ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

โรงพยาบาลชลบุรี รักษาผู้ป่วยวันละร่วม 4,000 ราย คาดปี 2561 มีคนไข้ทะลุ 1 ล้านคน “หมอธนะสิทธิ์” ผนึกเอกชนพัฒนาแอพพลิเคชั่นคิวออนไลน์แก้ปัญหา นำร่อง 2 แผนก “อายุรกรรม-ศัลยกรรม” ได้ผลดี

นพ.ธนะสิทธิ์ ก้างกอน หัวหน้ากลุ่มงานผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลชลบุรี ในฐานะหนึ่งในผู้ร่วมคิดค้นนวัตกรรมคิวออนไลน์ผ่านแอพพลิเคชั่น Cello เปิดเผยว่า ในแต่ละวันโรงพยาบาลชลบุรีมีผู้ป่วยราวๆ 4,000 ราย แต่ละปีก็ประมาณ 8-9 แสนราย และยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งคาดการณ์ว่าในปี 2561 จะมีผู้ป่วยถึงปีละ 1 ล้านราย ขณะที่พื้นที่ของโรงพยาบาลยังมีเท่าเดิมจึงเกิดปัญหาสภาพความแออัดขึ้น

อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวเป็นหัวหน้ากลุ่มงานผู้ป่วยนอกที่ต้องแก้ปัญหานี้ จึงได้สอบถามผู้ป่วยแผนกอายุรกรรมซึ่งมีความหนาแน่นของผู้ป่วยมากที่สุด พบว่าสาเหตุของสภาพความแออัดเนื่องจากผู้ป่วยมารอคิวแล้วไม่สามารถลุกไปไหนได้ ต้องอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวเพื่อรอฟังเสียงเรียกตัว เพราะหากเจ้าหน้าที่เรียกแล้วผู้ป่วยไม่มาก็จะถูกข้ามคิวไปต่อท้ายใหม่อีกครั้ง

“เราจึงคิดหาวิธีว่าจะแก้ปัญหาอย่างไรเพื่อที่จะให้ผู้ป่วยมารอคิวแล้วกระจายตัวออกไปที่อื่นๆ ได้ ไม่ต้องมานั่งรออยู่กับที่ ซึ่งผมได้รับแรงบันดาลใจจากร้านอาหารตามห้างสรรพสินค้าที่เค้าทำคิวอาร์โค๊ด-คิวออนไลน์ คือให้โหลดแอพพลิเคชั่นของร้าน พอจองคิวปุ๊บคุณก็ไปเดินเล่นดูของเข้าร้านหนังสือก่อนได้ เมื่อโต๊ะว่างและใกล้คิวของคุณ ระบบก็จะแจ้งเตือนเอง”นพ.ธนะสิทธิ์ กล่าว

นพ.ธนะสิทธิ์ กล่าวว่า เมื่อเห็นไอเดียดังกล่าวแล้วจึงนำกลับมาปรับใช้ในโรงพยาบาล โดยได้ประสานไปยังบริษัทที่ทำแอพพลิเคชั่นดังกล่าวว่าเราอยากใช้ระบบเช่นนี้มาแก้ปัญหาความแออัดโรงพยาบาล ทางบริษัทก็บอกว่าก่อนหน้านี้ทำแต่คิวร้านอาหาร ไม่เคยทำงานเกี่ยวกับโรงพยาบาลหรือด้านสาธารณสุข จึงอยากจะมาทำร่วมกันเป็นโครงการนำร่องโดยที่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด

“เราต้องเปลี่ยนระบบของเขาเล็กน้อย เขาเป็นระบบโต๊ะอาหาร แต่เราเป็นคนไข้ และต้องพบหมอคนนั้นคนนี้ คือมันมีความซับซ้อนมากขึ้น แต่ขณะนี้ก็สามารถทำได้แล้วคือทำในรูปแบบแอพพลิเคชั่น เมื่อผู้ป่วยได้รับบัตรคิวกระดาษในนั้นก็จะมีคิวอาร์โค๊ดอยู่ ถ้าคุณไม่อยากรอนานก็ให้เปิดแอพพลิเคชั่นแล้วสแกนคิวอาร์โค๊ดไว้ เลขก็จะปรากฏขึ้นบนมือถือ สมมุติคุณได้คิวที่ 19 ตัวเลขก็จะค่อยๆ ลดลงเหลือ 18,17,16 มาเรื่อยๆ เช่น คุณมาเจาะเลือดตอนเช้าแล้วไม่ได้กินข้าวมา แต่จะลุกไปไหนก็ไม่ได้ โปรแกรมนี้จะช่วยให้คุณบริหารเวลาได้ หรือจะเดินไปรอตามร้านกาแฟ ร้านอาหรก่อนก็ได้ ไปไหนมาไหนก็ได้จนกว่าโปรแกรมจะแจ้งเตือน ซึ่งโปรแกรมนี้จะช่วยลดความเครียดของผู้ป่วยและความแออัดของโรงพยาบาลได้” นพ.ธนะสิทธิ์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม โปรแกรมดังกล่าวยังอยู่ในขั้นตอนการนำร่อง ซึ่งโรงพยาบาลชลบุรีได้ทดลองใช้ใน 2 แผนก คืออายุรกรรม และศัลยกรรม ซึ่งได้ผลดีเป็นอย่างมาก ในอนาคตจะขยายไปยังแผนกอื่นๆ แต่จำเป็นต้องศึกษาและออกแบบให้เหมาะสม เพราะแต่ละแผนกมีลักษณะเฉพาะของตัวเอง

อนึ่ง เมื่อวันที่ 14 พ.ย.2559 นพ.ชุติเดช ตาบ-องครักษ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลชลบุรี เป็นประธานเปิดการแถลงข่าว “การปรับปรุงระบบบริการผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลชลบุรี ตามช่วงเวลานัด เพื่อลดความแออัด” โดยได้รับความร่วมมือจากสถาบันไทย-เยอรมัน (TGI) และบริษัท CELLO ในการจัดทำระบบคิวออนไลน์ผ่านแอพพลิเคชั่น Cello เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ป่วยและญาติในระหว่างการนั่งพักรอ โดยสามารถดูลำดับคิวได้จากทุกบริเวณที่มีสัญญาณอินเทอร์เน็ต