ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรรมการติดตามผลกระทบสุขภาพจากการค้าเสรี ถกนโยบายสิทธิบัตรยา เตรียมข้อเสนอพัฒนาระบบยาสนับสนุนประเทศไทย 4.0 ทั้งความเข้มงวดการให้สิทธิบัตรที่ไม่เหมาะสม การขึ้นทะเบียนยาที่ต้องให้ความสำคัญกับการผลิตยาชื่อสามัญใหม่ รวมทั้งยาที่มีชีววัตถุคล้ายคลึงมากกว่าการสนับสนุนนำเข้ายาใหม่ พร้อมสนับสนุนการลงทุนที่รัฐบาลเป็นหุ้นส่วนธุรกิจ

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา มีการประชุมของคณะกรรมการสนับสนุนการศึกษาและติดตามการเจรจาการค้าระหว่างประเทศที่มีผลกระทบต่อสุขภาพและนโยบายสุขภาพ (คจ.คส.) ที่มี ดร.ศิรินา ปวโรฬารวิทยา อดีตกรรมการสุขภาพแห่งชาติจากภาคธุรกิจเอกชน เป็นประธาน ร่วมกับกรรมการจากภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาครัฐ วิชาการ ธุรกิจและประชาสังคม อาทิ กรมทรัพย์สินทางปัญญา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) เป็นต้น ซึ่ง คจ.คส.เป็นคณะกรรมการที่แต่งตั้งขึ้นโดยคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ

ดร.ศิรินา ปวโรฬารวิทยา ประธาน คจ.คส. เปิดเผยว่า การประชุมครั้งได้มีการแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับการพัฒนาระบบสิทธิบัตรยา ซึ่งกรรมการจากหลายภาคส่วนมีความห่วงกังวลกับนโยบายเร่งรัดแก้ไขปัญหาความล่าช้าในการออกสิทธิบัตรให้กับคำขอที่ค้างอยู่ ด้วยเกรงว่าความเร่งรีบอาจจะก่อให้เกิดข้อผิดพลาดที่มีผลให้มีการยืดอายุสิทธิบัตรยาออกไปจนมีผลต่อการพัฒนาระบบยาในประเทศ

“การประชุมได้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอย่างกว้างขวางถึงการดำเนินการต่างๆ รวมถึงปัญหาจากกระบวนการขอสิทธิบัตร ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเร่งรัดการออกสิทธิบัตร ตลอดจนศักยภาพของผู้ผลิตยาไทย ทำให้ทราบว่า ปัจจุบันผู้ประกอบการไทยมีการพัฒนาจนมีความรู้ความสามารถมากพอสมควรแล้ว ดังนั้น การมียุทธศาสตร์พัฒนาระบบยาและการประสานร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานก็จะสร้างโอกาสในการพัฒนาอุตสาหกรรมยาของประเทศให้มีความเข้มแข็งต่อไปได้”

ในที่สุดที่ประชุมได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ในฐานะเลขานุการ คจ.คส. รวบรวมข้อคิดเห็น เพื่อจัดทำเป็นข้อสรุปเชิงนโยบายเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นแนวทางดำเนินการพัฒนาระบบสิทธิบัตรยาให้เกิดประสิทธิภาพ สร้างความเข้มแข็งให้กับอุตสาหกรรมยาภายในประเทศ รวมไปถึงการคุ้มครองผู้บริโภค คุ้มครองภูมิปัญญาของไทยด้วย

ด้าน นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ ที่ปรึกษา คจคส. กล่าวว่า หัวข้อที่ฝ่ายเลขานุการควรจัดทำเป็นข้อเสนอ คือ ระบบสิทธิบัตรยาที่สนับสนุนประเทศไทย 4.0 ที่ครอบคลุมใน 3 ประเด็นหลัก คือ

1.ระบบสิทธิบัตร ทั้งเรื่องความเข้มงวดกับสิทธิบัตรที่ไม่เหมาะสม การบริการให้คำปรึกษาเรื่องยาที่จะหมดสิทธิบัตร และอำนวยความสะดวกเรื่องการให้สิทธิโดยสมัครใจ (voluntary licensing)  

2.การขึ้นทะเบียนโดย อย. ต้องให้ความสำคัญกับนวัตกรรมการผลิตยาชื่อสามัญ (generic) ใหม่ๆ รวมทั้งยาที่มีชีววัตถุคล้ายคลึง (biosimilars) มากกว่าการสนับสนุนการนำเข้ายาใหม่ พร้อมการเจรจากับประเทศต่างๆ เพื่อให้ขึ้นทะเบียนยาในประเทศนั้นๆ ได้ง่ายขึ้น

3.การสนับสนุนการลงทุนที่รัฐบาลอาจจะมาเป็นหุ้นส่วนธุรกิจ เพิ่มขีดความสามารถในการลงทุนให้กับภาคเอกชนได้

“ในอดีตหน่วยงานด้านการออกสิทธิบัตรของรัฐอาจจะทำงานในลักษณะเชิงรับคือรอให้คนยื่นคำขอ แต่เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบาย 4.0 ต้องปรับการดำเนินการและเปลี่ยนบทบาทเป็นลักษณะเชิงรุกมากขึ้น ดังเช่น อย.ที่มีหน่วยด้านการพัฒนานวัตกรรมก็ควรคิดผลิตภัณฑ์ยาใหม่ๆ รวมถึงการให้คำปรึกษาต่างๆ เกี่ยวกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ยา เพื่อสร้างโอกาสการเติบโตของอุตสาหกรรมยาของประเทศได้”

นายทัฬห์ ปึงเจริญกุล กรรมการจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ประเด็นปัญหาหลักๆ ของภาคเอกชนผู้ผลิตยา คือ ฐานข้อมูลสิทธิบัตรที่ไม่มีความชัดเจน เป็นอุปสรรคต่อการผลิตยา ผู้ประกอบการบางรายถูกฟ้องร้องจากผู้นำเข้ายาและมีการทำหนังสือไปยังโรงพยาบาล หากมีการจัดซื้อจะต้องถูกฟ้องร้องเป็นจำเลยร่วม ทำให้ผู้ประกอบการรายนั้นๆ ไม่สามารถจำหน่ายยาต่อไปได้ ส่วนนโยบายเร่งรัดการออกสิทธิบัตร มีการเก็บค่าธรรมเนียมการดำเนินการเพิ่มขึ้นสูงมาก สร้างภาระต้นทุนเพิ่มขึ้นจากเดิมหลายสิบเท่า แต่ไม่สามารถปรับราคายาได้ เนื่องจากเป็นสินค้าควบคุมราคาโดยกรมการค้าภายใน

“นโยบายการเร่งรัดออกสิทธิบัตรเป็นเรื่องดี แต่ต้องหาจุดกึ่งกลางที่เหมาะสม ให้กระบวนการราบรื่น เอกชนอยู่รอดได้ ประชาชนเข้าถึงยาได้โดยไม่ได้รับผลกระทบ”

ด้าน รต.จักรา ยอดมณี ผู้แทนจากกรมทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวว่า ตามที่มีการจัดทำ (ร่าง) นโยบายแห่งชาติด้านยาและยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบยาแห่งชาติ พ.ศ. 2560-2564 โดยคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติที่มี พลเรือเอกณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ซึ่งส่วนหนึ่งของการยุทธศาสตร์คือการพัฒนาระบบและกลไกที่มีประสิทธิภาพเพื่อสนับสนุนการเข้าถึงยาจำเป็นของประชาชน รวมทั้งการส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากกฎหมายเพื่อส่งเสริมการเข้าถึงยา และหลีกเลี่ยงการฟ้องร้อง ซึ่งกรมทรัพย์สินทางปัญญาเองกำลังดำเนินการปรับปรุงข้อมูลสิทธิบัตรยาอย่างต่อเนื่อง และปรับปรุงระบบสืบค้นข้อมูลสิทธิบัตรยาให้ใช้สะดวกขึ้น

รศ.ดร.อาชนัน เกาะไพบูลย์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ได้รับเชิญมาแลกเปลี่ยนผลการวิจัย เรื่องอุตสาหกรรมยาของไทยต่อการเปิดเสรีตามความตกลงการค้าเสรีต่างๆ จากการสนับสนุนของสํานักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) กล่าวว่า ความตกลงการค้าเสรีที่ยกระดับความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่จะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมยาไทยอย่างน้อย 2 ช่องทาง คือ กระทบต่อผู้บริโภค เนื่องจากการผลิตยาชื่อสามัญ (generic) ทำได้ยากขึ้น ทำให้ผู้บริโภคต้องซื้อยาต้นแบบ (original) ที่มีราคาแพง และกระทบต่อผู้ผลิตยาในประเทศเสียโอกาสในการเข้าถึงการผลิตยาคุณภาพที่ดี ทั้งนี้ การผลิตยาภายในประเทศเป็นการผลิตยาแบบชื่อสามัญที่ผลิตขึ้นโดยมีคุณสมบัติด้านเภสัชวิทยาให้เหมือนกับยาต้นแบบ  

“สถิติการส่งออกยาของไทยเพิ่มขึ้นทุกปี แสดงว่าผู้ประกอบการไทยมีความสามารถแข่งขันได้ แต่อย่างไรก็ตาม ศักยภาพส่วนใหญ่จะอยู่ในอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่สามารถเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ขณะเดียวกันรายเล็กก็เล็กลงเรื่อยๆ เช่นกัน ดังนั้น โจทย์สำคัญคือทำอย่างไรให้สนับสนุนรายใหญ่ให้เก่งขึ้น และหาทางเลือกให้รายเล็กที่ศักยภาพไม่เพียงพอได้เปลี่ยนแนวทางไปยังอุตสาหกรรมอื่นที่เหมาะสมกว่า”