ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เดอะการ์เดียนรายงานว่า ระบบบริการสาธารณสุขแห่งชาติ (NHS) ของอังกฤษจ่อหยุดอุดหนุนผลิตภัณฑ์เสริมอาหารโอเมกา 3 อาหารปลอดกลูเต็น วัคซีนสำหรับนักท่องเที่ยว ยาบรรเทาริดสีดวงทวาร รวมถึงยาจำหน่ายหน้าเคาเตอร์บางกลุ่มเพื่อแก้ปัญหาความไร้ประสิทธิภาพและฟุ่มเฟือยในระบบบริการสาธารณสุขและให้มีงบประมาณเพียงพอสำหรับอุดหนุนยาที่พัฒนาขึ้นใหม่

อาหารปลอดกลูเต็นจะอยู่ในรายการเวชภัณฑ์ไร้ประสิทธิภาพ ภาพ: มาร์ติน อาร์เกิลส์ สำหรับการ์เดียน

เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2560 เดอะการ์เดียนรายงานว่า ไซมอน สตีเวนส์ ประธานบริหาร HNS England เปิดเผยกับสื่อท้องถิ่นถึงมาตรการประหยัดรายจ่ายเพื่อนำไปสนับสนุนการรักษาที่เพิ่งพัฒนาขึ้นอันจะเป็นประโยชน์มากกว่า  

โดย NHS ได้มอบนโยบายให้แพทย์ทั่วไปงดจ่ายยาที่ไม่มีความจำเป็นเพื่อแก้ปัญหาความไร้ประสิทธิภาพและฟุ่มเฟือยในระบบบริการสาธารณสุข และว่า การอุดหนุนอาหารปลอดกลูเต็นและยาที่ไม่มีความจำเป็นทำให้ NHS ต้องสูญเงินเป็นจำนวนมหาศาล ดังนั้นจึงจำเป็นที่ NHS จะต้องหันมาประหยัดรายจ่ายที่เคยเสียไปอย่างพร่ำเพรื่อเพื่อให้มีงบประมาณเพียงพอสำหรับอุดหนุนยาที่พัฒนาขึ้นใหม่

ในเดือนหน้า HNS England จะเริ่มทบทวนเวชภัณฑ์ 10 รายการซึ่งระบุว่า “ไร้ประสิทธิภาพ ไม่มีความจำเป็นสำหรับบริการ NHS หรือเป็นอันตราย” ซึ่งมีตัวเลขต้นทุนค่าบริการราวปีละ 128 ล้านปอนด์ (ราว 5473.5 ล้านบาท)    

เวชภัณฑ์ในรายการยังรวมถึงกรดไขมันโอเมกา 3 และน้ำมันปลา, ยาบรรเทาปวด fentanyl, พลาสเตอร์บรรเทาอาการปวด lidocaine, ยา doxazosin MR สำหรับรักษาความดันโลหิตสูง, ยา tadalafil สำหรับรักษาโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศ, อาหารปลอดกลูเต็น และวัคซีนสำหรับนักท่องเที่ยว

การทบทวนรายการเวชภัณฑ์ไร้ประสิทธิภาพเป็นผลจากเสียงเรียกร้องของตัวแทนกรรมาธิการแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไปซึ่งรับผิดชอบงบประมาณสาธารณสุขท้องถิ่นที่ขอให้ NHS England ตรวจสอบความเหมาะสมของการอุดหนุนเวชภัณฑ์ทั้ง 10 รายการท่ามกลางภาวะการเงินตึงเครียดที่สุดนับตั้งแต่ NHS ดำเนินการมา 69 ปี คาดกันว่ากระทรวงสาธารณสุขของอังกฤษจะเผยแพร่แนวปฏิบัติใหม่สำหรับแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไปเพื่อให้งดสั่งจ่ายเวชภัณฑ์ดังกล่าว

มีแนวโน้มว่ารายการเวชภัณฑ์ไร้ประสิทธิภาพจะขยายครอบคลุมไปถึงยาทั่วไปอีกหลายตัว ดังที่ NHS England ประกาศว่า “ในท่ามกลางความท้าทายทางการเงินที่รุมเร้าอยู่ในขณะนี้ จำเป็นที่ NHS จะต้องตรวจสอบยาอื่นที่มีประสิทธิภาพทางคลินิกต่อ ไม่มีความจำเป็นเร่งด่วน หรือเป็นยาที่มีจำหน่ายหน้าเคาเตอร์ในราคาถูก เช่น ยาบรรเทาอาการไอและไข้หวัด ยาต้านฮิสตามีน ยาบรรเทาอาการท้องอืดและแสบร้อนหน้าอก รวมถึงครีมกันแดด โดยจะจัดทำแนวทางเวชปฏิบัติสำหรับกรรมาธิการแพทย์ทั่วไปเพื่อเป็นแนวทางสำหรับการจ่ายยาในบริการของ NHS”

อีกด้านหนึ่งแพทย์ส่วนหน้าเผยว่า แนวคิดดังกล่าวจะช่วยบริการรายจ่ายของ NHS แต่กระนั้นก็ควรมีข้อยกเว้นสำหรับผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง โดย ศ.เฮเลน สโตคส์-แลมพาร์ด ประธานราชวิทยาลัยแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไปชี้ว่า “เราไม่ได้ยอมรับข้อเสนอดังกล่าวโดยดุษฎี เพราะมาตรการแบบเหวี่ยงแหในลักษณะนี้อาจทำให้เกิดปัญหาเรื่องความยุติธรรมตามมา”  

พร้อมกันนี้ได้เปิดเผยผ่านสถานีวิทยุบีบีซีของอังกฤษว่า “ปัญหาก็คือ เมื่อผู้ป่วยไม่ได้จ่ายค่ายาที่สั่งจ่าย ค่าใช้จ่ายส่วนนั้นก็จะกลายเป็นภาระของ NHS ขณะที่แพทย์ทั่วไปเองก็ไม่ต้องการไปรับภาระ จึงถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องพิจารณาความเหมาะสมในการสั่งจ่ายยาด้วยความรอบคอบ แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ที่มีภาวะเสี่ยงด้านสุขภาพ”

พญ.อะแมนดา ดอยล์ ประธานร่วมของ NHS Clinical Commissioners เปิดเผยว่า “NHS อยู่ในภาวะการเงินที่ค่อนข้างตึงเครียด และเรากำลังพยายามจัดลำดับความสำคัญของรายจ่าย ที่ผ่านมาเราสูญเงินหลายร้อยล้านปอนด์ไปกับสิ่งที่ไม่จำเป็น ซึ่งเรากำลังพยายามหาทางลดรายจ่ายดังกล่าวเพื่อดึงงบประมาณกลับมาใช้กับสิ่งที่จำเป็นมากกว่า”

ด้านแกนนำพรรค Liberal Democrats ฝ่ายค้านตั้งแง่ว่า “NHS ไม่ควรตัดความครอบคลุมโดยที่ยังไม่ได้ผ่านการหารือร่วมกันถึงแนวทางปรับปรุงระบบบริการสุขภาพให้ทันสมัย มีศักยภาพ และมีประสิทธิภาพ การที่จะต้องเลือกระหว่างเก็บภาษีเพิ่มขึ้นหรือลดขอบเขตบริการของ NHS ก็ควรที่ประชาชนจะต้องร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการตัดสินใจ และที่สำคัญมาตรการนี้ไม่อาจนับว่าเป็นการแก้ไขตรงจุด เพราะสามารถประหยัดงบประมาณได้ราว 1,000 ล้านปอนด์ (ราว 42,917 ล้านบาท) ในระยะ 2 ปี ขณะที่ประเมินกว่าตัวเลขขาดดุลงบประมาณจะพุ่งไปอีกสิบเท่าล้านปอนด์ภายในอีก 3 ปีข้างหน้า”

ด้านคณะผู้บริหาร NHS คาดหวังว่ามาตรการตัดเวชภัณฑ์ไม่จำเป็น จะช่วยประหยัดรายจ่ายได้ถึงปีละ 400 ล้านปอนด์ (ราว 17,166 ล้านบาท) ล่าสุดโรงพยาบาลในสังกัด NHS ของอังกฤษมีตัวเลขขาดทุนอยู่ที่ 2,450 ล้านปอนด์ (ราว 105,147 ล้านบาท) ซึ่งในปีงบประมาณนี้ก็คาดว่างบประมาณจะติดตัวแดงอีกร่วม1,000 ล้านปอนด์ (ราว 42,917 ล้านบาท) ทั้งที่มีเสียงเตือนให้แก้ไขปัญหางบประมาณมาอย่างต่อเนื่อง

ด้านโฆษก NHS แถลงว่า “แนวทางเวชปฏิบัติฉบับใหม่จะช่วยให้แพทย์ทั่วไปประเมินยาที่ไม่จำเป็น และจะช่วยอำนวยความสะดวกในการสั่งจ่ายยาและเบิกจ่ายค่ารักษา แนวโน้มที่สูงขึ้นของอัตราการสั่งจ่ายยาที่สามารถซื้อหน้าเคาเตอร์ในราคาถูกสำหรับโรคที่หายเองได้หรือไม่ร้ายแรง สะท้อนให้เห็นความจำเป็นที่บุคคลากรทางการแพทย์ของ NHS จะต้องปรึกษาหารือกับผู้ป่วยอย่างใกล้ชิดเพื่อที่จะสามารถดูแลผู้ป่วยด้วยทรัพยากรที่ดีที่สุดและช่วยยกระดับผลลัพธ์การรักษา”

มาตรการประหยัดรายจ่ายของ NHS ถือเป็นบทโหมโรงของอีกหลายมาตรการรัดเข็ดขัดที่คาดว่าจะทยอยออกมาโดยมีเป้าหมายเพื่อพลิกโฉมการให้บริการสุขภาพของ NHS ภายในปี 2563 เพื่อที่จะให้บริการได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นโดยที่รักษาเสถียรภาพทางการเงินให้ยั่งยืนในระยะยาว โดยแหล่งข่าวเผยว่า แผนปฏิรูปการให้บริการยังรวมถึงการส่งเสริมบริการดูแลรักษาที่บ้านและสนับสนุนให้ประชาชนมีสุขภาพแข็งแรงเพื่อหลีกเลี่ยงการรับเข้ารักษาเป็นผู้ป่วยใน

อย่างไรก็ดีแผนปฏิรูปนี้ได้รับทั้งเสียงสนับสนุนและต่อต้าน เนื่องจากทำให้โรงพยาบาลหลายสิบแห่งต้องระงับบริการที่เป็นแหล่งรายได้ เช่น บริการรถพยาบาลและห้องฉุกเฉิน รวมถึงหน่วยฝากครรภ์

ทั้งนี้ รายการเวชภัณฑ์ในบัญชีทบทวนประกอบด้วย

ยา liothyronine ซึ่งใช้รักษาภาวะไทรอยด์ทำงานน้อย 

อาหารปลอดกลูเต็น

พลาสเตอร์ lidocaine plasters สำหรับบรรเทาอาการปวดประสาท 

ยา tadalafil สำหรับรักษาภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ 

ยา fentanyl สำหรับผู้ป่วยวิกฤตและผู้ป่วยมะเร็ง 

ยา co-proxamol สำหรับบรรเทาปวด

วัคซีนสำหรับนักท่องเที่ยว

ยา doxazosin สำหรับรักษาความดันโลหิตสูง 

ยาในรูปครีมและขี้ผึ้ง 

กรดไขมันโอเมกา 3 และน้ำมันปลา   

โดย Clinical Commissioning Groups เสนอให้ทบทวนเวชภัณฑ์เพิ่มเติมเพื่อประหยัดรายจ่าย ดังนี้

ยาบรรเทาไข้ละอองฟาง

ยาแก้ท้องอืด/อาการแสบร้อนหน้าอก

ครีมกันแดด

ยาบรรเทาหวัดและอาการไอ

เรียบเรียงจาก : GPs to stop prescribing omega-3 oils, gluten-free food and cough medicine (The Guardian)