ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

หวั่นแก้กฎหมายดึง สสส.ติดกรอบราชการ ทำให้การทำงานเพื่อสร้างเสริมสุขภาพในพื้นที่กลับไปอยู่ในกรอบเดิมที่ไม่สามารถทำงานได้คล่องตัว ชี้หลังมี สสส.ทำให้มีองค์กรประสานและงบประมาณการทำงานที่สามารถทำให้หลายหน่วยงานมาทำงานพื้นที่ร่วมกันได้ ภาคประชาชนอีสานหนุนหลักการ สสส.เสริมสร้างสุขภาพชุมชน

เมื่อเร็วๆ นี้ ที่จังหวัดขอนแก่น ขบวนการสร้างเสริมสุขภาพประชาชน (ขสช.) ร่วมกับ สนับสนุนป้องกันอุบัติเหตุจราจร (สอจร.) และมูลนิธิเพื่อความปลอดภัยทางถนน จัดประชุมสานพลังเครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพ ภาคอีสาน 16 องค์กร โดยมีผู้มาร่วมกว่า 120 คน ซึ่งนอกจากมีเป้าหมายเพื่อสานพลังระหว่างเครือข่ายแล้ว หลายเครือข่ายไม่ว่าภาครัฐหรือองค์กรพัฒนาเอกชนยังได้สะท้อนถึงบทบาทของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส.และความสำคัญต่อการทำงานขององค์กร

พ.ต.ท.จตุรงค์ มหิทธิโชติ จาก สภ.เมืองไหม อ.เมือง จ.ขอนแก่น กล่าวว่า การทำงานแบบภาครัฐอาจมีข้อจำกัด เช่น เรื่องงบประมาณ ระเบียบข้อบังคับ หรือการเชื่อมประสานกันระหว่างหน่วยงานหลายหน่วยงานที่ต้องมาทำงานร่วมกัน อย่างการตั้งด่านต้องมีสาธารณสุขหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามาร่วม ซึ่ง สสส.ได้เข้ามาหนุนเสริมการทำงานให้มีศักยภาพมากขึ้นได้ ทางหน่วยงานเคยทำโครงการขอรับการสนับสนุนเพื่อดูแลความปลอดภัยบนท้องถนนซึ่งก็ได้รับการตอบสนองเป็นอย่างดี ทำให้สร้างความปลอดภัย ลดอุบัติเหตุในพื้นที่ได้ดีขึ้น เมื่อเจ้าหน้าที่รัฐสามารถทำงานได้ดีประชาชนก็จะอุ่นใจ การมีหน่วยงานแบบ สสส. จึงถือว่าเป็นประโยชน์

นางสุภาภรณ์ พัฒนพงศ์ พยาบาลวิชาชีพ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด ที่สะท้อนทัศนะออกมาในทิศทางเดียวกันว่า ทำงานด้านสาธารณสุขมาตั้งแต่ยังไม่มีการก่อตั้ง สสส. จึงเห็นความแตกต่างระหว่างการมีหรือไม่มีหน่วยงานลักษณะนี้ คิดว่าถ้ามีการแก้ไข พ.ร.บ.สสส.ตามเนื้อหาที่มีการประชาพิจารณ์จะทำให้การทำงานเพื่อสร้างเสริมสุขภาพในพื้นที่กลับไปอยู่ในกรอบเดิม คือกรอบราชการที่ไม่สามารถทำงานได้คล่องตัว ในขณะที่หลังจากมีการก่อตั้ง สสส.ทำให้มีองค์กรประสานและงบประมาณการทำงานที่สามารถทำให้หลายหน่วยงานมาทำงานพื้นที่ร่วมกันได้

"อย่างมี อบต.หนึ่งที่ทำเรื่องการลดอุบัติเหตุได้ดี หากเป็นรูปแบบเดิม เราอยากไปหนุนเสริมก็ทำไม่ได้เพราะอาจติดงบประมาณหรือมีระเบียบข้อบังคับ แต่เมื่อมี สสส. ทำให้การเข้าไปสนับสนุนในเรื่องนี้ทำได้ จนตอนนี้ อบต.ดังกล่าวสามารถทำงานลดอุบัติเหตุได้อย่างมีศักยภาพ ขยายไปยังท้องถิ่นอื่นๆ กลายเป็นแหล่งเรียนรู้เกิดขึ้น"

ด้านนายชาติพิพัฒน์ บุญสุนทรสวัสดิ์ สถาบันครอบครัวเข้มแข็ง จังหวัดสุรินทร์ กล่าวว่า ปัจจุบันในพื้นที่มีปัญหาที่เกี่ยวกับสถาบันครอบครัวค่อนข้างมาก ส่วนหนึ่งเพราะสภาพเศรษฐกิจที่ทำให้พ่อแม่ต้องออกไปรับจ้างในกรุงเทพฯ เหลือแต่เด็กอยู่กับคนชรา บางครอบครัวจึงมีปัญหาเด็กขาดความอบอุ่นทั้งยังมีปัจจัยอื่นที่เพิ่มความเสี่ยงอย่างสื่อหรือโซเชียลมีเดียที่เข้ามามีอิทธิพลต่อความคิดพฤติกรรมหากไม่เข้าไปทำงานสร้างการเรียนรู้หรือทัศนคติที่ดีเพื่อป้องกันเอาไว้ปัญหาก็จะเกิดขึ้นมาก

“หากภาครัฐมองว่าครอบครัวเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็นต้องสร้างความเข้มแข็งให้เกิดขึ้นจากฐานราก ก็จำเป็นต้องสนับสนุนเรื่องนี้อย่างเต็มที่ไม่ว่างบประมาณหรือด้านอื่นๆ ซึ่งที่ผ่านมา สสส. มีบทบาทมากในการเข้ามาทำหน้าที่ตรงนี้ แต่ต้องยอมรับว่าถึงตอนนี้ก็ยังไม่เพียงพอ” นายชาติพิพัฒน์ กล่าว