ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

2,200 ล้านวินาที...

36 ล้านนาที...

6 แสนชั่วโมง...

25,000 วัน...

70 ปี...

นี่คือต้นทุนในแง่เวลาชีวิตโดยเฉลี่ยของแต่ละคนที่มีอยู่ โลกทุนนิยมสอน เพาะบ่ม กล่อมเกลา บังคับ กดดัน หรือทำให้เรารู้สึกคุ้นเคย และยอมรับไปโดยปริยายว่าจะต้องลงทุนให้เกิดกำไรสูงสุด...จึงจะได้รับการยอมรับ ยกย่องเทดทูน (จนเหลิง) ว่ากรูนั้นเป็นผู้ชนะ และประสบความสำเร็จในชีวิต โทษใครไม่ได้หรอก เพราะงานวิจัยทางพฤติกรรมศาสตร์ชี้ชัดว่า 20% ของจำนวนการตัดสินใจของมนุษย์ระหว่างใช้ชีวิตประจำวันนั้น เป็นไปในลักษณะที่ใช้ "เหตุผล" แต่อีก 80% เป็นการกระทำที่เกิดจากอารมณ์และความคุ้นชิน (คุ้นเคย+เคยชิน)

ทีวี วิทยุ และเครือข่ายสังคมต่างๆ ประโคมข่าวเด็กเก่งสอบติดยกห้อง ได้รางวัล ได้เหรียญ ตลอดจนนำเสนอคนรวย คนสวย ดาราเซเลป ใช้ชีวิตอู้ฟู่หรูหรา คนรวยทำอะไรก็ได้สิทธิพิเศษและรอดจากกระบวนการเอาผิดตามกฎหมาย ทำซ้ำๆ จนเกิดค่านิยมว่า พ่อแม่ต้องทำทุกอย่างให้ลูกได้รางวัลได้โควต้า โชว์เก๋าว่าสอบติดโควต้าพร้อมกัน 15 แห่งยิ่งเจ๋ง ทำบ่อยๆ จนเกิดค่านิยมว่า คนสวยคนหล่อจะนำมาซึ่งเงินทองชื่อเสียงและการยอมรับ ทำประจำจนเกิดความเชื่อในสังคมว่าต้องทำทุกอย่างทุกทางให้รวยๆ จะได้ทำผิดกฎหมายแล้วรอดคุกรอดตาราง เพราะเงินซื้อได้ทุกอย่าง

เหล่านี้แหละที่ทำให้เราเห็นความล่มจมของระบบการศึกษาไทย ที่โครงสร้างพื้นฐานภายในอ่อนแอ ธุรกิจกวดวิชาเจริญรุ่งเรืองสนองตอบกิเลสเพื่อใช้แข่งขันช่วงชิงโควต้ารางวัลต่างๆ เฉกเช่นเดียวกับค่านิยมธุรกิจ "ทำสวยทำหล่อ" ที่ผุดขึ้นทั่วบ้านทั่วเมือง พร้อมๆ ไปกับตลาดของกินของใช้หรูหราฟุ่มเฟือย ที่มาพร้อมหนี้สินครัวเรือนและปัญหาสังคมอื่นๆ ทั้งหนี้นอกระบบ พ่วงมาพร้อมการพนัน ยาเสพติด ฉกชิงวิ่งราวทรัพย์ หรือการฉ้อฉลรูปแบบใหม่ๆ ที่เห็นเป็นข่าวแทบทุกเมื่อเชื่อวัน

ยังไม่พอ ยังเป็นช่องทางของคอรัปชั่นเชิงระบบ ที่คนมีเงินจะสามารถนำเงินแทรกตามช่องทางต่างๆ โดยง่าย เพราะช่องว่างทางสังคมนั้นถ่างกว้างมากขึ้นเรื่อยๆ ทรัพย์สมบัติโดยรวมของคนรวยจำนวนเพียงหยิบมือก็มากกว่าคนส่วนใหญ่ในประเทศมารวมกัน คนรวยตระกูลดังทั้งหลายควบคุมตั้งแต่ระดับนโยบาย ลงมาถึงห่วงโซ่การผลิตตั้งแต่วัตถุดิบ กระบวนการผลิต ผลผลิต และช่องทางจำหน่ายสินค้าและบริการ จนอาจพูดถามได้เต็มปากว่า "แล้วประเทศชาติจะเหลืออะไรให้หายใจ?"

สถานการณ์ทั้งหมดข้างต้น เป็นไปตามหลักการตลาดและการจัดการ แบบที่เรียกว่า "มหาสมุทรสีเลือด" แปลง่ายๆ คือ คนอ่อนแอจงตายไป คนอยู่รอดคือคนแข็งแกร่งเพราะเอาชนะคนอื่นได้ แปลแบบหรูๆ คือ ชนะเพราะมีความได้เปรียบในการแข่งขัน (competitive advantage)

ที่เล่ามานั้น อยากเล่าเพราะไม่สบายใจที่เห็นแต่ข่าวเรื่องรุ่นน้องรุ่นลูกรุ่นหลาน และพ่อแม่พี่น้องในสังคมไทยต่างวิตกกังวลในอนาคตของตนเองหรือลูกหลานว่า หากตัดสินใจเลือกเรียนต่อแล้ว อาชีพใดรายได้ดี มั่นคงปลอดภัย มีความสุข หลักการคิดแบบโรงงานการผลิต (ที่ผมเรียนรู้จากคนทำงานด้านวิดวะอุตสาหการ แต่ไม่ชอบอย่างยิ่งเพราะชีวิตคนไม่ใช่โรงงาน) คือ จงทำอย่างไรก็ได้ให้ได้ผลิตภาพมากที่สุด ลงทุนให้น้อยที่สุด ให้ได้ผลผลิตมากที่สุด

แต่เอาเถอะ อยากแลกเปลี่ยนว่า เวลาชีวิตของคนเราแต่ละคนนั้นพอๆ กัน หากอยากได้ผลิตภาพโดยรวมมากๆ เราคงมีทางเลือกอยู่ไม่กี่ทาง

หนึ่ง เลือกผลผลิตที่เราคาดหวังให้เหมาะกับชีวิตของเรา จะเป็นผลผลิตแบบเดี่ยวๆ อย่างเดียว หรือแบบหลายอย่างตามสัดส่วนที่ปรารถนา

หรือ สอง แบ่งสัดส่วนต้นทุนเวลาชีวิตให้เหมาะสมกับชีวิตของเรา

แต่พึงระลึกไว้ว่า ไม่ว่าจะวางแผนกำหนดผลผลิตหรือต้นทุนไว้ดีเพียงใด ละเอียดเพียงใด ก็ไม่การันตีว่าจะเป็นไปตามนั้น เพราะชีวิตจริงมีปัจจัยอื่นๆ แวดล้อมอีกมากมายที่จะทำให้ผิดคาดได้เสมอ ไม่ว่าจะเป็นต้นทุนเวลาชีวิต ที่อาจหดสั้นลงจากอุบัติเหตุโดยน้ำมือเราหรือโดยน้ำมือคนอื่น หรือจากมลภาวะ หรือพฤติกรรมการใช้ชีวิต ในขณะที่แผนการคาดการณ์ผลผลิตก็อาจล้มครืนไม่เป็นท่า จากน้ำมือพ่อมดการเงินต่างชาติ ปัญหาอาชญากรรมรูปแบบต่างๆ ในสังคม หรือแม้แต่การได้ผลผลิตที่ต้องการแต่ต้องแลกด้วยความทุกข์กาย/ทุกข์ใจ/ขาดสมดุลและอิสรภาพในชีวิต

ไม่มีหรอกครับ ชีวิตที่สมบูรณ์แบบ อาชีพหรือวิชาชีพที่ดีพร้อมทุกอย่าง แต่มีชีวิต มีอาชีพ มีวิชาชีพที่น่าจะเหมาะสมกับความถนัด ความนึกคิด และเหมาะกับนิสัยใจคอของเรา ที่ไม่มีใครเลือกตอบแทนได้นอกจากตัวเราเอง

เหนืออื่นใด ส่วนตัวแล้วผมดีใจที่ได้มีโอกาสเป็น "หมอ" เพราะโดยส่วนใหญ่แล้วจะรู้สึกมีความสุขทุกครั้ง ที่ได้ดูแล แนะนำ รักษาผู้ป่วย และญาติ

ให้ไปทำงานอื่น ผมไม่ถนัด ทำแล้วอาจได้ผลไม่ดี และที่สำคัญคือไม่มีโอกาสสัมผัสใกล้ชิดกับชีวิตคนเท่านี้ เวลาชีวิตของคนเรานั้นจะว่าสั้นก็สั้น จะว่ายาวก็ยาว เลือกชีวิตที่สมดุลและมีความสุข เป็นประโยชน์ต่อตนเองและสังคม และเหมาะสมกับตัวและใจเรา แค่นั้นก็พอครับ...

หากคิดเช่นนี้ จะได้เลิกตัดพ้อต่อว่าถึงความลำบากในชีวิตการทำงาน ทางเลือกเรียนต่อ หรือโทษระบบเสียที เพราะชีวิตคนเรานั้นเราเป็นคนเลือก และหากเลือกที่จะเดินแล้ว อยากให้ทางเดินราบเรียบ สวยงาม รื่นรมย์ ก็ต้องลงมือพัฒนา อย่าติเรือทั้งโกลนอีกเลย!!!

ผู้เขียน : ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์

ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์