ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นักวิชาการชี้โครงสร้างเศรษฐกิจ-วัฒนธรรม ปัจจัยหลักกระตุ้นการบริโภคน้ำตาล กระตุกนักรณรงค์สุขภาพต่อสู้ในพื้นที่ทางวัฒนธรรม สร้างความหมายการกินแบบใหม่แทนที่ความหมายแบบเดิม

ดร.ชาติชาย มุกสง อาจารย์ประจำคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ บรรยายในหัวข้อ “ประวัติศาสตร์น้ำตาล การบริโภคอาหารรสหวาน และการส่งเสริมสุขภาพเพื่อป้องกันโรคเบาหวานในสังคมไทย” ในการประชุมเชิงปฏิบัติการ “ทบทวนสถานะองค์ความรู้มิติสังคมวัฒนธรรมกับความเสี่ยงสุขภาพ : กลุ่มโรค NCDs การพนัน ภัยพิบัติ” วันที่ 3 เม.ย.2560 โดยชี้ให้เห็นว่า การบริโภคน้ำตาล/อาหารรสหวานในปัจจุบันไม่ได้เป็นการเลือกบริโภคด้วยเจตจำนงเสรี แต่มีโครงสร้างที่กำหนดพฤติกรรมการบริโภคอยู่ใน 3 ส่วนใหญ่ๆ ประกอบด้วย

1.โครงสร้างทางเศรษฐกิจของอุตสาหกรรมน้ำตาล : ไทยมีนโยบายการใช้ระบบโควตาซึ่งประเด็นสำคัญคือมีการอุดหนุนอุตสาหกรรมอาหารในประเทศด้วยการกันน้ำตาลดิบส่วนหนึ่งไว้ขายให้โรงงานในราคาถูก ทำให้มีการเปลี่ยนรูปการบริโภคน้ำตาลจากทางตรงเป็นทางอ้อมผ่านอาหารและเครื่องดื่มที่ผลิตจากระบบโรงงาน และเป็นจุดที่ทำให้ดูแลสุขภาพได้ยากที่สุดเพราะในเครื่องดื่มและอาหารต่างๆ ล้วนส่วนผสมของน้ำตาลทั้งสิ้น

2.โครงสร้างทางการเมือง นโยบายสาธารณสุข/โภชนาการ ที่กำหนดวิถีการกินของคนไทย : นโยบายโภชนาการสมัยใหม่เริ่มเป็นที่แพร่หลายในสังคมไทยตั้งแต่ปี 2480 จากเดิมคนไทยทานข้าวเป็นหลัก ทานกับข้าวเพียงเพื่อช่วยให้ทานข้าวได้คล่องคอ เปลี่ยนเป็นแนวคิดการรณรงค์ให้กินอาหารให้มากขึ้น กินกับข้าวให้มากขึ้น เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารที่ครบถ้วน มาถึงปี 2500 เริ่มเผยแพร่แนวคิดเรื่องอาหารหลัก 5 หมู่ในชนบท แต่ในทางกลับกัน ในยุคปัจจุบันกลับต้องรณรงค์ให้ลดการบริโภคอาหารบางอย่างเพื่อให้มีสุขภาพที่ดีแทน

3.วิถีชีวิตและวัฒนธรรมการบริโภคน้ำตาลในชีวิตประจำวัน : ความเป็นเมืองและวิถีชีวิตในสังคมปัจจุบัน มีการทานอาหารนอกบ้านมากขึ้น ทานอาหารที่ผลิตจากระบบอุตสาหกรรมมากขึ้น สามารถบริโภคได้ทุกที่ทุกเวลา รวมทั้งวัฒนธรรมการกินที่เปลี่ยนไป เช่น เดิมจะทานของหวานในช่วงเทศกาล เปลี่ยนมาเป็นของที่ทานได้เป็นประจำทุกวัน หรือการทานอาหารที่เดิมทานเป็นมื้อ ก็มีเรื่องของการทานเป็นของว่าง ทานเพื่อแก้เหงาปากเพิ่มขึ้นมา ทำให้คนในปัจจุบันกินหวานมากขึ้น

ขณะเดียวกัน น้ำตาล/ของหวาน ก็ทำหน้าที่เป็นวัตถุทางวัฒนธรรมที่แสดงสัญญะบางอย่าง เช่น ความหวานชื่นเป็นอุปลักษณ์ของของหวานในประเพณี หรือในระดับบุคคล วันเกิดหรือของขวัญต่างๆ ก็ต้องหวานชื่น ซึ่งจะเห็นได้ว่าความหวานถูกสร้างความหมายทางวัฒนธรรมให้อยู่ในทุกช่วงของชีวิต

“การบริโภคน้ำตาลมันมีความหมายบางอย่าง อย่างเวลาคุณชวนเพื่อนไปทานกาแฟ คุณต้องการได้คาเฟอีนและน้ำตาล หรือไปคุยกับเพื่อน จะเห็นได้ว่าน้ำตาลก็เป็นสิ่งซึ่งใช้สร้างความสัมพันธ์ของคนแบบเดียวกับการดื่มเหล้า นอกจากนี้จะพบว่าการเมืองในเรื่องของหวานมันลงไปเล่นงานเราตั้งแต่ระดับของการมองเห็น อย่างภาพน้ำอัดลม จะเป็นภาพที่ดูดี ดูแล้วสดชื่นน่าดื่ม ซึ่งมันมีสัญญะบางอย่างทำงานผ่านทางสายตา เพราะฉะนั้น การกินไม่ใช่อยู่ที่การเอาเข้าปาก แต่ทันทีที่คุณมอง คุณได้กินไปแล้วในทางสังคม ที่เหลือก็แค่จ่ายเงินแล้วเอาเข้าปากเท่านั้นเอง” ดร.ชาติชาย กล่าว

อย่างไรก็ดี ดร.ชาติชายให้ความเห็นว่า เรื่องการกินเป็นวัฒนธรรมที่ถูกสร้างขึ้นมา ดังนั้นจึงสามารถเปลี่ยนแปลงได้ เพราะฉะนั้นนักรณรงค์ด้านสาธารณสุขต้องเข้าไปต่อสู้ในสนามทางวัฒนธรรม ต้องศึกษาให้เข้าใจความหมายของน้ำตาลหรือของหวานที่มีต่อชุมชนหรือกลุ่มเป้าหมายที่ทำงานด้วย และหาบางสิ่งเข้าไปทดแทน

“เราสามารถสร้างความหมายใหม่ๆ มาต่อสู้ในพื้นที่ทางวัฒนธรรมได้ อย่างเพลงเปรี้ยวใจของนิโคล เทริโอ นี่คือการให้ความหมายใหม่นะ จากหวานใจมาเป็นเปรี้ยวใจ หรือสมมุติความหวานในโลกของเด็กหมายถึงความสนุก เราก็อาจเอาความสนุกแบบใหม่เข้าไปให้เขารู้จัก มันก็อาจเกิดการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมใหม่ๆ ได้มากกว่าการรณรงค์แบบหลับหูหลับตาอย่างเดียว ซึ่งเรื่องนี้ไม่เฉพาะแค่ของหวานหรือน้ำตาล อาจจะเป็นการรณรงค์เรื่องความเค็มก็ได้ ทุกอย่างมันมีที่มาที่ไปทางวัฒนธรรมและมีประวัติศาสตร์เสมอ เราต้องศึกษาให้เข้าใจก่อนแล้วค่อยไปเปลี่ยน” ดร.ชาติชาย กล่าว

เรื่องที่เกี่ยวข้อง