวณหลัง เชิงกราน และขาหนีบ

2.แพ้ยา แพ้อาหาร แพ้สัตว์ต่อย แอนาฟิแล็กซิส ปฏิกิริยาภูมิแพ้

3.สัตว์กัด

4.เลือดออกโดยไม่ได้มีสาเหตุมาจากการบาดเจ็บ

5.หายใจลำบาก หายใจติดขัด

6.หัวใจหยุดเต้น

7.เจ็บแน่นทรวงอก หัวใจ มีปัญหาทางด้านหัวใจ

8.สำลัก อุดกั้นทางเดินหายใจ

9.เบาหวาน

10.ภาวะฉุกเฉินเหตุสิ่งแวดล้อม

11.ปวดศีรษะ ภาวะผิดปกทางตา หู คอ จมูก

12.คลุ้มคลั่ง ภาวะทางจิตประสาท อารมณ์

13.พิษ รับยาเกินขนาด

14.มีครรภ์ คลอด นรีเวช

15.ชัก มีสัญญาณบอกเหตุการชัก

16.ป่วย อ่อนเพลีย อัมพาตเรื้อรัง ไม่ทราบสาเหตุจำเพาะ

17.อัมพาต กล้ามเนื้ออ่อนแรง สูญเสียความรู้สึก ยืนหรือเดินไม่ได้เฉียบพลัน

18.ไม่รู้สติ ไม่ตอบสนอง หมดสติชั่ววูบ

19.เด็ก กุมารเวช

20.ถูกทำร้าย

21.ไหม้ ลวก เหตุความร้อน สารเคมี ไฟฟ้าช็อต

22.ตกน้ำ จมน้ำ บาดเจ็บทางน้ำ

23.พลัดตกหกล้ม อุบัติเหตุ เจ็บปวด

24.อุบัติเหตุยานยนต์

และ 25.อื่นๆ

ซึ่งหากประชาชนท่านใดที่เจ็บป่วยฉุกเฉินระบบก็จะดำเนินการให้ผู้ป่วยทุกท่านได้รับการรักษาที่ทั่วถึงและเท่าเทียมกันทุกคน

“อยากให้ประชาชนจำ 6 อาการเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตไว้ให้แม่น และหากพบเห็นผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต  ตาม 6 อาการเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต ให้รีบโทรสายด่วน 1669 เพื่อเข้าให้การช่วยเหลือนำส่งโรงพยาบาลที่เหมาะสมทันที  ทั้งนี้หากประชาชนท่านใดยังมีความไม่เข้าใจในการดำเนินการตามนโนบาย UCEP นี้ก็สามารถโทรเข้ามาสอบถามได้ที่เบอร์ 02- 872- 1669 หรืออีเมล์ ucepservices@niems.go.th” ร.อ.นพ.อัจฉริยะ กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

6 อาการฉุกเฉินวิกฤติที่ส่งผลต่อชีวิต