ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สำนักงานประกันสังคม ชี้ค่าบริการทางการแพทย์เหมาจ่ายรายปีผู้ประกันตนอยู่ระหว่างการพิจารณาปรับเพิ่มตามความเหมาะสม ล่าสุดปรับค่าบริการในปี 2557 แจงปี 2560 ประเมินสถานการณ์พบค่าบริการทางการแพทย์สูงขึ้น เผยสำนักงานประกันสังคมตั้งอนุกรรมการพิจารณาอย่างรอบคอบก่อนประกาศใช้ต่อไป

นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวถึงกรณี นพ.พงษ์พัฒน์ ปธานวนิช นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชนขอให้สำนักงานประกันสังคมปรับขึ้นค่าบริการทางการแพทย์เหมาจ่ายรายปีผู้ประกันตนจำนวน 1,460 บาทต่อคน ซึ่งคงที่มานาน 6 ปีว่า สำนักงานประกันสังคมขอเรียนว่าได้มีการปรับค่าบริการทางการแพทย์มาอย่างต่อเนื่อง โดยได้ปรับค่าบริการพื้นฐานในปี 2557 หลังจากนั้นได้มีการติดตามข้อมูลอย่างใกล้ชิดรวมทั้งข้อมูลการใช้บริการเทียบกับข้อมูลของโรงพยาบาลในระบบทั้งหมด รายงานพบว่าค่าบริการทางการแพทย์ยังมีความเพียงพอ และมีการปรับการจ่ายการบริการทางการแพทย์ในปี 2558-2559 รวม 12 รายการ โดยมีเรื่องที่สำคัญ เช่น การเพิ่มวงเงินสำหรับการผ่าตัดเตรียมเส้นเลือดเพื่อการฟอกไตหรือวางท่อรับ-ส่งน้ำยา ล้างช่องท้อง (เพิ่ม 10,000 บาท จากเดิม 20,000 บาท ต่อ 2 ปี) การเพิ่มการเข้าถึงยาละลายลิ่มเลือดในผู้ป่วยหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตัน (Stroke) และผู้ป่วยกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลับ (STEMI) โดยจ่ายค่ายาให้แก่สถานพยาบาล และการเพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดให้ครอบคลุมทั้ง กรณีใช้เนื้อเยื่อของตนเองเนื้อเยื่อของพี่น้อง และเนื้อเยื่อของผู้บริจาค จาก 750,000 บาท เป็น 1,300,000 บาท โดยเน้นให้ผู้ประกันตนเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพและการจ่ายให้เป็นธรรมกับโรงพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชน

เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวต่อว่า ล่าสุดสำนักงานประกันสังคมได้ประเมินสถานการณ์ในปี 2560 พบว่าสถานพยาบาลมีต้นทุนเพิ่มขึ้น อีกทั้งมีปริมาณการใช้บริการที่เพิ่มขึ้น คณะกรรมการการแพทย์ได้ให้คำแนะนำในการปรับอัตราค่าบริการทางการแพทย์ โดยได้นำเสนอคณะกรรมการประกันสังคม เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2560 ซึ่งคณะกรรมการประกันสังคมได้ให้ข้อเสนอแนะรวมทั้งให้มีการตั้งอนุกรรมการเพื่อพิจารณาอย่างรอบคอบภายใน 90 วัน โดยมี พลโท น.พ.กฤษฎา ดวงอุไร เป็นประธาน ซึ่งมีการประชุมไปแล้ว 2 ครั้ง ได้ข้อสรุปให้มีการปรับการจ่ายค่าบริการทางการแพทย์เพิ่มขึ้นทุกรายการตั้งแต่เหมาจ่าย/โรคเรื้อรัง/โรคที่ต้องใช้ยาราคาสูงและต้องใช้เทคโนโลยีชั้นสูงในการรักษา รวมทั้งมีการจ่ายเพิ่มสำหรับการรักษาที่มีค่ารักษาพยาบาลเกิน 1 ล้านบาท เช่น การรักษาผู้ป่วยที่ประสบเหตุจากไฟไหม้ ทั้งนี้จะสรุปรายละเอียดอีกครั้งในวันที่ 17 พฤษภาคม 2560 ก่อนที่จะเสนอคณะกรรมการการแพทย์ และคณะกรรมการประกันสังคมเพื่อพิจารณาให้ความเห็นก่อนประกาศใช้