ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เมื่อมีปัญหากับ สธ. สปสช.หรือ ก.พ.ทีไร ประเด็นการแยกตัวออกมาเป็นเอกเทศ จะกลับมาอีกครั้ง ทั้งไปอยู่ท้องถิ่น ออกจาก ก.พ. หรือตั้งกรมปฐมภูมิ ตอนนี้มีปัญหาดราม่าการบรรจุพยาบาล หลายวิชาชีพเริ่มมีการปลุกแนวคิดอยากออกจาก ก.พ.อีกครั้ง แต่นักสาธารณสุขและชมรม ผอ.รพ.สต.ตกผลึกแล้วว่า การแยกตัวจาก สธ.ต้องมุ่งไป สสปช.(สำนักงานส่งเสริมสุขภาพประชาชนแห่งชาติ) เท่านั้น และเป็นแนวทางที่ดีที่สุดที่เราเลือกตอนนี้

เพราะอยู่ สธ.ไป จะยิ่งถูกลดบทบาทไปจนสูญพันธ์ไปในที่สุด หากพิจารณาจากข้อมูลความเหลื่อมล้ำและชนชั้นที่เห็นและเป็นอยู่ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันของกระทรวง สธ.ที่นักสาธารณสุขพบเจอและมีผลต่อการตัดสินใจ มี 9 ข้อคร่าวๆ ดังนี้

1.การถอดบทเรียน PCC จากพื้นที่ 24 แห่ง แต่ดันไม่เข้าใจบริบทของ นวก.สาธารณสุข และ จพ.สาธารณสุขใน รพ.สต. กลับไปมองเป็นคนเขียนรายงาน คนทำสื่อสุขศึกษา หรือ back office มากกว่า (ซึ่งที่จริงเป็นงานที่เป็น subset ของงานบริหารสาธารณสุขและงานอื่นๆ) ทำให้สะท้อนว่าคนที่ถอดบทเรียนมีความเข้าใจในวิชาชีพสาธารณสุขน้อยมาก (อาจได้รับสารที่ไม่ครบถ้วนนัก) กลับมองข้ามงานหลักซึ่งเป็นบทบาทหลักของวิชาชีพนักสาธารณสุขไป เช่น งานส่งเสริมสุขภาพ งานควบคุมป้องกันโรคและระบาดวิทยา งานบำบัดรักษาเบื้องต้น งานฟื้นฟูสภาพ และงานบริหารงานสาธารณสุขและกฏหมายสาธารณสุข ฯลฯ ซึ่งนักวิชาการสาธารณสุข จพ.สาธารณสุขทำมาตลอด

PCC ยังเป็นยาขมสำหรับวิชาชีพระดับล่างของ สธ. เพราะไปเอื้อแค่บางวิชาชีพ และหนุนแค่เขตเมืองที่พร้อมอยู่แล้ว ละเลยวิชาชีพอื่นๆ และเลยพื้นที่กันดารทำให้ยิ่งสร้างความเหลื่อมล้ำให้ถ่างมากขึ้นไปอีก

2.ในขณะที่สายงานอื่นๆ ก.พ.ให้ใช้วิธีคัดเลือกบรรจุ แต่สายงานนักวิชาการสาธารณสุข และเจ้าพนักงานสาธารณสุข ก.พ.กลับมีระเบียบให้สอบบรรจุแทน ซึ่งเป็นแผลกลัดหนองในใจน้องๆ นักสาธารณสุขมานานว่า ทำไมถึงสองมาตรฐานเช่นนี้

3.ชำนาญการพิเศษ (ชนพ) ของ ผอ.รพ.สต. มีระเบียบออกมาหลายปีแล้ว แต่ยังจัดสรรแค่จังหวัดละ 1 ตำแหน่งเท่านั้น ตอนหลังมาจำกัดว่ารพ.สต.ต้องผ่านรพ.สต.ติดดาวและpcc เท่านั้น ผอ.รพ.สต.จึงจะได้ชนพ. ในขณะที่วิชาชีพอื่นและหน่วยงานระดับอื่นของ สธ. ไม่เคยกำหนดเช่นนี้เลย

4.โครงสร้าง รพ.สต.และอำนาจ ผอ.รพ.สต. รวมถึงการให้ รพ.สต.มีระบุในกฏกระทรวง และหนังสือซักซ้อมการจ่ายค่าตอบแทนที่ชัดเจนจากกระทรวง สธ. ก็ยืดเยื้อมานาน ไม่คืบหน้าเสียที

5.ว.16 ชายแดนใต้รอบที่ 2 และค่าตอบแทน ฉ.10 ชายแดนใต้ก็ล่าช้า ไม่ยอมดำเนินการให้เลย ทั้งที่มีแนวทางและหลักเกณฑ์ชัดเจนแล้ว ดึงเกมไปเรื่อยๆ

6.ประเด็นการสนับสนุน คนเงินของ fix cost และค่าตอบแทนให้ รพ.สต.อย่างเหมาะสม เพียงพอ และให้โอนตรงลง รพ.สต.อย่างเพียงพอ ก็ยังไม่ดำเนินการ

7.การดูแลสวัสดิภาพ สวัสดิการ ขวัญกำลังใจ และความปลอดภัยของ รพ.สต. กระทรวง สธ.มีการสนับสนุนเพียงน้อยนิดมาก มีแต่มาตรการเฉพาะหน้าเพื่อลดกระแสเท่านั้น แต่ไม่เคยสนับสนุน คนเงินของ เพื่อแก้ปัญหามาตรการความปลอดภัยอย่างจริงจังซะที

8.สธ.ไม่ยอมสนับสนุนงบปี 60 ให้สภาการสาธารณสุขชุมชนซึ่งดูแลหมออนามัยเสียที สะท้อนว่ากระทรวงไม่ให้ความใส่ใจดูแลสภาวิชาชีพนี้เลย

9.นโยบายทั้ง 9 กรมกอง หลายร้อยตัวชี้วัด ล้วนส่งผ่านมาให้ สสจ. สสอ. รพ. (cup) เป็นผู้สั่งการให้ รพ.สต.เป็นผู้ปฏิบัติทั้งสิ้น จนต้อง "ประกวด ประเมิน ประชัน และประชุม" ตลอดทั้งปี และคีย์ข้อมูลให้ผ่านตัวชี้วัดถึงจะได้งบ จนกลายเป็น "หมอหน้าจอ" ไปแล้วในปัจจุบัน ฯลฯ

ซึ่งหากพิจารณาแล้ว จะเห็นได้ว่าหากรอกระทรวง สธ.และ ก.พ.ต่อไป คงจะยิ่งทดท้อใจในการทำงานมากขึ้น เพราะฉะนั้นพี่น้องนักสาธารณสุขครับ เราไป สสปช.กันดีกว่าครับ

ปล.อยากรู้ สสปช. คืออะไร โปรดติดตามตอนต่อไป เร็วๆนี้

ผู้เขียน : ริซกี สาร๊ะ เลขาธิการชมรมนักวิชาการสาธารณสุข (ประเทศไทย) กรรมการฝ่ายยุทธศาสตร์ชมรม ผอ.รพ.สต.(ประเทศไทย)