ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ม๊อบทันตแพทย์ร้อง พล.อ.ประยุทธ์ ปลดล็อก กม.พลังงานนิวเคลียร์ฯ ยื่น 2,000 รายชื่อวอนเปิดช่องให้อยู่ภายใต้มาตรา 25 และมาตรา18 มาประกอบกัน เพื่อให้แพทย์ปฎิบัติงานได้ตามหลักสากล “เครือข่ายทันตอาสา” ชำแหละ พ.ร.บ.ส่อหาช่องทางแสวงหาผลประโยชน์ ชี้ส่งผลเสียพัฒนาทางวิชาชีพไม่เกิดประโยชน์-เพิ่มภาระประชาชน

มีความเคลื่อนไหวที่น่าจับตามอง พ.ร.บ.พลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ  ซึ่งขณะนี้ พ.ร.บ.ดังกล่าวมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่1ก.พ. รอเพียงในส่วนของการเห็นชอบร่างกฎหมายลูกประกอบ พ.ร.บ.พลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ.2559 ตามที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเสนอมาเพื่อให้เสร็จสมบูรณ์ ซึ่งก่อนหน้านี้ ได้เสนอมา 7 ฉบับ แต่ถอนไป 1 ฉบับ คือ ร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับหลักเกณฑ์วิธีการเงื่อนไขการขอรับใบอนุญาต เกี่ยวกับเครื่องกำเนิดรังสี ซึ่งยังมีปัญหาเกี่ยวพันกับเรื่องการใช้อุปกรณ์เอกซเรย์ฟัน เพื่อนำไปสู่การพิจารณาใหม่เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2560 ที่ผ่านมา

เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2560 เวลา10.00 น. ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ ทำเนียบรัฐบาล ทพ.สัมฤทธิ์ จิโรจน์วณิชชา ทันตแพทย์เชี่ยวชาญด้านทันตสาธารณสุข นำกลุ่มทันตแพทย์ ผู้ได้รับผลกระทบจาก พ.ร.บ.นิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ.2559 กว่า 200 คน ซึ่งส่วนใหญ่ได้รวมตัวกันที่สนามม้านางเลิ้ง และส่งตัวแทน 40 คนเข้ายื่นรายชื่อทันตแพทย์กว่า 2,000 รายชื่อ พร้อมข้อมูลและข้อเสนอแนะต่างๆ ถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ผ่านทางนายพันธ์ศักดิ์ เจริญ ผู้อำนวยการส่วนประสานมวลชนและองค์กรประชาชน พร้อมทั้งมอบดอกไม้ขอบคุณที่ถอดร่างกฎหมายควบคุมการใช้อุปกรณ์เอกซเรย์ฟัน เพื่อนำไปสู่การพิจารณาใหม่ จากนั้นได้เดินทางไปยื่นหนังสือต่อนายอลงกรณ์ พลบุตร รองประธานสภาขับเคลื่อนสภาปฏิรูปประเทศ (สปท.) คนที่ 1 ที่รัฐสภา ต่อประเด็นดังกล่าวด้วย

ทพ.เผด็จ ตั้งงามสกุล แกนนำเครือข่ายทันตอาสา กล่าวว่า กฎหมายดังกล่าวมีเจตนาควบคุมปฎิกรปรมาณูขนาดใหญ่ หรืออุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับกัมมันตรังสี กำลังสร้างปัญหาในการตีความโดยเฉพาะเรื่องเครื่องเอกซเรย์ขนาดเล็กคือเครื่องมือเอกซเรย์ทันตกรรมจะถูกเหมารวมควบคุมเข้าไปด้วยในการกำกับดูแล เช่นเดียวกับวัตถุกัมมันตรังสีและวัตถุนิวเคลียร์ที่มีความร้ายแรงของกระทรวงวิทย์ฯ ซึ่งที่ผ่านมาเครื่องเอกซเรย์ทันตกรรมอยู่ภายใต้การดูแลของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขอยู่แล้ว

“ขอตั้งข้อสังเกตในเรื่องความไม่ชอบมาพากลของกฎหมายดังกล่าวคือ การให้มีเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยทางรังสีเพิ่มขึ้นเพื่อดูแลควบคุมเครื่อง ซึ่งในความเป็นจริง ที่มาของเจ้าหน้าที่ คือการเอาไว้ติดตามหลังมีการทดลองปรมาณูหรือ นิวเคลียร์ เพื่อติดตามผลกระทบ ซึ่งไม่มีความจำเป็นสำหรับใช้ในห้องทำฟัน  ที่ปกติมีเพียงทันตแพทย์และผู้ช่วย โดยตัวหมอฟันก็เป็นผู้ดูแลรับผิดชอบทั้งหมดอยู่แล้ว ซึ่งการอ้างเรื่องเพื่อให้เกิดความปลอดภัยสูงสุด หรือควบคุม ถือเป็นเรื่องที่ดีแต่โดยหน้าที่เหล่านี้ควรจะเป็นผู้ติดตามดูแลในอุตสาหกรรมใหญ่ๆ ที่ส่งผลกระทบมากมาย มิใช่เป็นตำแหน่งที่มีไว้ในห้องหมอฟัน และที่ผ่านมาการใช้เครื่องเอกซเรย์เพื่อการวินิจฉัยของหมอฟัน ไม่มีปรากฎว่าคนไข้ได้รับผลกระทบจากสารรังสีเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาว หรือเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ซึ่งไม่มีหลักฐานปรากฎมาเลย" ทพ.เผด็จ กล่าว

ทพ.เผด็จ กล่าวต่อว่า ผลที่จะตามมาคือ ประชาชนไม่ได้รับประโยชน์อะไรจากตัว พ.ร.บ.ดังกล่าว และกลายเป็นกฎหมายซ้อนกฎหมาย เพิ่มความยากลำบากให้กับการทำงานของหมอฟัน แล้วประชาชนจะเสียประโยชน์ในการรักษาตามมาตรฐานทางทันตกรรม ภายใต้คำกล่าวอ้างเรื่องความปลอดภัย ซึ่งที่ผ่านมามีมาตรฐานความปลอดภัยรองรับอยู่แล้วในเครื่องเอกซเรย์ที่ใช้ โดยผ่านการตรวจสอบมาตรฐานจากสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) ขณะเดียวกันการเขียนกฎหมายควบคุมการครอบครองและการใช้งานเครื่องมือวินิจฉัยทางทันตกรรม ซึ่งมีอันตรายน้อยมาก โดยใช้อัตราโทษทางอาญาที่รุนแรง  เช่น จำคุก 5 ปี ปรับ 500,000 บาท  ความผิดตาม พ.ร.บ.เพียงแค่ขาดเอกสารจากหน่วยงาน แม้จะตรวจสอบความปลอดภัยและปฎิบัติตามขั้นตอนความปลอดภัยทางรังสีตามหลักวิชาการ ก็จะถูกลงโทษ ซึ่งสุดท้ายจะทำให้ภาระค่าใช้จ่ายแพงขึ้นและเป็นภาระต่อประชาชนขึ้นไปอีก

ทพ.เผด็จ กล่าวว่า ขอเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีดูแลปัญหาดังกล่าวนี้ ซึ่งปริมาณรังสีผลวินิจฉัยทางทันตกรรม มีปริมาณน้อยมากไม่ว่าจะเทียบกับปริมาณรังสีตามธรรมชาติ หรือรังสีทางการแพทย์ ทั้งลักษณะการใช้งาน สามารถวางมาตรการและปฎิบัติเพื่อลดระดับรังสีต่อผู้ป่วย ผู้ปฎิบัติงาน และประชาชนทั่วไปได้อย่างดี มีปริมาณต่ำจนไม่สามารถหาความสัมพันธ์หรือส่งผลกระทบต่อร่างกายในระยะยาวได้ ซึ่งอยากให้นายกรัฐมนตรีในฐานะประธานคณะกรรมการพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ ปลดล็อคปัญหาโดยให้อยู่ภายใต้มาตรา 18 วัตถุกัมมันตรังสีใดที่ไม่อยู่ภายใต้การควบคุมตามพ.ร.บ.นี้ ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง และมาตรา 25 ให้นำบทบัญญัติในมาตรา 18 ใช้บังคับกำหนดเครื่องกำเนิดรังสีที่ไม่อยู่ภายใต้การควบคุมตาม พ.ร.บ.นี้โดยอนุโลม ควบคุมให้อยู่ใน พ.ร.บ.และปฎิบัติงานได้ตามหลักสากล 

"มาตราที่ร้องขออยู่ในหมวด 3 วัสดุกัมมันตรังสี และเครื่องกำเนิดรังสี สามารถปลดล็อคปัญหาตามมาได้ และควรนำกฎหมายในส่วนทันตกรรมไปใช้ดูแลอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับกัมมันตรังสีหนักซึ่งส่งผลอันตรายต่อประชาชนอย่างชัดเจน”

ทพ.เผด็จ กล่าวว่า ท้ายที่สุดแล้วหากปัญหาไม่ได้รับการแก้ไข เครือข่ายฯ ก็ต้องเข้าสู่กระบวนการศาล เพราะพวกเราไม่มีทางเลือกอย่างอื่น ขณะเดียวกันมาตรา 77 ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เองก็ระบุชัดเจนว่า การออกกฎหมายใดๆ กำหนดให้รัฐพึงจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้อง พร้อมวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายอย่างรอบด้านและเป็นระบบรับฟังกฎหมายที่เป็นประโยชน์ ซึ่งพวกเราต้องการอยู่ภายใต้กฎหมายที่ดูแลอย่างเหมาะสม ไม่ใช่กฎหมายซ้อนกฎหมาย ขณะเดียวกันในมาตรฐานสากล หรือเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ เช่น เกาหลี หรือสหรัฐฯ ทันตแพทย์สามารถใช้เครื่องเอกซเรย์ได้ โดยไม่ต้องขอใบอนุญาตจากหน่วยงานอื่น โดยให้อยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงสาธารณสุข ไม่ใช่ว่าให้กระทรวงวิทย์ฯ เข้ามาดูแล ซึ่งมันไม่ได้ทำให้ประชาชนได้รับความปลอดภัยเพิ่มขึ้น มีแต่ส่งผลกระทบกับประชาชน"

ขณะที่ ทพ.สัมฤทธิ์ กล่าวว่า เจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.ดังกล่าว คือควบคุมดูแล โรงงานปรมาณูนิวเคลียร์ หรือการจำกัดกากขยะปรมาณู แต่สุดท้ายก็มีการสอดไส้เครื่องเอกซเรย์ทันตกรรมฝังเข้าไปด้วย ซึ่งพวกเรามองว่าเป็นไปเพื่อการหาช่องทางแสวงหาผลประโยชน์ของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งซึ่งทำให้ส่งผลกระทบต่อประชาชนในอนาคต ทั้งนี้เครื่องเอกซเรย์ที่ใช้ในทันตกรรมเกิดปัญหาน้อยมากๆ ไม่ต่างอะไรกับการใช้หลอดไฟธรรมดา จึงเป็นที่มาของข้อกังขาว่า ทำไมถึงต้องมาควบคุมและรวมเครื่องเอกซเรย์ของหมอฟันเข้าไปด้วยในกฎหมายนี้ 

“เมื่อเปรียบเทียบอาวุธปืนกับหนังสติ้กซึ่งต้องการให้หนังสติ้กขึ้นทะเบียนด้วย เมื่อเรายิงหนังสติ้กออกไปโดยไม่ขึ้นทะเบียนเราก็จะได้รับโทษหนักเท่ากับอาวุธปืน หรือทั้งจำทั้งปรับ หมอฟันที่ครอบครองเครื่องเอ็กซเรย์ก็ได้ร้บบทลงโทษรุนแรง ซึ่งท้ายที่สุดแล้วกฎหมายฉบับนี้ออกมา ประชาชนจะไม่ได้ประโยชน์อะไร วิชาชีพก็ไม่ได้มีการพัฒนา และจะส่งผลในด้านจิตใจทำให้ประชาชนกลัวการเอกซเรย์ของหมอฟัน เกิดความระแวงในการทำงาน  ประชาชนก็สูญเสียค่าใช้จ่ายทั้งทางตรงทางแฝง ซึ่งมันมีแต่เสียประโยชน์กับสิ่งที่จะเกิดขึ้น" ทพ.สมฤทธิ์ กล่าว

เรื่องที่เกี่ยวข้อง