ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ความเห็นของ นพ.ธีระ วรธนารัตน์ กรณีปัญหากำลังคนสุขภาพ ซึ่ง นพ.ธีระระบุว่า “ในสถานการณ์ที่สังคมไทยเผชิญอยู่ในปัจจุบันนั้น เกิดสั่งสมมานานเพราะลุ่มหลงกับการประกันคุณภาพแบบตะวันตก เพิ่มและหากำไรให้มากที่สุด ลดต้นทุนให้น้อยที่สุด รีดผลิตภาพจากคนในระบบให้มากเท่าที่จะมากได้ จึงเห็นแต่นโยบายลดตำแหน่ง สร้างกฎระเบียบที่เพิ่มภาระให้คนทำงาน ถดถอยคุณภาพชีวิต จนคนไม่อยากมาเรียน เรียนแล้วก็ไม่อยากทำงาน ทำงานก็ไม่อยากอยู่ในระบบ”

ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์

เห็นทาง สช.จัดเสวนาเรื่องนี้ไปสดๆ ร้อนๆ มีกูรูพี่ๆ หลายคนนำเสนอสถานการณ์วิกฤติ ทั้งในรูปแบบที่ว่า อีกไม่นานหมอหรือวิชาชีพสุขภาพอื่นจะล้นตลาด แต่ที่น่าเศร้าคือ รพ.รัฐก็ยังคงประสบปัญหาบุคลากรไม่พอที่จะทำงานดูแลประชาชนอยู่ดี ความคิดเห็นของผมต่อเรื่องนี้มีดังนี้ครับ

"...ผมคิดว่าสถานการณ์ปัจจุบันมาไกลเกินกว่ามาตรการเดิมๆ ที่มุ่งจัดการห่วงโซ่อุปทานโดยตรงจะเยียวยาได้ เพราะคนเปลี่ยน วิถีชีวิตในสังคมเปลี่ยน คนมาเรียนน้อยลง เพราะยาก นาน รายได้ไม่เยอะ ทำงานเสี่ยงและลำบาก คุณภาพชีวิตไม่ดี ฟ้องร้องมากขึ้น

ระบบการผลิตก็มีปัญหา คุณภาพไม่คงที่ เพราะองค์ประกอบในระบบไม่สามารถทำให้คนทำงานอย่างดีและมีความสุขได้

กระบวนการในระบบประกันคุณภาพก็มีแต่เพิ่มภาระและไม่สามารถทำให้เห็นผลที่ดีขึ้นจากการทำตามเกณฑ์และระเบียบ

ระบบราชการมีตำแหน่งน้อยลงเรื่อยๆ ความมั่นคงและสวัสดิการก็ดูจะถดถอย

หากดูทั้งหมดแล้ว มาตรการที่เคยทำและวางแผนจะทำ หากมุ่งจัดการปัจจัยข้างต้น ก็อาจตั้งความหวังได้น้อย

ความเห็นส่วนตัว ผมคิดว่าที่น่าทำที่สุดคือ การทุ่มสรรพกำลังไปสร้างตำแหน่งงาน เนื้องาน และระบบงานใหม่ในสังคม เริ่ม tailored-made ตามความต้องการของนายจ้าง ไม่ว่าจะรัฐหรือเอกชน โดยทำแผนการผลิตที่ต่อยอดจากหลักสูตรเดิม ทั้งในแบบเรียนเสริมในหลักสูตรเก่า และสร้างหรือปรับหลักสูตรใหม่ในสถาบันที่มีความสามารถ/ศักยภาพและน่าเชื่อถือ ถ้าสร้างงานที่ดีได้ คนและระบบผลิตจะพัฒนาตาม..."

เรื่องนี้สำคัญมากจริงๆ ระบบสุขภาพนั้นเป็นระบบที่มีชีวิต คนเจ็บไข้ได้ป่วยนั้นต้องได้รับการดูแลรักษาพยาบาลจากบุคลากรสุขภาพที่ทุ่มเทกำลังกาย กำลังใจ สติปัญญา และจิตใจที่มีความเมตตากรุณา ต่อให้พัฒนาหุ่นยนต์หรือเครื่องจักรให้เจ๋งแค่ไหน ตอนป่วยหนัก รับประกันได้ว่าแม้แต่พวกสร้างหุ่นยนต์หรือนักบริหารนโยบายที่สนับสนุนทุ่มทุนสร้างหุ่นยนต์และเทคโนโลยี ก็จะร้องขอ ขอร้อง ไหว้วานหา "คนจริงๆ" มาดูแลตัวเองและครอบครัว

ปัญหากำลังคนสุขภาพในสถานการณ์ที่สังคมไทยเผชิญอยู่ในปัจจุบันนั้น เกิดสั่งสมมานานเพราะลุ่มหลงกับการประกันคุณภาพแบบตะวันตก เพิ่มและหากำไรให้มากที่สุด ลดต้นทุนให้น้อยที่สุด รีดผลิตภาพจากคนในระบบให้มากเท่าที่จะมากได้ จึงเห็นแต่นโยบายลดตำแหน่ง สร้างกฎระเบียบที่เพิ่มภาระให้คนทำงาน ถดถอยคุณภาพชีวิต จนคนไม่อยากมาเรียน เรียนแล้วก็ไม่อยากทำงาน ทำงานก็ไม่อยากอยู่ในระบบ

นี่จึงเรียกได้ว่า ปัญหานี้มาไกลเกินจะเยียวยาจนหายขาดได้แล้ว สิ่งที่เราควรทำคือ

1. สร้าง "งานใหม่" และ "ระบบงานใหม่" ที่ดี

2. เลิกลุ่มหลงกับการพัฒนาระบบสุขภาพแบบโรงงาน

3. ลด ละ เลิกการนำนักวิเคราะห์โรงงาน แบบ industrial engineering หรือ operation research มาปู้ยี่ปู้ยำระบบสุขภาพ หากคิดจะนำเข้ามา ต้องตระหนักเสมอว่า ตัวเลขที่คำนวณนั้น ไม่สามารถสะท้อนสถานการณ์จริงของคนทำงานและผู้ป่วยได้เลย การเจ็บป่วยโรคเดียวกัน ระยะเดียวกัน แต่ต่างคนกัน ก็ต้องการการดูแลที่อาจต่างกันโดยสิ้นเชิง... "ตัวเลขจะทำให้ตาบอด"

4. เลิกสร้างค่านิยมในสังคม ด้วยการสร้างแบรนด์ที่ผูกติดกับมาตรฐานและคุณภาพ เพราะจะทำให้เกิดความคาดหวังที่เกินจริงจากประชาชน และส่งผลทางลบต่อคนทำงาน อย่าเอาแต่สร้างภาพนโยบายใบรับรองคุณภาพสถานพยาบาล ติดดาวสถานีอนามัย/รพ.สต. หากจะพัฒนาคุณภาพมาตรฐาน ทำให้อยู่ในสายเลือด ไม่ต้องมาตีตราแบบไร้สาระ เพื่อหวังให้ผู้บริหารได้หน้าเดินสายออกสื่อแบบที่เห็นทุกวัน ท่ามกลางน้ำตาคนทำงาน ที่ค้างจ่ายเงินเดือน และการขาดทุนบักโกรกของ รพ. ของบกลางจากรัฐบาลมา 5,000 ล้านเพื่อมาแก้ไขตัวเลขขาดทุนของ รพ.รัฐ แต่ไปให้ข่าวว่า รพ.ขาดทุนแค่ 5 แห่ง... โปร่งใสจริงไหม...ลองคิดดู?

ผู้เขียน : ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ สำนักงานวิจัยและพัฒนาเพื่อการแปรงานวิจัยสุขภาพสู่การปฏิบัติ ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย