ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รพ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ ประสบความสำเร็จ ใช้สารเมทาโดนแก้ติดฝิ่น เผยแต่ละปีมีผู้มาบำบัดมากขึ้น รักษาฟรี ไม่คิดค่าใช้จ่าย เผยเด็กรุ่นใหม่ไม่ติดฝิ่น แต่ติดยาบ้าแทน

พญ.พอใจ มหาเทพ นายแพทย์ชำนาญการ รับผิดชอบงานจิตเวชและยาเสพติด โรงพยาบาลแม่แตงเชียงใหม่ กล่าวว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาเมื่อปี 2557 โรงพยาบาลได้บำบัดผู้เสพติดฝิ่นและเฮโรอีน โดยชดเชยด้วย "เมทาโดน" ซึ่งเป็นสารทดแทนยาเสพติดที่แพทย์ยอมรับให้ใช้บำบัดรักษาผู้เสพติดฝิ่น แต่เนื่องจากเมทาโดนจัดเป็นยาเสพติดประเภท 2 การใช้ต้องควบคุมอย่างเคร่งครัด และอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ ซึ่งปัจจุบันมียอดคนไข้ทั้งอำเภอที่เข้ามาบำบัดในโรงพยาบาลอยู่ที่ 118 คน และในแต่ละปีมีผู้ป่วยชนเผ่ามารักษาเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ ในจำนวนที่บำบัดนี้ ได้หยุดใช้ยาเสพติดและกินเมทาโดนอย่างเดียว 38 คน ที่เหลือยังมีการใช้สลับกัน คือ ช่วงไหน ไม่ได้กินเมทาโดนก็ยังกลับไปใช้ฝิ่นและเฮโรอีนอยู่ แต่เมื่อรักษาแล้วก็ดีขึ้นหมดทุกราย เนื่องจากเวลาคนไข้หยุดใช้ยาเสพติด เขาก็มีเงินเหลือ สุขภาพดีขึ้น ไปทำงานรับจ้างได้ แต่ในกลุ่มที่ยังแก้ไม่ได้ เมื่อใช้ยาไปแล้ว 2-3 เดือน จะกลับไปใช้ยาเสพติดอีก และเวลาทำงานหนักๆ แล้วรู้สึกปวดเขาจะกลับไปใช้ฝิ่นเพื่อลดปวด 

“เมทาโดนมีต้นกำเนิดมาจากฝิ่นแล้วสกัดมาเป็นยา เป็นสารยาเสพติดประเภทที่ 2 ต้องสั่งซื้อ และขออนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) โดยโรงพยาบาลได้หัวเชื้อมาจาก อย. ก่อนจะมาผสมเป็นยาน้ำที่โรงพยาบาลตามความเข้มข้นที่เราขอ เพราะเวลาผู้ติดฝิ่นจะมีอาการลงแดงปวดเยอะ ถ้าได้กินเมทาโดนแทนการสูบฝิ่น หรือผงขาวคนไข้จะไม่ปวด ไม่ลงแดง เขาก็จะสามารถอยู่ได้และใช้ชีวิตประจำวันตามปกติ" พญ.พอใจ กล่าว

สำหรับการใช้เมทาโดนแก้ปัญหาในภาคเหนือ มีทั้งหมด 3 จังหวัด จ.เชียงใหม่ มี 4 อำเภอ เช่น อมก๋อย เชียงดาว เวียงแหง ไชยปราการ จ.แม่ฮ่องสอนมีที่ อ.ปาย และที่ จ.ตาก

พญ.พอใจ กล่าวว่า การรักษาด้วยเมทาโดน เป็นการขยายผลจากโครงการหลวงที่นำร่องเรื่องนี้มาก่อน ซึ่งคนไข้ส่วนมากจะเป็นชนเผ่าอาศัยอยู่บนดอยที่เข้าถึงยาก แต่เข้าถึงฝิ่นได้ง่ายเพราะเป็นพื้นที่ปลูกฝิ่น เหตุที่ชาวเขาติดฝิ่นเพราะเป็นวัฒนธรรมความเชื่อของเขา อย่างเผ่าลีซูจะเชื่อว่า การสูบฝิ่นถือเป็นยาและแสดงถึงความมีฐานะ มีอำนาจ ถ้าเป็นมูเซอ ก็จะสูบฝิ่นเป็นยา ช่วงเทศกาลปีใหม่ ก็จะมีใช้ และในพื้นที่เขาก็ปลูกฝิ่นจึงเข้าถึงยาง่าย 

พญ.พอใจ กล่าวว่า การรักษาจะเริ่มต้นด้วยการประชาสัมพันธ์ในหมู่บ้านผ่าน กำนัน ผู้ใหญ่ เจ้าหน้าที่อนามัย อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ช่วงแรกคนไข้อาจกลัว และมากันไม่มาก แต่เนื่องจากการรักษาในโครงการนี้ รักษาฟรี ทั้งค่ายา ค่าบำบัดทุกอย่าง ทำให้เขายอมมา เนื่องจากเขาเสียเงินกับค่ายาเสพติดวันหนึ่งไม่ต่ำกว่า 200 บาท หรือบางคนก็หลักพัน บางคนต้องขายแรงงานแลกยา และเมื่อกินยาแล้วดีขึ้นไม่ถูกจับ จึงบอกต่อ คนไข้รายอื่นจึงยอมเปิดเผยตัวแล้วมาบำบัดมากขึ้น

"ยอดการรักษาเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดีแต่ละปีเราก็คัดออก เพราะมีคนที่ไม่ตั้งใจมาบำบัดหรือใช้ยาบ้าร่วม เราก็ไม่เอา จะเหลือคนที่ตั้งใจอยากจะมาบำบัดจริงๆ แต่ยอดโดยรวมก็ยังเพิ่มขึ้นอยู่ ชนเผ่าที่ติดฝิ่นจะเป็นผู้สูงอายุ 40 กว่าๆ ขึ้นไป ส่วนรุ่นใหม่จะใช้ยาบ้าแล้ว” พญ.พอใจ กล่าว

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง