ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เผยช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ช่วงเทศกาลสงกรานต์ 3 วัน (13-15 เมษายน) พบว่ามีเด็กจมน้ำเสียชีวิต 176 คน เฉลี่ยวันละถึง 6 คน มากกว่าช่วงวันปกติถึง 2 เท่า ข้อมูลล่าสุดปี 2559 วันที่ 14 เมษายน วันเดียวมีเด็กจมน้ำเสียชีวิตสูงที่สุดถึง 8 คน  แนะสถานที่ท่องเที่ยวทางน้ำ ต้องกำหนดให้มีพื้นที่เล่นน้ำที่ปลอดภัย กั้นที่เล่นน้ำให้ชัดเจนและทำป้ายแจ้งเตือน  ไม่ให้เด็กยืนใกล้ขอบบ่อหรือสระ เพื่อตักน้ำเล่นสงกรานต์เพราะอาจลื่นและพลัดตกลงน้ำได้  

นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในเดือนเมษายนซึ่งตรงกับช่วงที่อากาศร้อนที่สุดพบว่ามีเด็กจมน้ำเสียชีวิตสูงที่สุดเช่นกัน เฉลี่ยตลอดทั้งเดือน 126 คน โดยเฉพาะช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่พบเด็กจมน้ำสูงสุด จากข้อมูลช่วงเทศกาลสงกรานต์ 3 วัน (13-15 เมษายน) ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (ปี 2550-2559) พบว่ามีเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี จมน้ำเสียชีวิต 176 คน เฉลี่ยวันละถึง 6 คน มากกว่าช่วงวันปกติถึง 2 เท่า โดยในวันที่ 14 เมษายน พบว่ามีการเกิดเหตุจมน้ำเสียชีวิตสูงที่สุด เฉลี่ย 7 คน เฉพาะในปี 2559 วันที่ 14 เมษายน วันเดียวมีเด็กจมน้ำเสียชีวิตสูงที่สุดถึง 8 คน

จากข้อมูลในปี 2559 พบว่าช่วงสงกรานต์เพียง 3 วันดังกล่าว มีเด็กจมน้ำเสียชีวิต 13 คน เป็นกลุ่มเด็กอายุ 5-13 ปี 12 คน เป็นเพศชายถึง 11 คน แหล่งน้ำที่เกิดเหตุจะเป็นบริเวณน้ำตก อ่างเก็บน้ำ คลอง มากที่สุด ซึ่งครอบครัวและเด็กๆ มักจะชวนกันไปเที่ยวช่วงเทศกาลสงกรานต์ จากเหตุการณ์ในช่วงสงกรานต์ปี 2559 ที่ผ่านมา ได้เกิดเหตุจมน้ำเสียชีวิตทั้งครอบครัว 5 คน ในจำนวนนี้เป็นเด็กถึง 2 คน เนื่องจากครอบครัวเดินทางมาเยี่ยมญาติในช่วงสงกรานต์ และนั่งเรือออกไปหาปลาบริเวณลำน้ำ แต่เรือรับน้ำหนักไม่ไหวจึงเกิดเรือล่ม เด็กว่ายน้ำไม่เป็นและไม่มีอุปกรณ์ช่วยชีวิต ทำให้กอดกันจมน้ำเสียชีวิตหมู่ และมี 2 เหตุการณ์เกิดเนื่องจากการขนทรายเข้าวัด และชวนกันลงไปตักน้ำรดกองทรายมีการสะดุดและลื่นพลัดตกจมน้ำ นอกนั้น จะเป็นการชวนกันไปเล่นน้ำสงกรานต์บริเวณอ่างเก็บน้ำ น้ำตก ลำห้วย และพากันจมน้ำเสียชีวิต

นพ.เจษฎา กล่าวแนะนำประชาชนในการเล่นน้ำให้ปลอดภัยช่วงสงกรานต์ ดังนี้ 

1.ควรมีปกรณ์ลอยน้ำได้ติดตัวไปด้วยเมื่อเดินทางหรือทำกิจกรรมทางน้ำ (1 คนต่อ 1 ชิ้น) เพื่อช่วยพยุงตัว ซึ่งเป็นวัสดุที่หาง่าย เช่น ถังแกลลอนผูกเชือกและสะพายแล่ง เป้ผ้าบรรจุขวดน้ำพลาสติกเปล่าปิดฝา 

2.สถานที่ท่องเที่ยวทางน้ำ ต้องกำหนดให้มีพื้นที่เล่นน้ำที่ปลอดภัย กั้นบริเวณที่เล่นน้ำได้ให้ชัดเจน ทำป้ายแจ้งเตือน ต้องจัดให้มีเสื้อชูชีพอย่างเพียงพอ และให้ผู้รับบริการสวมใส่ทุกครั้ง เมื่อต้องโดยสารเรือหรือทำกิจกรรมทางน้ำ ซึ่งต้องจัดให้มีเจ้าหน้าที่ดูแลความปลอดภัยบริเวณที่กำหนดอย่างเพียงพอ 

3.ควรแนะนำไม่ให้เด็กยืนใกล้บริเวณขอบบ่อหรือสระ เพื่อตักน้ำเล่นสงกรานต์เพราะอาจลื่นและพลัดตกลงน้ำได้ 

4.ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลเด็ก ไม่ควรปล่อยให้เด็กไปเล่นน้ำกันเองตามลำพังแม้จะเป็นแหล่งน้ำที่ใกล้บ้านหรือแหล่งน้ำที่คุ้นเคย 

5.ชุมชนจัดหาอุปกรณ์การช่วยเหลือคนตกน้ำ จมน้ำ ที่หาได้ง่ายไว้บริเวณแหล่งน้ำเสี่ยง และคอยตักเตือนเมื่อเห็นเด็กเล่นน้ำตามลำพัง

อีกมาตรการสำคัญที่ต้องยึดไว้ใช้ยามฉุกเฉิน คือ “ตะโกน โยน ยื่น” ได้แก่ 

1.ตะโกนเรียกให้ผู้ใหญ่มาช่วยและโทรแจ้งทีมแพทย์กู้ชีพ 1669  

2.โยนอุปกรณ์ใกล้ตัวเพื่อช่วยคนตกน้ำ เช่น เชือก ถังแกลลอนพลาสติกเปล่า หรือวัสดุที่ลอยน้ำได้โดยโยนครั้งละหลายๆ ชิ้น 

3.ยื่นอุปกรณ์ที่อยู่ใกล้ตัวให้คนตกน้ำจับ เช่น ไม้ เสื้อ ให้คนตกน้ำจับและดึงขึ้นมาจากน้ำ 

ประชาชนสามารถสอบถามได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422