ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

หลังจาก "ปิดปาก" มาระยะหนึ่ง ในที่สุดอธิบดีกรมบัญชีกลาง คือ สุทธิรัตน์ รัตนโชติ ก็ออกมาชี้แจง "เครือข่ายปฏิรูประบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ (คสร.)" เมื่อ วันศุกร์ที่ 19 พฤษภาคม 2560 สรุปเนื้อหาได้ว่า "โครงการบัตรสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ เป็นการต่อยอด 'โครงการเบิกจ่ายตรงสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ' โดยนำหลักการของบัตรเครดิตมาประยุกต์ใช้ เพื่อใช้ในการตรวจสอบและพิสูจน์ตัวบุคคล ทดแทนการลงทะเบียนสมัครเข้าร่วมโครงการเบิกจ่ายตรง ณ สถานพยาบาลได้ทันทีโดยไม่จำเป็นต้องรอเวลาการประมวลผลข้อมูลระบบเดิม นอกจากจะช่วยให้กรมบัญชีกลางสามารถรับรู้ข้อมูลและค่าใช้จ่ายการเข้ารับบริการทางการแพทย์ของผู้ป่วยได้ทันทีภายในวันเดียวกันแล้ว ยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจสอบการเบิกค่ารักษาพยาบาลในระบบเบิกจ่ายตรงอีกด้วย"

อธิบดีกรมบัญชีกลาง ยังชี้แจงว่า "สปสช.นำบัตรประจำตัวประชาชนแบบสมาร์ทการ์ดมาใช้เพียงเพื่อพิสูจน์ตัวตนก่อนเข้ารับการรักษาพยาบาลเท่านั้น โดยไม่มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นเครื่องมือประกอบการตรวจสอบการทำธุรกรรมชำระเงินค่ารักษาพยาบาลที่สถานพยาบาลเรียกเก็บ นอกจากนี้บัตรประจำตัวประชาชนแบบสมาร์ทการ์ด.ถูกออกแบบขึ้นเพื่อจัดเก็บข้อมูลส่วนบุคคลซึ่งข้อมูลที่ถูกบันทึกไว้ในหน่วยความจำดังกล่าว จะต้องไม่เปิดเผยต่อบุคคลหรือ หน่วยงาน ซึ่งมิใช่ผู้จัดทำหรือรวบรวมข้อมูลนั้นได้ ดังนั้น ในขั้นนี้จึงยังไม่สามารถนำบัตรประจำตัวประชาชนแบบสมาร์ทการ์ดมาใช้ในโครงการดังกล่าวได้."

คำชี้แจงของอธิบดีกรมบัญชีกลาง ทำให้เกิดคำถามขึ้นทันที 3 ข้อ คือ

(1) อธิบดีกรมบัญชีกลางมีความรู้ความเข้าใจอย่างเพียงพอในสิ่งที่กำลังจะทำหรือไม่

(2) สิ่งที่กำลังจะทำเป็นไปตามหลักธรรมาภิบาลหรือไม่

และ (3) มาตรการนี้จะช่วยแก้ปัญหางบบานปลายได้หรือไม่ หรือจะเกิดผลตรงตรงกันข้ามคือ ทำให้ "กระเป๋าฉีก" มากยิ่งขึ้น

ประเด็นแรก คือ เรื่องความรู้ความเข้าใจ เรื่อง "สมาร์ทการ์ด" ที่จะทำและเรื่องบัตรประจำตัวประชาชน อธิบดีกรมบัญชีกลางน่าจะไม่ได้ศึกษาเรื่องการใช้ประโยชน์จากบัตรประจำตัวประชาชนและสมาร์ทการ์ดของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จึงชี้แจงว่า "สปสช.นำบัตรประจำตัวประชาชนแบบสมาร์ทการ์ด มาใช้เพื่อพิสูจน์ตัวตนก่อนการเข้ารับการรักษาพยาบาลเท่านั้น"

คำชี้แจงของอธิบดีกรมบัญชีกลางในเรื่องนี้ ถูกเพียงครึ่งเดียว สปสช.ยกเลิกการทำ "บัตรทอง" ของตนเองและใช้บัตรประจำตัวประชาชนเพื่อพิสูจน์ตัวตนก่อนการเข้ารับการรักษาพยาบาลจริง แต่ไม่ได้ใช้เพียง "เท่านั้น" เพราะนอกจากใช้บัตรประชาชนเพื่อพิสูจน์ตัวบุคคลแล้วยังใช้เป็น "กุญแจเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคล" เพื่อประโยชน์ทั้งตัวบุคคลนั้นและต่อประเทศชาติโดยรวมด้วย

ตัวอย่างเช่น ในการดูแลรักษาผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยเอดส์ ซึ่งแพทย์จำเป็นต้องรู้ทั้งข้อมูลสถานะสุขภาพ โดยเฉพาะคือ ผลการตรวจเม็ดเลือดขาวซีดี 4 และปริมาณเชื้อในร่างกาย (Viral Load) และต้องรู้ข้อมูลการใช้ยา เพื่อดูแลให้มีการใช้ยาอย่างถูกต้อง สม่ำเสมอ และต่อเนื่องตลอดชีวิต เพื่อให้ผู้ติดเชื้อ/ผู้ป่วย สามารถมีสุขภาพดีและอายุยืนยาว สามารถทำงานและมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ใกล้เคียงกับประชาชนทั่วไปที่ไม่ติดเชื้อ ข้อสำคัญต้องระมัดระวังป้องกันมิให้มีการดื้อยา ซึ่งจะทำให้ต้องเปลี่ยนไปใช้ยาสูตรอื่นที่มีราคาแพงกว่ามาก และมักจะมีผลข้างเคียงสูงกว่าด้วย ซึ่งจะมีผลเสียทั้งต่อผู้ติดเชื้อ/ผู้ป่วย และทำให้รัฐต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงขึ้นอีกมากด้วย

การเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลที่เป็น "ความลับ" ยิ่งกว่าข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชนทั่วไปนี้ สามารถกระทำได้โดยมีระบบระมัดระวังรักษาความลับและระบบการให้ความยินยอมตามมาตรฐานสากล โดย สปสช.ดำเนินการตามระบบของ "โครงการเอดส์แห่งชาติ" (National AIDS Program ตัวย่อ คือ NAP หรือแนป)" ซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่เริ่มตัดสินใจให้ยาเอดส์สูตรแรง (Highly Active Anti-Retroviral Therapy หรือ HAART) หรือสูตรยาคอคเทลแก่ผู้ป่วยเอดส์มาตั้งแต่ต้น โดยเริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2546 หลังเริ่มโครงการบัตรทองในปี 2544 ราว 2 ปี โดย 3 ปีแรก ใช้เงินสนับสนุนจาก "กองทุนโลกเพื่อเอดส์ วัณโรค และมาลาเรีย" หลังจากนั้นจึงใช้งบประมาณ

นอกจากเรื่องเอดส์แล้ว สปสช. ยังใช้บัตรประชาชนเชื่อมโยงกับฐานข้อมูลในระบบคลาวด์ ตรวจสอบการ "เวียนเทียน" ไปรับการตรวจรักษา นำร่องใน 8 จังหวัด เมื่อปี 2553 และตรวจสอบการใช้สิทธิซ้ำซ้อนระหว่าง 4 กองทุนหลัก ดังได้กล่าวแล้วบทความตอนที่ 2

กรมบัญชีกลางจึงควรศึกษาเรื่องให้ถ่องแท้ ไม่ควรใช้ทัศนคติ "มองเห็นปัญหาในทุกคำตอบ" แต่ควรใช้ทัศนคติ "มองเห็นคำตอบในทุกปัญหา" แทน

ประเด็นที่อธิบดีกรมบัญชีกลางแถลงว่า สปสช.ใช้บัตรประชาชน สมาร์ทการ์ด "โดยไม่มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นเครื่องมือประกอบการตรวจสอบการทำธุรกรรมการชำระเงินค่ารักษาพยาบาลที่สถานพยาบาลเรียกเก็บ" เป็นการชี้แจงอย่างคลุมเครือและน่าสงสัยว่า อธิบดีกรมบัญชีกลางจะไม่เข้าใจทั้งระบบงานของ สปสช. และระบบงานสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการของกรมบัญชีกลางเอง

ทั้งนี้เพราะ สปสช.มีระบบการตรวจสอบการเบิกค่ารักษาพยาบาลจากสถานพยาบาลจำนวนมากทั้งในระบบคนไข้ในและระบบการรักษาฉุกเฉิน แต่ สปสช.ใช้ระบบที่ถูกต้อง คือ ใช้บัตรประชาชนเป็นเพียงกุญแจเข้าสู่ข้อมูลจากฐานกลาง เพื่อตรวจสอบการเบิกจ่ายขณะที่กรมบัญชีกลางจะตรวจสอบข้อมูลจากบัตรที่จะทำขึ้นใหม่ ซึ่งเป็นระบบที่ผิด ไม่ควรทำ เพราะข้อมูลการรักษาพยาบาลมีจำนวนมาก พักเดียวก็เต็มบัตร และที่บอกว่าจะสามารถตรวจสอบได้ "ทันที" ก็ไม่จริง โดยเฉพาะสำหรับ "คนไข้ใน" ที่รับไว้รักษาในโรงพยาบาลซึ่งกว่าโรงพยาบาลจะสรุปยอดค่ารักษาพยาบาลเพื่อเรียกเก็บได้ก็ต้องใช้เวลาหลายวันกว่าจะรวบรวมได้จากทุกแผนก ข้อสำคัญจะต้องรอสรุปการวินิจฉัยโรคจากแพทย์ว่าจะเข้ารหัสกลุ่มโรคใดด้วย จึงจะคำนวณค่ารักษาพยาบาลที่จะเรียกเก็บได้ถูกต้อง

ท่านอธิบดีควรต้องตั้งสติหาเวลาศึกษาเรื่องนี้ให้เข้าใจถ่องแท้เสียก่อน ก่อนจะทำผิดซ้ำอีกครั้งใหญ่

เรื่องนี้ยากและซับซ้อน ยังมีอีก 2 ประเด็นที่ต้องพิจารณาต่อไป

ผู้เขียน : นพ.วิชัย โชควิวัฒน