ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ก.แรงงานร่วมมือ สสส.และภาคี MOU แผนบริหารแรงงานนอกระบบ หวังยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบ 21ล้านคน

เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2560 ที่โรงแรมเซนจูรี่ปาร์ค กรุงเทพฯ กระทรวงแรงงาน ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการแรงงานนอกระบบ พ.ศ.2560-2564 สู่การปฏิบัติ เพื่อทำแผนกลยุทธการขับเคลื่อนงานในจังหวัดต้นแบบ 16 พื้นที่ ร่วมกับภาคีเครือข่าย และได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงร่วม (MOU) เพื่อการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ฯ ฉบับที่ 2 สู่การปฏิบัติอย่างมีพลัง สร้างสรรค์ และสานพลังประชารัฐร่วมกัน โดยมีตัวแทนแรงงานนอกระบบจากกรุงเทพมหานครและอีก 15 จังหวัด สถาบันวิชาการ และหน่วยงานภาครัฐที่ทำงานเกี่ยวข้องกับแรงงานนอกระบบหลายภาคส่วน

นายอนุรักษ์ ทศรัตน์ รองปลัดกระทรวงแรงงาน ตัวแทนกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า เป้าหมายหลักของความร่วมมือครั้งนี้ คือเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนคนไทยที่ทำงานนอกระบบ ซึ่งมีสิทธิต่างๆที่ไม่เท่าเทียมกับอาชีพในระบบทั่วไป จึงจำเป็นต้องศึกษาแนวทางจาก15 จังหวัดที่มีเครือข่ายแรงงานนอกระบบมาถอดบทเรียน ประสบการณ์และเดินหน้าทำงานร่วมกันเพื่อให้เกิดศักยภาพที่เหมาะสมและขยายแนวทางการพัฒนาคุณภาพชีวิตนี้สู่จังหวัดต่างๆในประเทศไทย มีแนวคิดผลักดัน 3 เรื่อง คือ 1.รายได้ จะมีการพัฒนาทักษะเพื่อเพิ่มรายได้ ครอบคลุมทุกกลุ่มอาชีพ โดยส่วนหนึ่งจะนำเอาการขึ้นทะเบียนคนจนมาพิจารณาเพิ่มทักษะด้วย 2.ผลักดัน พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานนอกระบบ ให้แล้วเสร็จในปี 2560 ขณะนี้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) อยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็น และ 3.บริหารจัดการระบบการดูแลแรงงานนอกระบบแบบบูรณาการ สร้างเครือข่ายระดับพื้นที่ครอบคลุมแรงงานนอกระบบทุกกลุ่ม

“อาชีพนอกระบบมีหลายอาชีพ ทั้งคนสวน คนไร่ คนขับรถรับจ้าง แม่ค้า พ่อค้า คนงานก่อสร้าง เราจึงต้องเอาเรื่องนี้มาคุยกันแต่ที่เราเน้นให้ความสำคัญ อันดับต้นๆ คือ การใช้สิทธิรักษาพยาบาลตามหลักประกันสังคม และเรื่องความปลอดภัยในระหว่างเวลางาน ตามมาตรา40 ซึ่งหากทำได้จะช่วยให้คนไทยที่ทำงานนอกระบบเข้าถึงสิทธิด้านดังกล่าวอย่างเท่าเทียมกัน ส่วนตัวเชื่อว่าจะช่วยให้แรงงานมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในทุกด้าน” นายอนุรักษ์ กล่าว

นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. กล่าวว่า วัตถุประสงค์ในการร่วมลงนามความร่วมมือครั้งนี้ เนื่องจากสสส. ได้ตระหนักถึงปัญหาสุขภาพและความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงระบบสวัสดิการของกลุ่มแรงงานนอกระบบ จึงสนับสนุนการดำเนินงานเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบ และประสานความร่วมมือกับ กระทรวงแรงงาน กระทรวงสาธารณสุข สมาคมวิถีทางเลือกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน มูลนิธินิคม จันทรวิทุร เครือข่ายนักวิชาการจากสถาบันการศึกษาที่ให้ความสนในด้านแรงงานนอกระบบ และกลไกภาคประชาชนที่เป็นแรงงานนอกระบบในพื้นที่เป้าหมาย ภายใต้การสนับสนุนการดำเนินโครงการที่เกี่ยวข้อง 4 โครงการได้แก่ 1. โครงการการบริหารจัดการเพื่อขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการแรงงานนอกระบบ พ.ศ.2556-2559 สู่การปฏิบัติ 2. โครงการพัฒนานโยบายและกลไกการเข้าถึง ระบบการสร้างเสริมสุขภาพ ความปลอดภัยและอาชีวอนามัยสำหรับกลุ่มแรงงาน 3. โครงการจัดการความรู้เพื่อการขยายผลและพัฒนากระบวนการเชิงนโยบายการสร้างเสริมสุขภาวะแรงงานนอกระบบ และ 4. โครงการพัฒนาศักยภาพผู้นำและกลไกการนำนโยบายเพื่อการสร้างเสริมสุขภาวะกลุ่มแรงงานนอกระบบสู่การปฏิบัติระดับจังหวัด สสส. และภาคีดำเนินงานจึงได้ร่วมกันพัฒนาจังหวัดต้นแบบ 16 พื้นที่ครอบคลุมทั่วประเทศ โดยอาศัยกระบวนการพัฒนาเครือข่ายสร้างเสริมสุขภาวะแรงงานนอกระบบ รวมถึงการศักยภาพบุคคล ผู้นำแรงงาน องค์กร กลไกการจัดการ และรวบรวมองค์ความรู้ที่ใช้สนับสนุนการดำเนินงาน เพื่อบูรณาการทรัพยากรการทำงานในระดับจังหวัดให้เกิดการปฏิบัติอย่างแท้จริง ส่งผลให้แรงงานนอกระบบมีงานทำ มีรายได้ที่ดี เข้าถึงบริการของรัฐได้อย่างสะดวก ทั่วถึง จนเกิดเป็นพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบ นำไปสู่การขยายผลความสำเร็จต่อไป

ด้านนายอ๊อด สำเภาแก้ว อายุ 55 ปี อาชีพขับรถจักรยานยนต์รับจ้าง สมาชิกเครือข่ายแรงงานนอกระบบ สมุทรปราการกล่าวว่า ตนทำอาชีพรับจ้างขับรถมอเตอร์ไซต์ อำเภอพระประแดงมานานกว่า 15 ปี อยากให้ภาครัฐส่งเสริมสวัสดิการแก่แรงงานนอกระบบในฐานะผู้เสียภาษีประเทศคนหนึ่ง โดยเฉพาะการเจ็บป่วยแล้วต้องหยุดงานหลายวันนั้น บางครั้งสูญเสียรายได้หลายบาท จึงอยากให้มีการปรับปรุงระบบจ่ายเงินชดเชยคืนบ้าง

“ขณะนี้ผมใช้สิทธิรักษาพยาบาลยามป่วยด้วยบัตรทอง ใช้ยื่นคู่กับบัตรประกันสังคมในมาตรา 40 ซึ่งรัฐร่วมจ่ายบ้างผมจ่ายเองบ้าง แต่ผมคิดว่ายังได้รับสิทธิไม่เต็มที่ ผมคิดว่าถ้าให้เราจ่ายเพิ่มกว่านี้ก็ยอม แต่ถามกลับว่าแล้วเราจะได้อะไรกลับมาบ้างถ้าเราจะจ่ายเพิ่ม ผมไม่ได้อยากอยู่เฉยๆ แล้วได้เงินฟรีแต่อยากร่วมจ่าย ร่วมรับผิดชอบ อะไรก็ตามที่มีหลักประกันว่าวันหนึ่งผมขับรถแล้วเกิดอุบัติเหตุขึ้นมา จะตาย จะพิการผมได้เงินบ้าง เพราะไม่มีเงินซื้อประกันเอกชนรายปี เนื่องจากรายได้เราไม่แน่นอน” นายอ๊อดกล่าว

นายอ๊อด กล่าวด้วยว่า ทั้งนี้นอกจากสิทธิการรักษาพยาบาล ความมั่นคง ความปลอดภัยแล้วอยากให้ทุกอาชีพของแรงงานนอกระบบมีขอบเขตการทำงานที่ปลอดภัย ส่วนด้านอื่นๆที่อยากให้มี คือ ช่องทางพัฒนาทักษะเพิ่มเติม เช่น กรณีขับรถรับจ้างน่าจะมีบริการอบรมภาษาอังกฤษ ภาษาจีนบ้างให้คนขับรถทั่วไปได้บริการลูกค้าต่างชาติโดยไม่ผ่านนายหน้ากินหัวคิว

อนึ่งข้อมูลจากกระทรวงแรงงานปัจจุบันแรงงานนอกระบบในประเทศไทยมีประมาณ 21 ล้านคน ซึ่งที่ผ่านมากลุ่มแรงงานนอกระบบได้พยามยามผลักดัน ให้มีการปรับสวัสดิการตามมาตรา 40 ตามข้อเรียกร้องของกลุ่มแรงงานนอกระบบ อาทิ ปรับอัตราการชดเชยการขาดรายได้ของแรงงานนอกระบบจาก 200 บาท เป็น 300 บาท ปรับอัตราเงินชดเชยกรณีเสียชีวิตจาก 20,000 บาท เป็น 40,000 บาท และขยายสิทธิรักษาพยาบาลให้ครอบคลุมค่าใช้จ่ายเกี่ยวกลุ่มโรคเจ็บป่วยจากการทำงาน