ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เภสัชกรเป็นวิชาชีพหนึ่งในทีมสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุขซึ่งดูแลสุขภาพของประชาชนมากกว่า 60 ล้านคน โดยเภสัชกรมีหน้าที่เกี่ยวข้องกับวงจรยาทั้งระบบ ตั้งแต่ต้นกระบวนการ อันได้แก่ เสาะหาหรือผลิตยา จนถึงการส่งมอบยาและติดตามการใช้ยาของผู้ป่วย เพื่อให้เกิดความปลอดภัยจากการใช้ยาและมีประสิทธิภาพในการรักษาโรค โดยเภสัชกรมีหน้าที่ในระบบสุขภาพ ดังนี้

1.การตรวจสอบยาและการจ่ายยา

2.เภสัชกรเป็นผู้ตรวจสอบความถูกต้องของรายการยา, อันตรกิริยาระหว่างยา, ยาที่ผู้ป่วยแพ้, ความเหมาะสมในการจ่ายยา (ซ้ำซ้อนหรือไม่), ติดตามยาเดิมที่ผู้ป่วยควรได้รับอย่างต่อเนื่องซึ่งบางครั้งไม่ได้มีการสั่งจ่าย เช่น ผู้ป่วยเบาหวานทำยาหายหรือขาดนัด ฯลฯ รวมทั้งสอนเทคนิคพิเศษในการใช้ยา เช่น ยาฉีดเบาหวาน, ยาพ่น ฯลฯ ทั้งนี้เพื่อความสมบูรณ์มีประสิทธิภาพในการรักษา และลดความคลาดเคลื่อนทางยาแก่ผู้ป่วย

3.จัดหาเวชภัณฑ์ยาเพื่อนำมาใช้ในสถานพยาบาล

การจัดหาเวชภัณฑ์ยาให้เพียงพอ มีคุณภาพตามมาตรฐานสากลเป็นหน้าที่หลักอย่างหนึ่งของเภสัชกร เพื่อให้ผู้รับบริการในสถานบริการสุขภาพ มีเวชภัณฑ์ยาที่เพียงพอต่อความต้องการ แม้บางครั้งจะมีอุปสรรคในการทำงานที่ไม่สามารถควบคุมได้ แต่ก็ต้องใช้ความพยายามจัดหาเวชภัณฑ์ยามาให้ได้ อาทิ กรณีโรคระบาด เช่น โรคพิษสุนัขบ้า, สารเคมีในการใช้ผลิตยาขาดแคลน ก็ต้องสะแสวงหาจากบริษัทยา รวมถึงภัยธรรมชาติ เช่น น้ำท่วม น้ำเกลือขาดแคลน เหล่าเภสัชกรก็รวมข้อมูลจนหาซื้อน้ำเกลือจากต่างประเทศเพื่อมาใช้ทดแทนก่อนได้

4.เป็นส่วนหนึ่งของทีมสหวิชาชีพ (ทีมหมอครอบครัว)

เภสัชกรเป็นผู้ดูแลระบบยาในหน่วยบริการปฐมภูมิ รวมถึงผู้ดูแลผู้ป่วยร่วมกับทีมสหวิชาชีพ โดยเภสัชกรจะดูยาและวิธีใช้ยาของผู้ป่วยเพื่อหาปัญหาจากการใช้ยา โดยขอยกตัวอย่างผู้ป่วยของหน่วยบริการปฐมภูมิโรงพยาบาลบุรีรัมย์ 1 ราย เป็นผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายได้รับยาหลายรายการ ซึ่งผู้ป่วยได้รับยาแก้ปวดมอร์ฟีนแต่ญาติบอกกับทีมหมอครอบครัวว่าผู้ป่วยมีอาการปวดตลอดเวลา เภสัชกร พบว่า ผู้ป่วยมีการใช้ยาหลายรายการรวมถึงยาทรามาดอลโดยผู้ป่วยได้จากการไปพบแพทย์ครั้งแรกก่อนได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็ง ซึ่งยาดังกล่าวสามารถลดฤทธิ์แก้ปวดของมอร์ฟินได้

5.การประเมินแพ้ยา

แพ้ยาอะไรไหม คำถามนี้มักจะถูกเภสัชกรถามเสมอก่อนรับยา เนื่องจากเป็นด่านสุดท้ายก่อนการที่ผู้ป่วยจะได้ใช้ยา ซึ่งการแพ้ยาคือการตอบสนองของร่ายการต่อยา เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเฉพาะในแต่ละคน ซึ่งอาการแพ้ยาส่วนใหญ่คือ ผื่นขึ้น ตัวบวม เป็นต้น แต่การแพ้ยาที่รุนแรง อาทิ หน้ามืดใจสั่น หายใจลำบาก รวมถึงผิวหนังลอกไหม้ สามารถทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ เภสัชกรมีหน้าที่เฝ้าระวังและป้องกันการเกิดการแพ้ยาซ้ำแก่ผู้ป่วย

6.การประเมินความเหมาะสมในการสั่งใช้ยา

เภสัชกรมีหน้าที่เก็บข้อมูลรวมถึงกำหนดนโยบายร่วมกับทีมผู้บริหารองค์กร เพื่อให้การสั่งใช้ยามีความเหมาะสมในการรักษาโรค เพื่อลดการใช้งบประมาณในการสั่งใช้ยาและซื้อยา รวมถึงลดโอกาสในการดื้อยาของเชื้อโรคต่างๆ จากการใช้ยาปฏิชีวนะที่ไม่เหมาะสม ซึ่งการดื้อยาของเชื้อจะทำให้เกิดความสิ้นเปลืองงบประมาณในการรักษา รวมถึงหากเชื้อดื้อยาไปเรื่อยๆ ก็อาจไม่มียาใช้การรักษาโรคได้

7.คุ้มครองผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ

เภสัชกรมีหน้าที่ให้ความรู้ เฝ้าระวังการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้มาตรฐาน และเป็นอันตรายต่อสุขภาพ อาทิเช่น เฝ้าระวังการใช้ยาสมุนไพรที่มีส่วนผสมของยาสเตียรอยด์, ตรวจคลินิกทำแท้งเถื่อน, คลินิกจัดฟันแฟชั่น รวมถึงร้านยาที่ขายยาผิดกฎหมาย จนบางครั้งตนเองก็ได้รับอันตรายจากการปฏิบัติงานดังกล่าว เคยมีเหตุการณ์เภสัชกรสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุดรธานี ถูกทำร้ายร่างกาย ตำรวจสันนิษฐานว่าสาเหตุจากการออกพื้นที่ตักเตือนร้านขายยาในเขตพื้นที่รับผิดชอบ ซึ่งเป็นความเสี่ยงอย่างมาก

จากหน้าที่ที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นเป็นส่วนหนึ่งของหน้าที่ของเภสัชกรในกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งยังมีอีกหลายหน้าที่ ได้แก่ ผลิตยา, ผสมยาเคมีบำบัด, บริบาลผู้ป่วยเฉพาะในคลินิกพิเศษ โรคเอดส์ และวัณโรค และงานด้านอื่นที่เป็นนโยบายของรัฐบาลไทย และบทบาทอื่นๆ ตามมาตรฐานวิชาชีพเภสัชกรรมเป็นหน้าที่เภสัชกร

ปัญหาจากการใช้ยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพยังเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก ประชาชนบางส่วนต้องเสียชีวิตจากการใช้ยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพไม่เหมาะสม ตัวอย่าง เช่น ปัญหาสเตียรอยด์ มูลค่าความเสียหายจากการป่วยยาวนานขึ้นมีถึง 1,900 ล้านบาทต่อปี ปัญหานี้เกิดจากมีการนำโดยยาคอร์ติโคสเตียรอยด์โดยเฉพาะเดกซาเมทาโซนและเพรดนิโซโลน ซึ่งมีการจำหน่ายในรูปแบบที่หลากหลายทั้งจัดเป็นยาชุด หรือผสมเข้าไปในยาลูกกลอน ยาแผนโบราณ เครื่องดื่มสุขภาพ เครื่องสำอาง หรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร การระบาดของสเตียรอยด์ในยาชุด ยาแผนโบราณ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ขายให้ประชาชนซื้อรับประทานเองจากรถเร่ ร้านชำ ร้านยา จนติดสเตียรอยด์โดยไม่รู้ เป็นปัญหาต่อเนื่องมานาน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประชาชนกลุ่มใช้แรงงานและมีรายได้น้อย ซึ่งถือว่าเป็นกระดูกสันหลังของประเทศ พบว่าโรคที่เกิดจากการใช้ยาสเตียรอยด์โดยไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์เป็นปัญหาเรื้อรังที่มีมานานกว่า 30 ปีและดูเหมือนจะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ในภาพรวมประชาชน 1,000 คน มีปัญหาทางคลินิกจากการใช้สเตียรอยด์ที่ไม่เหมาะสมประมาณ 93 คน และมีอัตราการตายจากการใช้สเตียรอยด์ที่ไม่เหมาะสมร้อยละ 6.4 ซึ่งปัญหาเหล่านี้เกิดจากจำนวนเภสัชกรในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขมีไม่เพียงพอในการปฏิบัติงานด้านความปลอดภัยจากการใช้ยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพ

ถึงแม้ว่ากลุ่มเภสัชกรสังกัดกระทรวงสาธารณสุขจะพยายามนำเสนอข้อมูลและผลงานให้รับทราบ แต่ผู้บริหารกระทรวงและโรงพยาบาลยังมองว่าการมีเภสัชกรเพิ่มเพียง 1 คนก็เป็นภาระมหาศาลของสถานบริการ ทั้งที่เมื่อศึกษาข้อมูลเชิงลึกอาจจะไม่ใช่ตามที่เข้าใจ

จากแนวคิดดังกล่าวจึงทำให้มีจำนวนเภสัชกรในกระทรวงสาธารณสุขไม่เพียงพอกับภาระงานด้านการบริบาลเภสัชกรรม การส่งเสริมให้เกิดการใช้ยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพอย่างปลอดภัยและสมเหตุผล การผลิตและจัดหายาที่มีคุณภาพ การคุ้มครองผู้บริโภค การสอนองค์ความรู้แก่บุคลากรสายเภสัชกรรม การให้ความรู้แก่ประชาชนเพื่อส่งเสริมให้ประชาชนมีความรู้เรื่องยาถูกต้องมีการใช้ยาสมเหตุผล เกิดเป็นชุมชนที่มีการใช้ยาอย่างปลอดภัย

ปัจจุบันมีเภสัชกรในทุกภาคส่วนในประเทศไทยประมาณ 37,000 คน สัดส่วนต่อประชากรทั้งประเทศดูเหมือนไม่ขาดแคลน แต่ในกระทรวงสาธารณสุขกลับมีเภสัชกรไม่ถึง 8,000 คนในกลุ่มนี้ยังมีกลุ่มที่เป็นลูกจ้างรอการบรรจุยาวนานตั้งแต่ปี 2552 จนถึงปัจจุบันเกือบ 400 คนที่ทนรอคอยตำแหน่งอย่างมีความหวัง ไม่คิดลาออกไปอยู่ในภาคเอกชน ทั้งที่ได้ค่าตอบแทนมากกว่า เนื่องจากเป็นห่วงประชาชนกลัวประชาชนจะได้รับอันตรายจากยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพ

ดังนั้นเครือข่ายเภสัชกรสังกัดกระทรวงสาธารณสุขจึงขอความเมตตา ความเป็นธรรมจากท่านนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีทุกท่านช่วยดูแลปกป้องและรักษาเภสัชกรซึ่งเป็นผู้ปิดทองหลังพระของกระทรวงสาธารณสุข ให้เภสัชกรตำแหน่งลูกจ้างทุกประเภทได้บรรจุเป็นข้าราชการ จัดสรรเภสัชกรให้มีจำนวนที่เหมาะสมเพียงพอในการปฏิบัติงานเภสัชกรรมในระดับบุคคล ครอบครัวและชุมชน ให้โอกาสเภสัชกรกระทรวงสาธารณสุขมีความก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่เหมือนกับวิชาชีพอื่นๆ เภสัชกรที่เป็นข้าราชการส่วนใหญ่ได้ตำแหน่งสูงสุดคือตำแหน่งเภสัชกรชำนาญการในขณะที่การจัดหลักสูตรการเรียน 6 ปีเทียบเท่าแพทย์ ทันตแพทย์ และสัตวแพทย์

ด้วยความเคารพ

เครือข่ายเภสัชกรสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ประเทศไทย