ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“มะเร็งลำใส้ใหญ่ รู้เร็ว รักษาได้” สปสช.ร่วมกับเขตบริการสุขภาพที่ 7 จัดโครงการตรวจอุจจาระ ชาว “ร้อยแก่นสารสินธุ์” ช่วงอายุ 50-70 ปี หวังลดผู้ป่วยมะเร็งลำใส้ใหญ่ หลังพบอัตราการตายพุ่งสูงทุกปี เหตุจากวิถีชีวิตและพฤติกรรมการกินที่เปลี่ยนไป

นพ.ปิติ ทั้งไพศาล

นพ.ปิติ ทั้งไพศาล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด เปิดเผยว่า จากสถิติอัตราการตายของคนจังหวัดร้อยเอ็ดด้วยโรคมะเร็งทั่วประเทศในปี 2554 พบว่ามีผู้เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งทุกชนิดในจังหวัดร้อยเอ็ดเป็นอันดับ 3 และปี 2555 ได้ขยับขึ้นมาเป็นอันดับ 2 และเมื่อมาแยกประเภทของโรคมะเร็งที่เป็นสาเหตุการตายก็พบว่า มะเร็งที่เป็นมากคือมะเร็งตับและท่อน้ำดี รองลงมาคือมะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก มะเร็งลำใส้ใหญ่จะไม่พบมากนัก แต่ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาพบว่าผู้ป่วยมะเร็งลำใส้ใหญ่มากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะการตรวจหามะเร็งมีความแม่นยำมากขึ้น โดยโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่เป็นมะเร็งที่พบบ่อยของประเทศไทยเป็นลำดับที่สามในผู้ชายและลำดับที่สี่ในผู้หญิง และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากวิถีชีวิตและอาหารการกินที่เปลี่ยนไปจากอดีต โดยในพื้นที่ 4 จังหวัด “ร้อยแก่นสารสินธุ์” ปี 2557 พบผู้ป่วยมากกว่า 939 ราย และส่วนใหญ่พบเมื่อเป็มะเร็งระยะท้ายๆ ทำให้มีอัตราการรอดชีวิตต่ำ และมีค่าใช้จ่ายสูงในการรักษา 

นพ.ปิติ กล่าวว่า เมื่อเห็นข้อมูลแบบนี้ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ดและโรงพยาบาลร้อยเอ็ด เขตสุขภาพที่ 7 กระทรวงสาธารณสุข โดยการสนับสนุนงบประมาณสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 7 ขอนแก่น จึงได้ดำเนินโครงการป้องกันควบคุมมะเร็งลำไส้ใหญ่เชิงรุก ในปี 2560 โดยขยายการดำเนินงานให้ครอบคลุมพื้นที่ทั้ง 4 จังหวัด คือ กาฬสินธุ์ ขอนแก่น มหาสารคาม และร้อยเอ็ด เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการของประชาชนให้มากขึ้น โดยมีเป้าหมายคือ การคัดกรองอุจจาระด้วยวิธีชีวเคมี (FIT) ในประชากรกลุ่มเสี่ยง อายุ 50 - 70 ปี จำนวน 72,000 ราย และรายที่มีผลผิดปกติจะได้รับการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ ณ โรงพยาบาลประจำจังหวัด และได้รับการดูแลรักษาที่เหมาะสมต่อไป คาดว่าจะสามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ไม่น้อยกว่า 20 ราย และป้องกันรอยโรคก่อนมะเร็งอีกราว 231 ราย 

“ทางเขตบริการสุขภาพที่ 7 มีความหวังว่าหลังจากที่โครงการนี้เสร็จสิ้น จะทำให้ได้เห็นถึงความคุ้มค่าในการลงทุนเพื่อตรวจคัดกรองโรคมะเร็งลำใส้ใหญ่ รวมไปถึงโรคมะเร็งในอวัยวะอื่นๆ ของภาคอีสาน ซึ่งข้อมูลที่ได้จะเป็นข้อเสนอให้กับรัฐบาลและ สปสช.ได้นำไปพัฒนาเป็นนโยบายเพื่อการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ต่อไป และยังจะได้เห็นถึงความคุ้มค่าในการรักษาโรคมะเร็งในระยะเริ่มต้น เพราะหากสามารถตรวจพบโรคมะเร็งได้ตั้งแต่ระยะแรกก็จะสามารถรักษาให้หายได้ง่ายกว่าตรวจพบในระยะท้ายๆ” นพ.ปิติ กล่าว

นายวิชิต นารักษ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) บ้านหนองแวง อ.เมือง จ.ร้อยเอ็ด กล่าวว่า ในการตรวจคัดกรองนั้น ทาง รพ.สต.จะขอความร่วมมือจาก อสม.ที่อยู่ทุกหมู่บ้านขอให้กลุ่มเป้าหมายในการตรวจคัดกรองคือผู้ที่มีอายุ 50-70 ปี เข้ามารับการตรวจอุจจาระ โดยในพื้นที่ตำบลหนองแวงมีกลุ่มเป้าหมายที่ต้องเข้ารับการตรวจในรอบแรกจำนวน 480 คน แต่มีผู้มาตรวจ 475 คน พบว่าผลการตรวจอุจจาระมีความผิดปกติ 8 คน แต่ที่ต้องส่งไปโรงพยาบาลร้อยเอ็ดเพื่อตรวจแบบส่องกล้องมีเพียง 4 คน หากพบว่าเป็นมะเร็งลำใส้ใหญ่ก็จะได้รับการรักษาพยาบาลตามสิทธิบัตรทอง ไม่ต้องกังวลเรื่องค่าใช้จ่าย และเมื่อทางโรงพยาบาลร้อยเอ็ดส่งตัวผู้ป่วยกลับมาที่พื้นที่ ทาง รพ.สต.และ อสม.ก็จะช่วยดูแลและติดตามผลการรักษาอย่างต่อเนื่อง  

ทั้งนี้ เมื่อปี พ.ศ. 2552 ได้มีบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ กระทรวงสาธารณสุข โดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ดและโรงพยาบาลร้อยเอ็ด และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อดำเนินโครงการความร่วมมือในการพัฒนาระบบการป้องกันและควบคุมโรคมะเร็ง ณ จังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่งมะเร็งลำไส้ใหญ่เป็นหนึ่งในความร่วมมือเริ่มแรก โดยปี 2553 มีการคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ในประชากรกลุ่มเสี่ยง (อายุ 50 ปีขึ้นไป) จำนวน 9,755 ราย ในอำเภอพนมไพรและอำเภอหนองฮี จังหวัดร้อยเอ็ด โดยการตรวจอุจจาระด้วยวิธีชีวเคมี (Fecal immunochemical test – FIT) ซึ่งเป็นวิธีการตรวจคัดกรองที่มีความไวและความจำเพาะสูง พบผิดปกติ 828 ราย (ร้อยละ 8.5) ผู้ที่พบความผิดปกติได้รับการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ (Colonoscopy) จำนวน 631 ราย (ร้อยละ 76.2%) พบความผิดปกติและได้รับการตัดชิ้นเนื้อ จำนวน 183 ราย (ร้อยละ 29) พบเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ จำนวน 10 ราย ผู้ป่วยได้รับการผ่าตัดและติดตามระยะ 5 ปี พบว่ายังมีชีวิตอยู่ทั้งหมด 

นอกจากนี้ยังสามารถพบรอยโรคระยะก่อนเป็นมะเร็ง (Adenomatous polyp) จำนวน 119 ราย และผู้ป่วยได้รับการตัดชิ้นเนื้อออก ซึ่งเป็นการป้องกันโรคอีกด้วย ผลการดำเนินโครงการนี้ทำให้ทราบว่ามีมะเร็งลำไส้ใหญ่ซ่อนเร้นอยู่ในประชากรจำนวนมาก และมีวิธีการที่สามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยเหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งหากมีการขยายบริการมากขึ้น ก็จะสามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน โครงการในปี 2560 นี้จึงเป็นการต่อยอดจากคามร่วมมือดังกล่าว.