ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ภาคประชาชน ร้อง “พล.อ.ประยุทธ์” ยุติการแก้ พ.ร.บ.สสส. ชี้ขัดรัฐธรรมนูญใหม่ มาตรา 77 ที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง

เมื่อวันที่ 27เมษายน 2560 เวลา13.30 น. ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ ทำเนียบรัฐบาล นายคำรณ ชูเดชา ผู้ประสานงานขบวนการสร้างเสริมสุขภาพภาคประชาชน (ขสช.) พร้อมด้วย นางสาวอรุณี ศรีโต ผู้ประสานงานเครือข่ายแรงงานนอกระบบ เครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์ เครือข่ายสลัม 4 ภาค และเยาวชนกว่า 30 คน ยื่นหนังสือถึง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ผ่านทางนายพันศักดิ์ เจริญ ผู้อำนวยการส่วนประสานมวลชนและองค์กรประชาชน ให้ยุติกระบวนการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (ฉบับที่…) พ.ศ…โดยดำเนินการให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 77 ที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง 

นายคำรณ กล่าวว่า จากความพยายามที่จะมีการผลักดันแก้ไขร่าง พ.ร.บ.กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (ฉบับที่…) พ.ศ… และล่าสุดได้ทำประชาพิจารณ์ 2 ครั้งโดยเชิญผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ และภาคีเครือข่ายภาคประชาชนเข้าร่วมรับฟังและนำเสนอข้อคิดเห็น โดยส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว เนื่องจากมองว่ากระบวนการที่ผ่านมาขาดความชอบธรรม มีอคติ การจัดรับฟังความคิดเห็นคับแคบ รวบรัดตัดตอน เป็นเพียงพิธีกรรม ไม่ได้เป็นการประชาพิจารณ์อย่างแท้จริง ประกอบกับกระบวนการที่ผ่านมาขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน อย่างกว้างขวาง มีเพียงการจัดเวทีเล็กๆ 2 ครั้งในพื้นที่ กทม.ซึ่งเสียงส่วนใหญ่เกิน 80%คัดค้านการแก้ไข พ.ร.บ.ฉบับนี้ แต่เสียงเหล่านั้นกลับไม่มีความหมาย

“ทั้งที่เป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องและกระทบกับประชาชนจำนวนมาก แต่กระบวนการและขั้นตอนแก้ไข พ.ร.บ.สสส. กลับขาดการมีส่วนร่วม เขียนในทำนองลิดรอนสิทธิ์ ให้ร้าย ย้อนแย้งกับความเป็นจริง ไม่ได้ศึกษาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายอย่าง​รอบด้านและเป็นระบบ ตามหลักวิชาการที่ถูกต้อง เป็นที่ยอมรับของนานาชาติ เหตุผลที่ใช้ในการแก้ไข พ.ร.บ.นี้ ขัดแย้งกับที่ สสส.ได้รับการยกย่องทั้งจากองค์กรนานาชาติ เช่น WHO และในประเทศ นายกฯ ก็ลงนามในประกาศยกย่องว่า เป็นองค์กรที่ทำงานโปร่งใส​และมีประสิทธิภาพ อีกทั้งไม่เป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ซึ่งขัดแย้งกับมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ที่สำคัญคือ เครือข่ายฯ เกิดความกังขาอย่างมาก เหตุใดทีมที่จัดทำร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้จึงอ้างว่าเป็นบัญชาของ คสช.ที่สั่งให้ปรับแก้พ.ร.บ.สสส. เหตุใดถึงกล้าอ้างคำสั่งของ คสช. หรือมีวาระอะไรซ่อนเร้น” นายคำรณ กล่าว  

นายคำรณ กล่าวว่า จากข้อมูลดังกล่าวเครือข่ายฯขอแสดงจุดยืนและมีข้อเสนอต่อรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดังต่อไปนี้ 

1.ขอให้ทบทวนยกเลิกการปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.สสส. เพราะกระบวนการที่ผ่านมาขาดความชอบธรรม ขาดการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง และที่สำคัญช่วงที่ผ่านมาได้มีการปรับปรุงแก้ไขข้อระเบียบต่างๆ ของ สสส.เรียบร้อยแล้ว เพื่อให้เป็นไปตามข้อห่วงใยและท้วงติงจากภาคส่วนต่างๆ จึงไม่มีความจำเป็นที่จะแก้ไขกฎหมายฉบับนี้อีก

2.หากต้องเดินหน้าแก้ไข พ.ร.บ.สสส.ขอให้เริ่มต้นกระบวนการใหม่ทั้งหมดโดย​ ต้องมีการศึกษาให้ชัดเจนว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้ มีปัญหา หรือข้อบกพร่องตามหลักวิชาการที่เชื่อถือได้ ว่าทำไมต้องแก้ไข และแก้ไขให้ดีขึ้นอย่างไร​และดำเนินการให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญใหม่ ตามมาตรา 77 ซึ่งให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาชนไว้อย่างชัดเจน และให้สอดรับกับมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 4 เมษายน ที่ผ่านมา ในเรื่องแนวทางการจัดทำและเสนอร่างกฎหมายฯ และหลักเกณฑ์ในการตรวจสอบความจำเป็นในการตราพระราชบัญญัติ 

และ 3.เครือข่ายฯ เรียกร้องให้ภาคประชาชน ร่วมกันปกป้องกลไกการปฏิรูประบบสุขภาพ ในทุกรูปแบบและให้จับตากระบวนการที่เกิดขึ้นกับกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพอย่างใกล้ชิด เพื่อแสดงจุดยืนและความต้องการที่แท้จริง

ด้าน น.ส.อรุณี ศรีโต ประธานเครือข่ายแรงงานนอกระบบ กล่าวว่า ในฐานะภาคประชาชนจะติดตามการแก้ไข พ.ร.บ.สสส.อย่างใกล้ชิดเพราะตระหนักดีว่าการเปิดรับฟังเสียงของทุกฝ่ายอย่างครอบคลุมเป็นวิถีประชาธิปไตย ไม่ใช่ไปคิดเองเออเอง เช่นมีธงไว้อยู่แล้ว แค่เปิดรับฟังความคิดเห็นเพื่อเป็นพิธีกรรม ซึ่งหากทำเช่นนี้จะทำให้เสียเวลา เสียดายของและขัดต่อรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อย่างชัดเจน หากชาวบ้านแสดงความเห็น มีข้อเสนอแนะแล้วไม่รับฟัง ไม่ทบทวนนำไปปรับปรุงปฏิบัติ ก็ไม่ต่างจากการหลอกลวงประชาชน ไม่เห็นคุณค่าความสำคัญของประชาชน 

ที่ผ่านมาจะเห็นว่าการทำงานของ สสส.ดีอยู่แล้วและตรวจสอบก็ไม่พบทุจริต สสส.เข้าใจประชาชน เห็นความสำคัญเกิดโครงการต่างๆ กิจกรรมรณรงค์ดีๆ ที่ภาครัฐลงไปไม่ถึงชาวบ้าน แต่ สสส.มีงบประมาณลงไปสนับสนุน กลุ่มคนที่มีโอกาสน้อยในสังคม กลุ่มแรงงานนอกระบบ คนติดเหล้าติดบุหรี่ ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว จนสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลง เปลี่ยนพฤติกรรม มีสุขภาพมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด