ชี้ “บัตรทอง” ช่วยผู้ป่วยเข้าถึงบริการมาก แต่อยากให้ผู้บริหาร-ผู้กำหนดนโยบายปรับปรุงให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง ระบุ ทุกวันนี้ระบบถูกบิดเบือน สนับสนุนให้โรงพยาบาลรักษาช้า-ผู้ป่วยนอนนาน เพื่อให้ได้เงินมากขึ้น
นพ.ลักษณ์ ชุติธรรมานันท์
นพ.ลักษณ์ ชุติธรรมานันท์ หัวหน้ากลุ่มงานศัลยกรรมออร์โธปิดิกส์ โรงพยาบาลแพร่ จ.แพร่ เปิดเผยว่า หลักการของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) เป็นสิ่งที่ดีที่สุด คือมุ่งเน้นการรักษาพยาบาลโดยไม่คิดถึงเรื่องเงินเป็นใหญ่ ส่งผลดีคือผู้ป่วยเข้าถึงการรักษามากขึ้น แต่ในรายละเอียดยังจำเป็นต้องมีการปรับปรุงให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง และสอดคล้องกับวิวัฒนาการต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป
นพ.ลักษณ์ กล่าวว่า การรักษาโรคกระดูกและข้อในปัจจุบันมีพัฒนาการไปมาก ฉะนั้นค่าใช้จ่ายทั้งด้านเทคโนโลยี วัสดุอุปกรณ์ รวมถึงด้านอื่นๆ ก็มีมากขึ้นด้วยเช่นกัน ฉะนั้นฝ่ายนโยบายจำเป็นต้องพิจารณาตามความเป็นจริง คือพิจารณาตามตัวเลขและภาระค่าใช้จ่ายจริงๆ
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันโรงพยาบาลยังพออยู่ได้แต่ก็เป็นไปอย่างยากลำบาก โดยที่ผ่านมาโรงพยาบาลก็พยายามปรับตัวและประหยัดมากขึ้น เช่น ลดจำนวนวันนอน ลดการใช้ยา ลดการผ่าตัดที่ต้องใช้อุปกรณ์เกินความจำเป็น แต่ก็ทำได้เฉพาะบางกรณี ส่วนกรณีที่จำเป็นอื่นๆ หรือในโรคบางโรคที่จำเป็นจริงๆ ก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงการใช้เทคโนโลยีได้ ฉะนั้นผู้ออกแบบระบบหรือส่วนกลางจำเป็นต้องเปิดโอกาสให้แพทย์หรือโรงพยาบาลตามต่างจังหวัดมีโอกาสพัฒนาในส่วนนี้ด้วย
“ไม่ใช่ยังให้ใช้เทคโนโลยีเมื่อ 10 ปีที่แล้วอยู่ เพราะการพัฒนาเหล่านี้จะส่งผลดีต่อคนไข้ คือไม่ต้องอยู่โรงพยาบาลนานเหมือนก่อน ตรงนี้ผู้บริหารต้องเปิดใจรับเทคโนโลยีใหม่ๆ ด้วย แต่โดยหลักการภาพรวมยืนยันว่าบัตรทองเป็นสิ่งที่ดีมาก”นพ.ลักษณ์ กล่าว
นพ.ลักษณ์ กล่าวอีกว่า ทุกวันนี้โรงพยาบาลเดือดร้อนเพราะถูกควบคุมจากฝ่ายบริหาร ส่งผลให้คนทำงานรู้สึกอึดอัด ยกตัวอย่างเช่น การเปลี่ยนข้อเข่าเทียม ซึ่งในภาพรวมอาจมองว่าใช้งบประมาณมากเกินไป แต่ในข้อเท็จจริงคือมีคนไข้ที่จำเป็นต้องได้รับบริการจำนวนมาก เพราะประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ
“ในขณะที่ความต้องการมีมหาศาล แต่ข้างบนกลับพยายามจำกัดหรือกำหนดโควต้า ซึ่งก็เข้าใจว่าอาจเป็นเพราะงบประมาณมีจำกัดจึงต้องพยายามเลือกเคสที่มีความจำเป็นจริงๆ ฉะนั้นหลังจากนี้อาจต้องมีการพัฒนาระบบ อาจจะเป็นรูปแบบการเก็บเงินเพิ่มเติมผ่านระบบภาษีก็ได้ แต่ไม่เห็นด้วยที่จะให้ผู้ป่วยร่วมจ่ายในระหว่างรับบริการ เพราะจะทำให้คนไข้เป็นกังวลในการรับการรักษา” นพ.ลักษณ์ กล่าว
หัวหน้ากลุ่มงานศัลยกรรมออร์โธปิดิกส์รายนี้ กล่าวอีกว่า ยกตัวอย่างสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มีความพยายามจะลดค่าใช้จ่ายลง เช่น ข้อเข่าเทียมในอดีตสามารถเบิกได้ 5 หมื่นบาท ปัจจุบันก็พยายามลดลงมาเหลือ 4.5 หมื่นบาท ซึ่งจำเป็นต้องพิจารณาต่อด้วยว่าเมื่อลดวงเงินการเบิกจ่ายแล้ว คุณภาพวัสดุอุปกรณ์เวชภัณฑ์ทางการแพทย์จะลดลงด้วยหรือไม่
“อย่างผู้ป่วยข้อเข่าเทียม ปัจจุบันเข้าคิวรับการรักษาเป็นร้อยราย หรือรวมทั้งปีมีจำนวนมากถึง 200-300 ราย ซึ่งการให้บริการในปีที่ผ่านมาสามารถผ่าได้อย่างเต็มที่ แต่ในปัจจุบันกลับได้โควต้าเพียง 90 กว่าเข่า หรือที่ จ.น่าน ซึ่งมีประชากรเท่ากับ จ.แพร่ แต่ได้โควต้าเพียง 50 กว่าเข่าเท่านั้น โดยความพยายามจำกัดจะทำให้เสียโอกาสในส่วนนี้” นพ.ลักษณ์ กล่าว
นพ.ลักษณ์ กล่าวอีกว่า ขณะนี้ระบบถูกบิดเบือนผ่านกระบวนการทางการเงิน ยกตัวอย่างเช่น คนไข้ที่ได้รับบาดเจ็บที่มือ ซึ่งสามารถผ่าตัดและกลับบ้านได้เลยภายในไม่กี่ชั่วโมง แต่ระบบทุกวันนี้กลับสนับสนุนให้คนไข้ต้องนอนรักษาตัวที่โรงพยาบาลนานๆ เพื่อที่โรงพยาบาลจะได้เงินมากขึ้น หรืออย่างผู้ป่วยกระดูกสะโพกหักซึ่งจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดให้เร็วที่สุดเพื่อลดความเสี่ยงและลดอัตราการเสียชีวิต ทว่าระบบกลับออกแบบว่ายิ่งนอนนานโรงพยาบาลจะยิ่งได้เงินเยอะ คำถามคือโรงพยาบาลจะให้การรักษาอย่างรวดเร็วไปทำไม
“ทั้งๆ ที่โรงพยาบาลสามารถรักษาผู้ป่วยให้เสร็จได้ภายใน 1 วัน และเป็นประโยชน์แก่ผู้ป่วยมากกว่า แต่ระบบกลับบิดเบือนให้นอนนาน ทั้งๆ ที่การนอนนานจะทำให้เปลืองค่าใช้จ่ายโดยรวม เพิ่มภาระงานให้บุคลากร เบียดบังเตียงของผู้ป่วยรายอื่นๆ และยังส่งผลให้เกิดปัญหาโรงพยาบาลแออัด เข้าใจว่าเรื่องเงินมีความสำคัญจริง แต่การรักษาก็ต้องให้สอดคล้องกับความเป็นจริงด้วย ไม่ใช่ให้ผู้ป่วยนอนนานๆ เพื่อให้ได้เงินเยอะๆ เพื่อพยุงให้โรงพยาบาลอยู่ได้ แบบนี้คิดว่าไม่ถูกต้อง”นพ.ลักษณ์ กล่าว
ด้าน นพ.จักรกริช โง้วศิริ ผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ในการผ่าตัดข้อเข่าเสื่อม สปสช.จะจัดสรรเป็นรายเขต โดยแต่ละเขตจะจัดสรรต่อเป็นรายจังหวัด เพื่อกระจายโควต้าไปยัง รพ.แต่ละแห่ง ซึ่ง รพ.ยังสามารถปรับเกลี่ยในระดับเขตได้อีกตามความจำเป็นที่มีผู้ป่วยต้องรับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเพิ่ม รวมทั้งจะมีการปรับเกลี่ยเพิ่มเติมในช่วงไตรมาส 2 และ 3 ที่ขณะนี้ สปสช.อยู่ระหว่างดำเนินการ โดยจะทำให้ รพ.ได้รับการจัดสรรโควต้าข้อเข่าเพิ่ม หากมีผู้ป่วยที่จำเป็นต้องได้รับการเปลี่ยนข้อเข่า และหากยังมีจำนวนผู้ป่วยที่จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดก็สามารถอุทธรณ์ได้
ส่วนสาเหตุที่ สปสช.ดำเนินการจัดสรรโค้วต้าผ่าตัดข้อเข่าเสื่อมนั้น เนื่องจากข้อมูลบริการที่ผ่านมา พบว่ามีการเข้าถึงบริการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าน้อยในบางพื้นที่ และบางพื้นที่มีการเข้าถึงบริการมาก ดังนั้น เพื่อเป็นการกระตุ้นการเข้าถึงบริการอย่างทั่วถึงและตามความจำเป็นของผู้ป่วยตามหลักวิชาการที่ต้องได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าจริงๆ ไม่ได้เป็นการจำกัดการรักษาผู้ป่วย
โดยผู้ป่วยที่จะได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า จะเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ราชวิทยาลัยแพทย์ออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย และสมาคมข้อเข่าแห่งประเทศไทยกำหนดร่วมกับ สปสช. ทั้งผู้ป่วยที่มีอายุ 55 ปีขึ้นไป ส่วนอายุต่ำกว่า 55 ปี จะต้องให้การรักษาเบื้องต้นด้วยยาและกายภาพบำบัดก่อนที่จะผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม
ขอบคุณข่าวจาก เว็บไซต์โพสต์ทูเดย์
- 898 views