ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

อาการเจ็บป่วยเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย ทุกเชื้อชาติ แต่สำหรับคนไร้สัญชาติ การเจ็บป่วยเป็นเรื่องยุ่งยากมากกว่าคนอื่น เพราะเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้ยากมาก

สา ลุงดอย ป่วยเป็นโรคลิ้นหัวใจรั่ว จำเป็นต้องพบแพทย์อย่างน้อยเดือนละครั้งเพื่อรักษาตัว แต่การเป็นคนไร้สัญชาติทำให้เธอและลูกชายรู้สึกไม่ค่อยมีหวังมากนักกับการไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลในตัวเมืองเชียงใหม่ เพราะถูกเลื่อนคิวออกไปเรื่อยๆ จึงต้องเปลี่ยนมารักษาที่คลินิกเอกชนแทน ซึ่งค่าใช้จ่ายก็จะสูงกว่าการไปโรงพยาบาลรัฐ รายได้จากการเป็นกรรมกรโรงแรมของพัน ลุงดอย ลูกชายของเธอก็ไม่มากนัก เพราะการเป็นคนไร้สัญชาติทำให้เขาเป็นได้เพียงลูกจ้างรายวัน

นายแพทย์มานพ ปรานมนตรี แพทย์ผู้รักษาเธอเล่าว่า มีคนไร้สัญชาติและคนกลุ่มน้อยเดินทางมารักษาที่คลินิกหมอมานพกันหลายคน เพราะคลินิกมีคนไข้น้อยกว่า ไม่จำเป็นต้องเร่งรีบตรวจจนเกินไป และไม่ต้องใช้เอกสารทางการอะไร

ในขณะที่ยังมีการถกเถียงกันเรื่องสิทธิรักษาพยาบาลฟรีแบบถ้วนหน้า หรือบัตรทอง พันอธิบายว่า คนไร้สัญชาติอย่างพวกเขาเพียงต้องการให้ทางการออกเอกสารที่จะทำให้พวกเขานำ ไปยืนยันตัวตนกับโรงพยาบาลได้ว่ามีนัดหมอตามวันเวลานั้นจริง และไม่ต้องถูกเลื่อนคิวไปเรื่อยๆอย่างที่ผ่านมา ทั้งที่เขาและแม่เคยเป็นบุคคลที่ถูกสำรวจคนไร้สัญชาติ เมื่อปี 2547 แล้ว แต่ถูกจำหน่ายชื่อออกพร้อมกับอีก 5,000 - 6,000 คนที่แม่แตง จนล่วงเลยมาเป็นสิบปีแล้วก็ยังไม่ได้สัญชาติคืน และก็ยังไม่มีทีท่าว่าทางการจะมีนโยบายแก้ไขปัญหาเรื่องนี้

แม้โรงพยาบาลจะไม่ปฏิเสธการรักษาคนไร้สัญชาติ แต่หากต้องใช้ค่าใช้จ่ายสูงในการรักษา คนไร้สัญชาติอาจต้องมีหนี้สินสูง ต้องหาคนค้ำประกัน หรือโรงพยาบาลอาจต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายโดยที่ไม่ได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐ

อาการเจ็บป่วยไม่ได้เลือกเพศ วัย หรือเชื้อชาติ สิทธิการเข้าถึงการรักษาพยาบาลจึงสำคัญเสียยิ่งกว่าสิทธิการศึกษา แต่ในความเป็นจริง ยังไม่ต้องพูดถึงสิทธิรักษาพยาบาลถ้วนหน้า เพียงการเข้ารับการรักษาได้โดยไม่ถูกเลือกปฏิบัติก็ยังไม่เกิดขึ้นเลยด้วยซ้ำ