ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สืบเนื่องจากกรณีมีรายงานข่าวว่า ที่ประชุม ครม.เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2560 ได้ถอนร่างกฎหมายการขอรับใบอนุญาต เกี่ยวกับเครื่องกำเนิดรังสี เนื่องจากยังมีปัญหาที่เกี่ยวพันกับกฎหมายข้ออื่น และเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการใช้อุปกรณ์เอ็กซ์เรย์ฟัน โดยระบุว่าเนื่องจากมีทันตแพทย์หลายคนอาจไม่เข้าใจในกฎกติกาจึงขอให้อุปกรณ์ดังกล่าวอยู่นอกเหนือกฎหมาย นั้น

ทพ.ไพศาล กังวลกิจ

ทพ.ไพศาล กังวลกิจ นายกทันตแพทยสภากล่าวถึงเรื่องดังกล่าวว่า ขอยืนยันว่าวิชาชีพทันตแพทย์ไม่ได้ขออยู่เหนือกฎหมาย และมีความเข้าใจในกฎกติกาดังกล่าวเป็นอย่างดีจนทราบว่ากฎหมายดังกล่าวไม่เป็นธรรม ขั้นตอนการร่างกฎหมายไม่มีธรรมาภิบาล ไม่เคยเชิญวิชาชีพทันตแพทย์เข้าไปมีส่วนร่วม จนทำให้ออกมาเป็นกฎหมายที่สร้างความเสียหายโดยไม่จำเป็น ทั้งยังไม่มีการการแบ่งระดับการควบคุมให้เหมาะสมกับปริมาณรังสี

นายกทันตแพทยสภา กล่าวต่อว่า ข้อเท็จจริงคือ เครื่องเอกซเรย์ฟันใช้รังสีน้อย มีความปลอดภัยสูง และอยู่ภายใต้การดูแลของวิชาชีพมาเป็นเวลานาน ทันตแพทย์ไม่ได้ขออยู่เหนือกฎหมาย แต่ขอใช้มาตรา 25 ประกอบมาตรา 18 ของ พ.ร.บ.พลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ.2559 ยกเว้นเครื่องเอกซเรย์ฟัน โดยมอบให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และสภาวิชาชีพเป็นผู้ดูแล

“ส่วนการที่บอกว่ากระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ชี้แจงว่าเป็นไปไม่ได้ ขอยืนยันว่า หากพิจารณาตามมาตรฐานทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) จะเห็นว่า การควบคุมเครื่องเอกซเรย์ทันตกรรมไม่ได้ดูที่ปริมาณรังสีอย่างเดียว แต่ดูปัจจัยด้านอื่นด้วย และประเทศที่พัฒนาแล้วหลายประเทศ ยกเว้นเครื่องเอกซเรย์ฟันไม่อยู่ใต้กฎหมายนี้ แต่ให้อยู่ใต้การดูแลของหน่วยงานด้านสาธารณสุขและการดูแลของสภาวิชาชีพ ที่มีหน้าที่โดยตรงอยู่แล้ว” ทพ.ไพศาล กล่าว