ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สพฉ.จัดทำคู่มือการซักประวัติผู้ป่วยต่างชาติ 5 ภาษา “อังกฤษ –จีน-ญี่ปุ่น-พม่า-มาลายู” รับเปิด AEC แก้ปัญหาสื่อสาร ณ จุดเกิดเหตุ หวังประสานศูนย์สั่งการเตรียมรับผู้ป่วยอย่างเหมาะสม

ในงานประชุมวิชาการการแพทย์ฉุกเฉินระดับชาติ ครั้งที่ 11 ประจำปี 2560 ที่อาคารอิมแพค ฟอรั่ม เมืองทองธานี ได้มีการจัดการฝึกปฏิบัติการให้กับผู้เข้าร่วมประชุมในหัวข้อ “การสื่อสาร ณ จุดเกิดเหตุเพื่อรองรับเวทีโลก” ซึ่งได้เชิญวิทยากรที่มีความเชี่ยวชาญภาษาต่างประเทศ ทั้ง จีน พม่า อังกฤษ มาลายู และ ญี่ปุ่น ให้การอบรมภาษาต่างประเทศ เพื่อใช้ระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ พร้อมแจกคู่มือการซักประวัติผู้ป่วยต่างชาติ ซึ่งจะทำให้การสื่อสาร และการประสานส่งตัวผู้ป่วยจากจุดเกิดเหตุไปยังโรงพยาบาล มีความสะดวกและเหมาะสมมากขึ้น

รอ.นพ.อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวว่า สพฉ.ได้จัดทำ “คู่มือการซักประวัติผู้ป่วยต่างชาติ” ขึ้น 5 ภาษา คือ อังกฤษ จีน ญี่ปุ่น มาลายู และ พม่า เพื่อแก้ไขปัญหาด้านการสื่อสารกับผู้ป่วย ณ จุดเกิดเหตุ เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศท่องเที่ยว และเป็นประเทศในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ทำให้มีชาวต่างชาติเดินทางมาท่องเที่ยว และทำงานจำนวนมาก ดังนั้นการสื่อสารจึงมีความสำคัญ โดยเฉพาะการให้ความช่วยเหลือกับผู้ป่วยฉุกเฉิน ซึ่งหากสามารถสื่อสารได้อย่างถูกต้องและรวดเร็วมากขึ้นเท่าใดก็จะยิ่งเป็นประโยชน์ต่อตัวผู้ป่วยในเรื่องการรักษาพยาบาลมากขึ้นเท่านั้น

นพ.วริษ คุปต์กาญจนากุล

ด้าน นพ.วริษ คุปต์กาญจนากุล นายแพทย์ชำนาญการ โรงพยาบาลกระบี่ กล่าวว่า ที่ผ่านมาในพื้นที่ประสบปัญหาด้านการสื่อสารกับนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวจีนที่ไม่สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ด้วย ซึ่ง “คู่มือการซักประวัติผู้ป่วยต่างชาติ” ที่จัดทำขึ้นนี้จะมีประโยชน์อย่างมากในจุดเกิดเหตุ เพื่อที่ทีมกู้ชีพสามารถทราบอาการของผู้ป่วยในเบื้องต้นได้ ด้วยการชี้ประโยคบอกอาการในภาษาต่างๆ ที่อยู่คู่มือนี้ ซึ่งผ่านการตรวจความถูกต้องจากเจ้าของภาษาแล้ว ทั้งนี้เชื่อว่าคู่มือนี้จะสามารถช่วยทีมกู้ชีพให้สื่อสาร ณ จุดเกิดเหตุเบื้องต้นได้อย่างสะดวกมากขึ้นว่า ผู้ป่วยมีอาการอย่างไรและประสานกับศูนย์สั่งการให้เตรียมรับผู้ป่วยได้อย่างเหมาะสม

“ที่จะจัดทำภาษาต่างประเทศ 5 ภาษานี้ เป็นเพราะ สพฉ.ได้สำรวจข้อมูลการท่องเที่ยว และการเข้ามาของชาวต่างชาติในประเทศไทยซึ่งมีการใช้ภาษาเหล่านี้มาเป็นอันดับต้นๆ ซึ่งคู่มือนี้ทำให้การสื่อสารง่ายขึ้นและเป็นไปอย่างถูกต้อง ที่ผ่านมาทีมกู้ชีพจะต้องใช้ระบบของ Google Translate ช่วยในการแปลภาษา แต่ปรากฏว่าแปลออกมาไม่ถูกต้อง” นพ.วริษ กล่าว

นพ.วริษ กล่าวว่า สพฉ.ได้ดำเนินการแจกคู่มือนี้ไปยังทีมแพทย์ฉุกเฉินในพื้นที่ท่องเที่ยวสำคัญ รวมไปถึงโรงแรม ที่พักในพื้นที่ท่องเที่ยว เพื่อที่จะให้ผู้ประกอบการสื่อสารกับนักท่องเที่ยวต่างชาติเบื้องต้น ก่อนที่จะประสานมายังโรงพยาบาลต่อไป และในอนาคต สพฉ.จะพัฒนาคู่มือภาษาอื่นๆ เพิ่มขึ้นอีก อาทิภาษารัสเซีย ลาว กัมพูชา เป็นต้น

นางสาวกามีละ ดอนิ พยาบาลวิชาชีพ โรงพยาบาลบันนังสตาร์ จ.ยะลา กล่าวว่า โรงพยาบาลต้องพบเจอกับผู้ป่วยฉุกเฉินหลากหลายภาษา ทั้งภาษามาลายู จีน และพม่า เบื้องต้นโรงพยาบาลจัดทำคู่มือในการสื่อสารภาษาต่างๆ แล้ว แต่การออกเสียงยังไม่ชัดเจน ซึ่งการอบรมครั้งนี้ทำให้ได้พบกับวิทยากรที่มีความเชี่ยวชาญในภาษานั้นๆ จนสามารถออกสำเนียงได้อย่างถูกต้อง เพราะในภาษาต่างประเทศ การออกสำเนียงผิดเพี้ยนทำให้ความหมายเปลี่ยนทันที ซึ่งถือว่ามีความสำคัญกับการสื่อสารผู้ป่วยอย่างมาก

สำหรับประชาชนทั่วไปที่สนใจคู่มือสามารถดาวน์โหลดาวน์โหลดได้ ที่นี่