ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ในระยะเวลา 3-4 เดือนที่ผ่านมามีข่าวมากมายเกี่ยวกับมาตรการต่างๆ ที่รัฐบาลกำลังคิดกำลังทำเพื่อช่วยเหลือผู้สูงอายุ ซึ่งในบางมาตรการก็ยังเป็นที่กังขา

สราวุธ ไพฑูรย์พงษ์ (ผู้เขียน)

ความจริงที่เป็นที่รู้กันในขณะนี้คือประเทศไทยที่ได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Ageing Society) ตั้งแต่ปี 2546 โดยมีประชากร อายุ 60 ปีหรือมากกว่าเป็นจำนวน 6.6 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 10 ของประชากรทั้งหมด จากนั้นมา ในปี 2558 จำนวนผู้สูงอายุก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนเป็น 10.5 ล้านคน และคิดเป็นร้อยละ 16 ของประชากรทั้งหมด และจะเพิ่มเป็น 14 ล้านคน หรือร้อยละ 20 ในอีก 4 ปีข้างหน้าโดยจะเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) ในตอนนั้น และจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆเป็น 21 ล้านคนและเป็นสังคมผู้สูงอายุสุดยอด (Super Aged Society) ในอีก 18 ปีข้างหน้า โดยมีผู้สูงอายุคิดเป็นร้อยละ 30 ของประชากรทั้งหมด

การเปลี่ยนแปลงเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแต่ละระยะจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศและสวัสดิการของผู้สูงอายุอย่างไม่ต้องสงสัย ทั้งนี้มีผู้สูงอายุเพียงร้อยละ 38 เท่านั้นที่ยังทำงานอยู่ด้วยเหตุผลต่างๆ ทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม ที่สำคัญ จากการสำรวจประชากรผู้สูงอายุของประเทศไทย ปี 2557 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่า 1 ใน 3 ของผู้สูงอายุมีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน (2,647 บาท/เดือน) หรือประมาณ 3 หมื่นบาทต่อปี

สวัสดิการความช่วยเหลือหลักๆ ที่ผู้สูงอายุได้รับคือร้อยละ 37 ของผู้สูงอายุได้รับเงินจากบุตร ร้อยละ 34 มีรายได้จากการทำงาน ผู้สูงอายุที่มีรายได้จากเบี้ยยังชีพ มีเพียงร้อยละ 15 (ต่ำกว่าตัวเลขกระทรวงการคลังมาก-ไปตรวจสอบกันเอง) ซึ่งในปี 2557 ผู้สูงอายุที่มีอายุ 60-69 จะได้รับเบี้ยเดือนละ 600 บาท/เดือน เพิ่มเป็น 700 บาท/เดือนสำหรับผู้มีอายุ 70-79 ปี 800 บาท/เดือนสำหรับผู้อายุ 80-89 ปี และ 1000 บาท/เดือนสำหรับผู้อายุ 90 ปีขึ้นไป ส่วนผู้ที่มีรายได้จากบำเหน็จบำนาญมีผู้สูงอายุเพียงร้อยละ 5 เท่านั้น

ต้องชมรัฐบาล คสช.ว่ามีความตื่นตัวเรื่องสังคมผู้สูงอายุมากและมีมาตรการต่างๆ ออกมารองรับมากมายหลายอย่าง อาทิ

แผนงานด้านเศรษฐกิจเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุที่กระทรวงการคลังเสนอและผ่านมติ ครม. ไปเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2559 ขณะนี้ผ่านมากว่า 5 เดือน แผนงานเริ่มเห็นชัดเป็นรูปธรรมมากขึ้น

แผนส่งเสริมการจ้างงานผู้สูงอายุ โดยมีมาตรการด้านภาษีเพื่อสนับสนุนบริษัทเอกชนจ้างคนอายุเกิน 60 ปีทำงาน นำรายจ่ายมาหักภาษี 2 เท่า แม้กฎหมายประกาศเมื่อเดือนมีนาคม 2560 แต่ให้มีผลย้อนหลังตั้งแต่ปี 2559

แผนงานสร้างที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุ กรมธนารักษ์นำร่องด้วยการนำที่ราชพัสดุให้กลุ่มโรงพยาบาลเช่าในราคาถูก เพื่อทำที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุแบบครบวงจร (Senior Complex) โดยลงนามไปแล้วกับโรงพยาบาลรามาธิบดีในพื้นที่สมุทรปราการ และเตรียมทำในอีก 4 พื้นที่ คือ เชียงใหม่ ประจวบคีรีขันธ์ นครนายก และชลบุรี คาดว่าจะมีที่พักอาศัยรวมกันไม่น้อยกว่า 2 พันยูนิต

แผนด้านสินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ (Reverse Mortgage: RM) เป็นรูปแบบใหม่ของสินเชื่อ ด้วยการให้ผู้สูงอายุที่มีบ้าน คอนโดมิเนียม แบบปลอดภาระหนี้ มาขอสินเชื่อกับธนาคารออมสิน และธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) โดยรับเงินเป็นรายเดือนเพื่อใช้ดำรงชีพ สามารถอาศัยอยู่ได้จนกว่าจะเสียชีวิต ซึ่งธนาคารออมสินเปิดตัวไปแล้ว ส่วน ธอส.อยู่ระหว่างการแก้กฎหมาย เพื่อให้ดำเนินการได้ (ผู้เขียนไม่ค่อยตื่นเต้นกับมาตรการนี้เท่าไหร่ เพราะถ้ามีอสังหาริมทรัพย์ก็สามารถเอาเข้าธนาคารทำ Overdraft: OD ได้เงินมาใช้ตามต้องการอยู่แล้วไม่ต้องรอรับเป็นเดือนๆ)

แผนในเรื่องบำเหน็จบำนาญซึ่งกำลังยกร่างกฎหมายกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ (กบช.) หรือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพภาคบังคับ สำหรับแรงงานอายุตั้งแต่ 15-60 ปี คาดว่าจะเปิดรับสมาชิกในช่วงปี 2561 โดยมีเป้าหมาย คือ ต้องการให้คนหลังเกษียณมีรายได้ต่อเดือน 50% ของเงินเดือนเดือนสุดท้าย

รัฐบาลยังดูแลเรื่องการประกอบอาชีพด้วย โดยในปีนี้ตั้งเป้าให้ผู้สูงอายุมีงานทำและมีรายได้เพิ่ม 39,000 อัตรา โดยเฉพาะในชนบทผ่านวิสาหกิจชุมชน รวมทั้งการพยายามเพิ่มจำนวนสมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติ เพื่อให้ประชาชนมีเงินออมไว้ใช้ยามเกษียณ

อย่างไรก็ตาม บางมาตรการก็ยังเป็นที่สงสัยของผู้สูงอายุอยู่ว่าจะทำเพื่อใคร หรือทำได้แค่ไหน

ที่ฮือฮามาก คือ แนวคิดที่กระทรวงการคลัง เตรียมทบทวนยกเลิกจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ให้กับผู้สูงอายุที่มีรายได้เกิน 9 พันบาทต่อเดือน หรือมีทรัพย์สินเกิน 3 ล้านบาท คาดช่วยรัฐประหยัดงบได้กว่าหมื่นล้าน รวมทั้งแนวคิดเพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเป็นรายละ 1,200-1,500 บาท เพื่อให้เหมาะสมกับการครองชีพในปัจจุบัน โดยระหว่างนี้กำลังศึกษารายละเอียด เช่น การระดมเงินทุนจากแหล่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือกองทุนสนับสนุนการกีฬา รวมถึงเงินที่ผู้สูงอายุที่มีฐานะดีอยู่แล้วและยอมเสียสละเบี้ยยังชีพคนชราอีกส่วนหนึ่ง จัดตั้งเป็นกองทุนผู้สูงอายุ

ตามข่าวกล่าวว่า กองทุนผู้สูงอายุจะนำเงินไปเพิ่มเบี้ยยังชีพให้แก่คนชราที่มีประมาณ 10 ล้านคน โดยเฉพาะกลุ่มคนชราที่ยากจน หรือมีรายได้ไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี ซึ่งมีอยู่ประมาณ 2,000,000 คน จากการสำรวจตามโครงการลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อย ทั้งนี้ เมื่อได้ข้อสรุปที่ชัดเจนหลังการลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อยรอบที่ 2 แล้ว ก็จะนำเข้าสู่การพิจารณาของ ครม.

มาถึงตรงนี้ ผู้เขียนสังเกตว่ารัฐบาลเริ่มสับสนระหว่างกองทุนที่จะตั้งขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือผู้สูงอายุ กับกองทุนผู้สูงอายุที่มีอยู่เดิมและตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ พ.ศ.2546 ว่าน่าจะเป็นคนละกองทุนกัน รวมทั้งตัวเลขที่อ้างอิงที่ต่างจากการสำรวจประชากรสูงอายุโดยหน่วยงานของรัฐด้วยกัน

น่าจะคลำเป้าให้แม่นๆ หน่อย มาตรการต่างๆ จึงจะประสบความสำเร็จ.