ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ปลัด สธ.เผยที่ประชุม อ.ก.พ.สป.อนุมัติการตัดโอนตำแหน่งและอัตราเงินเดือน เพื่อบรรจุตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพรอบแรกจำนวน 1,200 อัตรา ส่วนอีก 7 วิชาชีพ กำหนดสัดส่วนการเป็นข้าราชการร้อยละ 75 เร่งสำรวจ นำเสนอคณะอนุกรรมการกำลังคนด้านสาธารณสุขต่อไป

นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์แนวทางการแก้ไขปัญหาการบรรจุแต่งตั้ง “ตำแหน่งพยาบาล” ของกระทรวงสาธารณสุข ว่า เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2560 ที่ประชุมคณะอนุกรรมการสามัญประจำสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (อ.ก.พ.สป.) ได้พิจารณาและอนุมัติการตัดโอนตำแหน่งและอัตราเงินเดือน เพื่อบรรจุตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพรอบแรกจำนวน 1,200 อัตรา พร้อมทำหนังสือไปยังเขตสุขภาพให้ดำเนินการบรรจุให้แล้วเสร็จทั้งหมดภายใน 30 มิถุนายน 2560 โดยให้ตัวแทนพยาบาลวิชาชีพที่รอบรรจุมีส่วนร่วมในการให้ข้อคิดเห็น ส่วนตำแหน่งที่เหลืออีก 1,000 อัตรา บวกอีก 2,992 อัตรา ตามมติของ คปร.จะนำเข้า อ.ก.พ.กระทรวงสาธารณสุข จะรีบจัดสรรและสำรวจว่าจะไปอยู่จังหวัดใด

สำหรับในส่วนตำแหน่งอื่นๆ ขณะนี้อยู่ระหว่างหารือแนวทางการดำเนินงาน โดยมี 3 ขั้นตอน ดังนี้

1.จัดทำแผนกำลังคน เป็นการกำหนดความต้องการว่าโรงพยาบาลหรือ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด หรือสำนักงานสาธารณสุขอำเภอต้องการคนเท่าไหร่ เป็นวิชาชีพอะไรบ้าง ซึ่งดำเนินการเรียบร้อยแล้ว

2.กำหนดว่าแต่ละวิชาชีพจะจ้างงานอย่างไร เป็นข้าราชการกี่เปอร์เซ็นต์ ซึ่งแต่ละวิชาชีพแตกต่างกันไป โดยสายงานสนับสนุนจะถูกกำหนดสัดส่วนให้เป็นข้าราชการตามที่ ก.พ.กำหนด ส่วนสายงานหลักกำหนดให้เป็นข้าราชการได้ร้อยละ 90 ขึ้นไป

“สำหรับ 7 วิชาชีพที่มาพบผม ได้มีการพูดคุยกันและตกลงกำหนดให้เป็นข้าราชการร้อยละ 75 ต้องไปดูว่าขณะนี้เป็นข้าราชการแล้วเท่าไหร่ ยังขาดอยู่อีกเท่าไหร่ เพื่อนำไปเสนอต่อที่ประชุมคณะอนุกรรมการที่รองนายกรัฐมนตรี วิษณุ เครืองาม ได้ตั้งขึ้นมาเพื่อดูอัตรากำลังแผนอัตรากำลังด้านสาธารณสุข”

นอกจากนี้ ในส่วนที่ไม่ใช่ข้าราชการจะจ้างด้วยวิธีการใด เช่น พนักงานราชการ ให้แก้ไขระเบียบให้สามารถลาไปเรียนต่อได้หรือเพิ่มสวัสดิการด้านอื่นๆ ใกล้เคียงข้าราชการ หรือเป็นลูกจ้างชั่วคราว พนักงานกระทรวงสาธารณสุข ที่มีอัตราค่าจ้าง เช่น ได้รับเงินเดือนมากกว่า 1.2 เท่า

ทั้งนี้ ในการจ้างงานได้กำหนดทุกจังหวัดดำเนินการให้เป็นไปตามแผนกำลังคนตามความต้องการและเงินงบประมาณที่มี โดยมติ คปร.ได้ให้กระทรวงสาธารณสุขหลีกเลี่ยงการใช้เงินนอกงบประมาณหรือเงินบำรุงของโรงพยาบาลไปใช้ในการบรรจุแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ โดยเฉพาะตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพ กระทรวงสาธารณสุขต้องขอเงินงบประมาณมาใช้ในการจ้างงานเป็นพนักงานราชการหรือลูกจ้างชั่วคราว โดยจะเร่งดำเนินการให้รวดเร็วที่สุด

3.กำหนดกติกาในการบรรจุพนักงานราชการหรือลูกจ้างชั่วคราวเป็นข้าราชการ เช่น กรณีโรงพยาบาลมีผู้เกษียณอายุ ลูกจ้างชั่วคราวหรือพนักงานราชการที่จะบรรจุไปเป็นข้าราชการ จะมีสิทธิประโยชน์ ควรนับเวลาราชการ เงินเดือนอย่างไร ต้องมีกำหนดพูดคุยกับคณะกรรมการและนำไปหารือกับ ก.พ. อีกครั้ง