ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สพฉ.สรุปสถิติการให้บริการตามสิทธิ UCEP ตลอดเดือนเมษายน พบผู้ป่วยขอใช้สิทธิมากกว่า 3 พันคน เป็นผู้ป่วยเข้าเกณฑ์ 1,216 คน พร้อมเปิด 5 จังหวัดที่มีการขอใช้บริการมากที่สุด พบกรุงเทพครองแชมป์ รองลงมาเป็นสมุทรปราการและชลบุรี ด้านเลขาธิการ สพฉ.ย้ำประชาชนจดจำสายด่วน 1669 เพื่อช่วยในการนำส่งผู้ป่วยเข้ารับรักษาในโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้ได้อย่างทันท่วงที

นพ.อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ได้สรุปผลการปฏิบัติงานของศูนย์ประสานคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (ศคส.สพฉ.) หรือ UCEP Coordination Center ตั้งแต่วันที่ 1-30 เมษายน พบสถิติผู้ขอใช้สิทธิทั้งสิ้น 3,024 ราย โดยเป็นผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์ 1,216 คน คิดเป็นร้อยละ 40.21 และไม่เข้าเกณฑ์ 1,808 คน คิดเป็นร้อยละ 59.79 ซึ่งเมื่อนำมาจำแนกตามสิทธิการรักษาพยาบาลพบว่าเป็นผู้ป่วยที่ใช้สิทธิการรักษาจากหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า 1,796 คน สิทธิสวัสดิการพยาบาลข้าราชการ 485 คน สิทธิประกันสังคม 655 คน และสิทธิกองทุนอื่นๆ อีก 88 คน

5 อันดับจังหวัดที่มีการขอใช้บริการมากที่สุดมีดังนี้

1.กรุงเทพมหานคร 2,023 คน

2. สมุทรปราการ 113 คน

3. ชลบุรี 77 คน

4. พิษณุโลก 122 คน

5. นนทบุรี 65 คน

เลขาธิการ สพฉ. กล่าวว่า จากสถิติจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าประชาชนจำนวนมากที่ไปขอใช้สิทธิ UCEP นั้นกว่าครึ่งหนึ่งไม่ได้เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต จึงอยากให้ประชาชนทุกคนจดจำอาการฉุกเฉินวิกฤตที่สามารถใช้สิทธิได้ให้ขึ้นใจว่า ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตที่จะขอใช้บริการฉุกเฉินตามตามสิทธิ UCEP นั้นจะต้องเป็นผู้ป่วยที่ประกอบไปด้วย 6 อาการต่างๆ ดังนี้ หมดสติ ไม่รู้สึกตัว ไม่หายใจ หายใจเร็ว หอบเหนื่อยรุนแรง หายใจติดขัดมีเสียงดัง ซึมลง เหงื่อแตก ตัวเย็น หรือมีอาการชักร่วม เจ็บหน้าอกเฉียบพลัน รุนแรง แขนขาอ่อนแรงครึ่งซีก พูดไม่ชัด แบบปัจจุบันทันด่วน หรือชักต่อเนื่อง ไม่หยุด หรือมีอาการอื่นร่วมที่มีผลต่อการหายใจระบบการไหลเวียนโลหิตและระบบสมองที่อาจเป็นอันตรายต่อชีวิต

หากพบเห็นผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตตาม 6 อาการดังกล่าวนี้ ให้รีบโทรขอความช่วยเหลือที่สายด่วน 1669 เพื่อให้เจ้าหน้าที่นำผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตไปส่งยังโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดเพื่อทำการรักษาให้ได้อย่างทันท่วงที ซึ่งการนำผู้ป่วยไปส่งเพื่อทำการรักษานั้นไม่จำเป็นจะต้องเจาะจงไปที่โรงพยาบาลเอกชน แต่จะต้องเป็นโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้ที่สุดไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลของรัฐ หรือเอกชนก็ได้ เพราะการเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตนั้นหากช้าไปแม้แต่วินาทีเดียว หมายถึงการรอดชีวิตของผู้ป่วยหรือความพิการหรือเสียชีวิตได้