ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

แนะปรับนโยบายสุขภาพแรงงานต่างด้าวรับยุคไทยแลนด์ 4.0 พัฒนาสิทธิประโยชน์ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน ลดภาระ รพ. แม้บัตรประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าวไม่ครอบคลุม แต่ในทางปฏิบัติ รพ.ก็ต้องรักษาอยู่ดี แนะรัฐอาจอุดหนุนบางส่วน พร้อมเปิดภาคประชาสังคมและภาคเอกชนมาร่วมทำ

นพ.ระพีพงศ์ สุพรรณไชยมาตย์ นักวิจัยสำนักงานพัฒนาสุขภาพระหว่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวในการเสวนา “สุขภาพประชากรข้ามชาติ” เปลี่ยนวิกฤติเป็นโอกาสยุค Thailand 4.0 ? เมื่อเร็วๆ นี้ว่า เมื่อกล่าวถึงการดูแลสุขภาพแรงงานต่างด้าว ส่วนใหญ่จะมองใน 2 เรื่องหลักๆ คือ 1.ระบบการดูแล และ 2.ระบบประกันสุขภาพของแรงงานต่างด้าว โดยในส่วนของระบบประกันสุขภาพ เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับเงิน เมื่อแรงงานต่างด้าวมารับบริการก็มักจะถามว่าใช้สิทธิประกันสุขภาพกับอะไรหรือขึ้นทะเบียนกับอะไร ซึ่งก็มีทั้งคนที่เข้าเมืองอย่างถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย นโยบายการประกันสุขภาพจึงขึ้นกับการเปิดกว้างของรัฐในแต่ละช่วงว่านโยบายการจ้างงานเปิดหรือปิดขนาดไหน

นพ.ระพีพงศ์ กล่าวต่อไปว่า หากพิจารณาให้ดีจะพบว่านโยบายการประกันสุขภาพจะสอดคล้องกับการเปิดกว้างทางเศรษฐกิจ เช่น ยุคปี 2534-2535 สมัยรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เศรษฐกิจเริ่มบูม ก็เริ่มเปิดกว้างให้มีการประกันสุขภาพ ต่อมาสมัย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ก็ให้มีการประกันสุขภาพทั่วประเทศ ปี 2547 เริ่มมีบัตรประกันสุขภาพคนต่างด้าว 1,300 บาท จากนั้นปี 2556 ก็เพิ่มราคาบัตร เป็น 2,200 บาท และลดราคาเหลือ 1,600 บาทในช่วงรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ เป็นต้น

นพ.ระพีพงศ์ กล่าวอีกว่า หากพิจารณาบริบทของประเทศไทยในปัจจุบันซึ่งมีนโยบายไทยแลนด์ 4.0 โดยส่วนตัวมองว่าเข้าสู่ช่วงเปิดกว้างทางนโยบายเศรษฐกิจอีกครั้ง ดังนั้นจึงเป็นโอกาสในการจัดระบบประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าวหรือทบทวนว่ายังขาดตกบกพร่องในเรื่องใด และจะเติมเต็มอย่างไร

“ทุกนโยบายมีทั้งข้อดีและข้อจำกัดบางอย่างที่ยังติดขัดอยู่ อาจจะเติมเต็มโดยภาครัฐ ภาคเอกชนหรือประชาสังคมซึ่งคงต้องดูในรายละเอียดว่าตรงไหนที่รัฐจะทำ หรือคิดว่ารัฐทำแล้วไม่มีประสิทธิภาพก็ให้ภาคประชาสังคมหรือภาคเอกชนเข้ามาร่วมด้วย” นพ.ระพีพงศ์ กล่าว

นพ.ระพีพงศ์ ยกตัวอย่าง นโยบาย One Stop Service ในการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าว รัฐประกาศว่าให้ขึ้นทะเบียนรอบสุดท้ายและหลังจากนี้จะไม่เปิดให้ขึ้นทะเบียนแล้ว แต่ในทางปฏิบัติก็ยังมีแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยอยู่เรื่อยๆ แล้วจะทำอย่างไรกับคนกลุ่มนี้ หรือกรณีบัตรประกันสุขภาพ 365 บาทสำหรับเด็กต่างด้าวอายุ 0-7 ปีของกระทรวงสาธารณสุข มุมหนึ่งก็ดีแต่อีกมุมหนึ่งเด็กอายุ 8-15 ปีจะทำอย่างไร จะเข้าประกันสุขภาพผู้ใหญ่ก็ไม่ได้เพราะต้องใช้ Work Permit แล้วถ้าเด็กกลุ่มนี้เจ็บป่วยจะทำอย่างไร

นอกจากนี้ ยังมีรายละเอียดอีกหลายประการ เช่น สิทธิประโยชน์หลายอย่างอาจไม่เหมาะกับสถานการณ์ปัจจุบัน อย่างคนไข้จิตเวช คนไข้แอลกอฮอล์ ซึ่งประกันสุขภาพไม่ครอบคลุม แต่ในทางปฏิบัติโรงพยาบาลก็ต้องรักษาอยู่ดี กลายเป็นภาระค่าใช้จ่ายของโรงพยาบาลขึ้นมา รัฐอาจจะต้องมีนโยบายที่ช่วยเหลือสถานพยาบาลไม่ให้เป็นภาระมากเกินไป เช่นอาจต้องมีนโยบายการอุดหนุนค่าใช้จ่ายบางส่วน เพื่อให้โรงพยาบาลดำเนินการต่อไปได้โดยไม่เป็นหนี้มากเกินไป เป็นต้น

“ยุคไทยแลนด์ 4.0 เราทำนโยบายหลายอย่างมีทั้งข้อดีและข้อจำกัด เราอาจต้อง Keep ข้อดีแล้วมาดูว่ามีข้อจำกัดตรงไหนที่ยังไม่เติมเต็ม ตรงนี้คงบอกไม่ได้ว่าต้องทำอะไร แต่เป็นโอกาสที่เรามาเริ่มคิดและอาจจะไม่ใช่รัฐทำอย่างเดียว แต่ให้ภาคเอกชน หรือภาคประชาสังคม มาร่วมทำก็ได้” นพ.ระพีพงศ์ กล่าว