ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปท.ย้ำวาระปฏิรูปเร่งด่วนปี 2560 ด้านสาธารณสุขคือการออกกฎหมายจัดตั้งคณะกรรมการนโยบายสุขภาพแห่งชาติ และจัดตั้งสำนักงานมาตรฐานและจัดการข้อมูลสารสนเทศและระบบบริการสุขภาพแห่งชาติ (สมสส.) รวมทั้งคลอดชุดสิทธิประโยชน์หลักด้านสุขภาพให้แก่ประชาชน

รศ.พญ.พรพันธุ์ บุณยรัตพันธุ์

รศ.พญ.พรพันธุ์ บุณยรัตพันธุ์ ประธานอนุกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) กล่าวบรรยายพิเศษในหัวข้อ “ข้อเสนอแนะในการพัฒนาสู่สังคมไทยรอบรู้สุขภาพ” ในการประชุม PP Excellence Forum 2017 วันที่ 31 มี.ค.2560 โดยระบุว่า ขณะนี้ สปท.มีประเด็นที่ต้องขับเคลื่อนทั้งหมด 136 เรื่อง โดยผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการประสานงานร่วม 3 ฝ่าย (วิป 3 ฝ่าย) ซึ่งประกอบด้วย คณะรัฐมนตรี (ครม.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และ สปท.ไปแล้วประมาณร้อยกว่าเรื่อง และยังมีขั้นตอนที่ต้องดำเนินการต่อเนื่องอีก ทั้งการเสนอให้ ครม.รับทราบ ต้องส่งเรื่องให้คณะที่ปรึกษาของรองนายกรัฐมนตรีทั้ง 6 คณะและกระทรวงที่เกี่ยวข้องได้ทราบแล้วจึงเข้าสู่ขั้นตอนของคณะกรรมการติดตามการขับเคลื่อนการปฏิรูปต่อไป

อย่างไรก็ดี ในปี 2560 นี้ สปส.มีวาระปฏิรูปเร่งด่วนทั้งหมด 27 ด้านที่ต้องขับเคลื่อนให้เกิดผลเป็นรูปธรรม เช่น มีการออกกฎหมาย ออกเป็นระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นต้น โดยในส่วนของระบบสาธารณสุขนั้น มีวาระที่เกี่ยวกับระบบบริหารจัดการด้านสุขภาพ คือการขับเคลื่อนให้เกิดการออกพระราชบัญญัติว่าด้วยการจัดตั้งคณะกรรมการนโยบายสุขภาพแห่งชาติ การออกพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสำนักงานมาตรฐานและจัดการข้อมูลสารสนเทศและระบบบริการสุขภาพแห่งชาติ (สมสส.) และการเชื่อมโยงทั้ง 2 ส่วนนี้ไปสู่การกำหนดสิทธิประโยชน์หลักด้านสุขภาพแก่ประชาชน

รศ.พญ.พรพันธุ์ กล่าวว่า การจัดตั้งคณะกรรมการนโยบายสุขภาพแห่งชาตินั้น ก็เพื่อบูรณาการนโยบายสุขภาพไปในทิศทางเดียวกันอย่างมีประสิทธิภาพ โดยให้ทุกฝ่ายมาร่วมพิจารณาปัญหาสำคัญด้านสุขภาพของประเทศและร่วมกันแก้ไข ทั้งในระดับประเทศ ลงไปถึงระดับพื้นที่ซึ่งก็มีข้อเสนอแนะให้มีคณะกรรมการสุขภาพเขต คณะกรรมการสุขภาพจังหวัด และคณะกรรมการสุขภาพในระดับอำเภอ เพื่อให้ทุกฝ่ายที่เข้าข้องเข้ามาร่วมมือกันแก้ไขปัญหาสุขภาพในพื้นที่ด้วย

ทั้งนี้ หน้าที่ของคณะกรรมการนโยบายสุขภาพแห่งชาติอีกประการคือการกำหนดสิทธิประโยชน์หลักด้านสุขภาพของประชาชน เพราะฉะนั้นหากมีการออกกฎหมายจัดตั้งคณะกรรมการนโยบายสุขภาพแห่งชาติ ก็สามารถที่จะมีความชัดเจนด้านสิทธิประโยชน์หลักด้านสุขภาพของประชาชนด้วย

ขณะที่ในส่วนของการจัดตั้ง สมสส.นั้น ก็เพื่อทำหน้าที่เป็นองค์กรเชื่อมโยงข้อมูลการเจ็บป่วยและค่ารักษาพยาบาลของทุกกองทุนสุขภาพเข้าไว้ด้วยกัน ซึ่งจะทำให้มีข้อมูลที่อัพเดทในเรื่องของการเจ็บป่วยและค่าใช้จ่ายในระดับประเทศ

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของงานด้านการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคนั้น เป็นหนึ่งในเรื่องที่ สปท.ให้ความสำคัญ โดยเฉพาะเรื่องความรอบรู้ทางสุขภาพ (Health Literacy) ซึ่ง สปท.ต้องการให้ประชาชนมีความรอบรู้จนนำไปสู่การคิด วิเคราะห์ และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้เอง อย่างไรก็ดี เรื่องนี้ สปท.ไม่ได้หยิบยกขึ้นมาเป็นวาระปฏิรูปเร่งด่วน เนื่องจากเห็นว่ากระทรวงสาธารณสุขดำเนินการได้ดีแล้ว

“การให้ความสำคัญในเรื่องข้อมูลข่าวสารและความรอบรู้ด้านสุขภาพแก่ประชาชนนั้น เป็นสิ่งที่ถูกต้องและควรดำเนินงานต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งควรมีการบูรณาการในระดับประเทศ คือการจัดตั้งคณะกรรมการเสริมสร้างความรอบรู้และข้อมูลข่าวสารด้านสุขภาพในระดับชาติ โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน เพื่อบูรณาการการดำเนินการให้ทั้งโรงเรียน โรงพยาบาลและชุมชน เป็นชุมชนแห่งความรอบรู้ทางด้านสุขภาพ อันนี้ก็คิดว่าคงจะเป็นประโยชน์ในการดำเนินการต่อไป” รศ.พญ.พรพันธุ์ กล่าว