ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

อายุรแพทย์ไต รพ.มหาราชนครศรีธรรมราช ชี้ล้างไตหน้าท้องเหมาะกับสถานการณ์ในประเทศไทยที่มีทรัพยากรจำกัด ยันมีมาตรฐานเทียบเท่าต่างประเทศ ชี้รักษาได้จำนวนมากกว่าเมื่อเทียบกับฟอกเลือด

นพ.กมล โฆษิตรังสิกุล อายุรแพทย์โรคไต รพ.มหาราชนครศรีธรรมราช กล่าวถึงกรณี สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กำหนดนโยบายล้างไตช่องท้องอันดับแรกกับผู้ป่วยที่เป็นโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ว่า เดิมทีการล้างไตในไทยมีมาเมื่อ 20 ปีที่แล้ว จากที่คนไข้โรคไตไม่มีสิทธิ์อะไรนอกจากข้าราชการอย่างเดียว แต่ก็มาเพิ่มสิทธิ์มาเรื่อยๆ ในระบบประกันสังคม โดยเฉพาะคนไข้ที่เป็นบัตรทองที่เพิ่งมีมาเมื่อสิบกว่าปีก่อน ผลลัพธ์ของการรักษาที่ผ่านมาจึงเพิ่มขึ้น โดยคนไทย 65 ล้านคน มีสิทธิบัตรทอง 80% หรือเกือบ 50 ล้านคน

นพ.กมล กล่าวว่า ไม่สามารถบอกได้ชัดว่า การล้างไตด้วยการฟอกเลือดหรือล้างไตทางหน้าท้องวิธีใดดีกว่ากัน เพราะทั้ง 2 วิธีเป็นการรักษาที่มีมาตรฐานทั้งคู่ สำหรับการล้างไตหน้าท้อง บุคลากรสาธารณสุขของไทยได้ไปดูงานจากประเทศอื่นที่ทำกันมาก่อน เช่น ฮ่องกง เม็กซิโก ซึ่งทั้ง 2 ประเทศ มีประชากรมากและทรัพยากรมีจำกัดเหมือนไทย

ส่วนกรณีที่เป็นข่าวทางโซเชียลว่า หมอทำงานต่ำกว่ามาตรฐานทำให้คนไข้ที่รักษาด้วยล้างไตหน้าท้องเสียชีวิตมากกว่าคนไข้ฟอกเลือด ก็ยอมรับว่า ผลลัพธ์เป็นอย่างนั้น แต่อย่าลืมว่า ก่อนที่คนไข้จะมารักษาด้วยการล้างไตหน้าท้อง เขาถูกคัดเลือกมาตั้งแต่ เศรษฐานะ สถานะทางสังคมแล้ว กล่าวคือ คนไข้บัตรทองของ สปสช. คือคนไข้ที่ไม่ได้ทำงานราชการ หรือบริษัทไม่มีสิทธิ์เบิกประกันสังคม และก็ถูกให้เลือกว่า ควรล้างไตทางหน้าท้องก่อน แต่ก็ไม่ได้บังคับให้เลือกล้างไตทางหน้าท้องเสมอไป เพราะในประกาศของ สปสช.ระบุว่า คนไข้ที่ล้างไตหน้าท้องมีสิทธิ์เปลี่ยนการฟอกเลือดได้ตามการบ่งชี้ทางการแพทย์

นพ.กมล กล่าวว่า ผลการติดตามการรักษาโดย สปสช. หรืองานวิจัยที่ทำร่วมกับต่างประเทศพบว่า อัตราการเสียชีวิต หรือติดเชื้อด้วยวิธีล้างไตหน้าท้องในช่วง 10 ปีมานี้ไม่ได้แตกต่างกับต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม การล้างไตหน้าท้องมีจุดเด่นที่สามารถรักษาคนไข้ได้จำนวนมาก และรักษาอยู่ที่บ้าน ส่วนการฟอกเลือดจะต้องมีการลงทุนโดยรัฐหรือเอกชน และราคาสูง ไม่ว่าจะเป็นเครื่องไตเทียม ระบบน้ำบริสุทธิ์ ทั้งนี้เครื่องไตเทียมปัจจุบันอยู่ที่ 5 แสนบาทต่อเครื่อง ฉะนั้นใน 1 เครื่องรักษาได้ 1 คนทุกๆ 4 ชั่วโมง ซึ่งใน 1 วันทำได้ประมาณ 2 -3 คน สรุปแล้ว ใน 1 สัปดาห์เครื่องไตเทียมจะดูแลรักษาคนไข้ไตวายเรื้อรังได้ 6-9 คน

“จะเห็นว่ารัฐลงทุน 5 แสนบาทเพื่อดูแลคน 9 คน อันนี้คิดเฉพาะเครื่องไตเทียม ยังไม่ได้คิดเรื่องระบบน้ำหรืออย่างอื่น ดังนั้นเมื่อถามว่าแบบไหนดีกว่ากัน มันก็ต้องดูหลายมิติ รวมทั้งความพร้อมของประเทศด้วย”

นพ.กมล กล่าวว่า ข้อดีอีกอย่างของการล้างไตหน้าท้อง คือ สามารถเลือกล้างอยู่ที่บ้านได้ วิธีการรักษาก็สามารถยืดหยุ่น ปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับคนไข้แต่ละคนได้ตามมาตรฐานการล้างไตหน้าท้อง แต่ก็อาจมีข้อเสียที่ไม่เหมาะกับคนไข้บางคนที่ไม่มีคนคอยช่วยดูแล หรือคนไข้มีโรคร่วมหลายอย่าง ขณะที่การฟอกเลือดคนไข้จะต้องเดินทางมารักษา ในต่างจังหวัดยิ่งลำบาก เพราะต้องนั่งรถออกมาหลายต่อเพื่อมาศูนย์ไตเทียม คนไข้บางคนต้องมีญาติพามาเพราะมาเองไม่ได้ 

นพ.กมล กล่าวว่า อย่างน้อยในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา กระบวนการรักษาโรคไตได้รับการพัฒนาขึ้น ทั้งการล้างไตหน้าท้องและฟอกเลือด อีกทั้งในประเทศไทยมีศูนย์ไตเทียมเพิ่มมากขึ้นจากเดิม ที่มีแค่ 10 ศูนย์ จนวันนี้ มีศูนย์ไตเทียมหลักพันแห่ง และคนไข้ที่ในอดีตไม่เคยมีการล้างไต หรือมีแค่หลักร้อยเมื่อ 20 ปีก่อน มาวันนี้มีคนไข้ที่มาล้างไตหน้าท้องถึงสองหมื่นคน การเข้าถึงก็มากกว่าอดีต

เรื่องที่เกี่ยวข้อง