ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ผู้สูงอายุ 39% กินยามั่ว เหตุตาไม่ดี-อ่านไม่ออก “รพ.ระยอง” ล้อมคอกด้วยนวัตกรรม “ฉลากยารูปภาพ” แก้ปัญหาได้กว่า 92%

ภญ.ขัตติยา ชัยชนะ เภสัชกรโรงพยาบาลระยอง กล่าวถึงการพัฒนาฉลากยารูปภาพเพื่อลดปัญหาจากการใช้ยาในผู้สูงอายุ ในเวทีการประชุมเภสัชกรรมปฐมภูมิ หัวข้อ“เภสัชกรกับการพัฒนาระบบยาในการแพทย์ปฐมภูมิ” เมื่อวันที่ 27 มี.ค.2560 ณ โรงแรมอมารี ดอนเมือง กรุงเทพฯ ตอนหนึ่งว่า จากการลงพื้นที่เยี่ยมบ้านของทีมเภสัชกรปฐมภูมิทำให้พบปัญหาการใช้ยาในผู้สูงอายุ โดยพบการบริหารยาไม่ถูกต้องคือกินยาผิดวิธีจากที่ระบุมากถึง 39.02%

ภญ.ขัตติยา กล่าวว่า สาเหตุของปัญหาการกินยาผิดวิธี ส่วนหนึ่งเกิดจากปัญหาสุขภาพของผู้สูงอายุ เช่น ปัญหาด้านการมองเห็น ตาพร่ามัว ตามองไม่ชัด อ่านหนังสือไม่ออก ฯลฯ จึงกลับมาคิดว่าจะทำอย่างไรเพื่อแก้ปัญหานี้ จนกระทั่งเกิดเป็นนวัตกรรมใหม่คือการพัฒนาฉลากยารูปภาพ

สำหรับการดำเนินการจะเน้นที่กลุ่มตัวอย่างผู้ป่วยโรคเบาหวาน อายุมากกว่าหรือเท่ากับ 60 ปี และต้องมีปัญหาอย่างใดอย่างหนึ่งในข้างต้น โดยทีมเภสัชกรปฐมภูมิจะใช้เครื่องมือวิจัยใน 3 ระดับ เริ่มจากแบบบันทึกการติดตามการใช้ยา ซึ่งจะมีข้อมูลสุขภาพ ประวัติทางสังคม และปัญหาจากการใช้ยาของผู้ป่วย จากนั้นก็จะพัฒนาฉลากยารูปภาพขึ้นจากการสนทนากลุ่ม ก่อนจะสัมภาษณ์ซ้ำเพื่อประเมินความเข้าใจในการบริหารยา

ภญ.ขัตติยา กล่าวอีกว่า เมื่อออกแบบฉลากยารูปภาพเสร็จแล้ว ก็จะมีการประเมินเพื่อปรับปรุง ซึ่งก่อนจะได้ข้อสรุปฉลากยารูปภาพที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน ต้องผ่านการปรับปรุงมาแล้วถึง 3 ครั้ง จนกระทั่งแบบที่ 4 จึงจะได้ข้อยุติ จากนั้นทีมเภสัชกรก็จะลงเยี่ยมบ้านผู้ป่วยอีกครั้งพร้อมทั้งใช้เครื่องมือฉลากยารูปภาพเป็นเวลา 1 สัปดาห์เพื่อประเมินผล

“จากข้อมูลพบว่ากลุ่มตัวอย่าง 65% มีปัญหาด้านการมองเห็น ตาพร่ามัว ขณะที่อีก 25% อ่านหนังสือไม่ออกเขียนไม่ได้ ส่วนปัญหาการกินยาผิดวิธีนั้นพบว่าก่อนให้นวัตกรรมมีอยู่ 40 ราย หลังให้นวัตกรรมเหลือเพียง 3 ราย เท่ากับปัญหาการใช้ยาลดลงถึง 92.5%” ภญ.ขัตติยา กล่าว

สำหรับผลการประเมินความหมายของฉลากยารูปภาพ กลุ่มตัวอย่าง 87.50-97.50% มีความเข้าใจฉลากยารูปภาพอย่างถูกต้องทุกประเด็น คือเวลาที่ใช้ยาเมื่อเทียบกับมื้ออาหาร (ก่อนอาหารหรือหลังอาหาร) มื้อที่ต้องใช้ยา (เช้า เที่ยง เย็น ก่อนนอน) และจำนวนเม็ดยาในแต่ละมื้อ

ภญ.ขัตติยา กล่าวถึงข้อเสนอเชิงนโยบายว่า ควรจัดให้มีพื้นที่ให้กับผู้สูงอายุโรคเรื้อรังที่ได้รับยามากกว่า 5 รายการ และมีปัญหาในด้านสายตา อ่านหนังสือไม่ออก ไม่มีความสามารถในการรับประทานยา และไม่มีผู้ดูแล และควรมีการจัดทำฉลากยาตัวอักษรเพิ่มขึ้นที่เหมาะกับผู้ป่วยสูงอายุที่สามารถใช้ยาได้อย่างยั่งยืน สามารถนำไปใช้ได้จริงในทุกโรงพยาบาล

“ในการนำไปใช้จริงจะต้องมีการพูดคุยทำความเข้าใจด้วยวาจา ท่าทาง ร่วมด้วยเสมอและควรมีการทดสอบความเข้าใจของผู้ป่วยร่วมด้วยทุกครั้ง เช่น การให้ผู้ป่วยทวนคำสั่งใช้ยาให้ฟัง และอาจใช้ฉลากรูปภาพร่วมกับสื่ออื่น เช่น เม็ดยาที่ผู้ป่วยได้รับจริงในวันนั้นพร้อมคำอธิบาย ซึ่งจะช่วยเสริมความเข้าใจได้ดีขึ้น” ภญ.ขัตติยา ระบุ

เรื่องที่เกี่ยวข้อง