ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เภสัชกร สสจ.ลำปาง จัดระบบการใช้ยาสมเหตุผลสอดคล้องยุทธศาสตร์ แนะจัดทำกรอบบัญชียามุ่งเน้นใช้ยาทั้งแผนปัจจุบันและสมุนไพร

ภญ.จันทนา ลี้สวัสดิ์ เภสัชกรชำนาญการพิเศษ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ลำปาง กล่าวถึงการใช้ยาอย่างสมเหตุผล หรือ Rational Drug Use (RDU) ในเวทีประชุมเภสัชกรรมปฐมภูมิ หัวข้อ“เภสัชกรกับการพัฒนาระบบยาในการแพทย์ปฐมภูมิ” เมื่อวันที่ 28 มี.ค.2560 ณ โรงแรมอมารี ดอนเมือง กรุงเทพฯ ตอนหนึ่งว่า เมื่อปี 2557 โรงพยาบาลในพื้นที่จังหวัดลำปางได้เข้าร่วมโครงการส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผลกับเครือข่ายโรงพยาบาลกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (UHOSNET) รวม 4 แห่ง คือ โรงพยาบาลลำปาง, โรงพยาบาลห้างฉัตร, โรงพยาบาลแม่ทะ และโรงพยาบาลเสริมงาม กระทั่งเกิดประโยชน์ด้านการใช้ยาอย่างเป็นรูปธรรม ในปี 2559 โรงพยาบาลทุกแห่งในจังหวัดลำปางรวม 13 แห่ง จึงสมัครเข้าร่วมโครงการ และเกิดผลสำเร็จโดยได้รับมอบป้าย RDU Hospital จากผู้ตรวจราชการในงานประกาศเจตนารมณ์โรงพยาบาลส่งเสริมการใช้ยาสมเหตุผล

ภญ.จันทนา กล่าวว่า ในส่วนบทบาทของ สสจ.ลำปางเพื่อเข้าร่วมโครงการทำงานร่วมกับโรงพยาบาลในพื้นที่ด้านการใช้ยาสมเหตุผล จะรับผิดชอบในเรื่องการประสานงาน สนับสนุนติดตาม ควบคุมกำกับ และประเมินผล โดยแผนปฏิบัติการ RDU จะเป็นรูปแบบของเครือข่ายที่เชื่อมโยงถึงกัน โดยใช้แผนปฏิบัติการเป็นศูนย์กลาง ที่จะกระจายออกไปเพื่อให้เชื่อมโยงและสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์จากระทรวงสาธารณสุข ยุทธศาสตร์ระดับจังหวัด และกระจายไปยังแผนงานระดับปฐมภูมิ ที่ต้องยึดโยงกับสถานการ์ด้านสุขภาพของประชาชนในแต่ละพื้นที่ โดยส่วนของเภสัชกรจะเข้าไปปฏิบัติหน้าที่ช่วยเหลือในส่วนปฐมภูมิที่มีมาตรฐาน

“การใช้ยาอย่างสมเหตุผลจะต้องอยู่ในกรอบของบัญชีรายการยา โดยต้องสนับสนุนการใช้ยาในบัญชียาหลักแห่งชาติ ทั้งยาแผนปัจจุบันและยาสมุนไพร” ภญ.จันทนา กล่าว

นอกจากนี้ สสจ.ลำปาง ยังจัดทำกรอบบัญชีรายการยาในระดับจังหวัดให้สอดคล้องกับแนวทาง RDUทั้งยาที่ควรมีและไม่ควรมี และเพิ่มรายการยาสมุนไพรในกรอบบัญชีของโรงพยาบาลชุมชนรวม 30 รายการ และส่วนของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพระดับตำบล (รพ.สต.) อีก 10 รายการ พร้อมทั้งจัดทำคู่มือและแจกให้กับโรงพบาลทุกแห่ง เพื่อให้เกิดการใช้ยาที่เหมาะสมและอยู่ในกรอบทิศทางเดียวกัน

“สิ่งที่ต้องเฝ้าระวังเรื่องการใช้ยาในระดับชุมชน สสจ.ลำปางจะเฝ้าระวังเรื่องการจำหน่ายยาปฏิชีวนะ และผลิตภัณฑ์ที่มีความเสี่ยงต่อการปนเปื้อนสารสเตียรอยด์ รวมถึงเก็บตัวอย่างยากลุ่มเสี่ยงเพื่อตรวจหาสารสเตียรอยด์” ภญ.จันทนา กล่าว

ภญ.จันทนา กล่าวว่า ผลการปฏิบัติตามกรอบที่ชัดเจนที่ผ่านมาถือว่าได้ผลเป็นอย่างดี ขณะเดียวกันแผนที่จะดำเนินการต่อไปคือการจัดประชุม IT และเภสัชกรในการดึงและเข้าถึงข้อมูล จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในระดับจังหวัด รวมทั้งการจัดทีมลงพื้นที่สัญจรในทุกอำเภอให้เพิ่มมากยิ่งขึ้น

เรื่องที่เกี่ยวข้อง