ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“หมอธีระ” ชี้ 3 ช่องทางรับฟังความเห็น กม.บัตรทอง ไม่สะท้อนภาพรวมประเทศ เหตุจำกัดเฉพาะกลุ่ม เน้นผู้มีการศึกษาสูง เศรษฐานะดี เข้าถึงไอที ไม่ครอบคลุมกลุ่มผู้ยากไร้ คนพิการ ผู้สูงอายุ และกลุ่มไม่ชอบไอที ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบโดยตรง แนะเปิดช่องทาง “Public Speak Out” จัดเวที ตั้งบูธและตู้รับฟังความเห็น กระจายตามชุมชน พร้อมห่วงผลประชาพิจาณ์ไม่รอบด้าน กำหนดเร่งรีบแล้วเสร็จใน 1 เดือน

ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์ประจำภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงการประชาพิจารณ์ร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ... ว่า การเปิดรับฟังความเห็นเพื่อแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติฯ ขณะนี้ ที่กำหนดรูปแบบรับฟังความเห็นผ่าน 3 ช่องทาง คือ

1.ระบบออนไลน์ผ่านเว็บไซต์หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและเว็บไซต์กลางสำหรับการรับฟังความคิดเห็นกฎหมายไทย (www.lawamendment.go.th)

2.การจัดเวทีประชาพิจารณ์ภูมิภาคที่จัดขึ้น 4 ภาค

และ 3.การจัดเวทีที่ปรึกษาสาธารณะ โดยเชิญผู้แทนทุกภาคส่วนและหน่วยงานต่างๆ เข้าร่วม

แต่ทั้งหมดนี้มองว่าไม่สามารถสะท้อนความเห็นและเป็นตัวแทนประชากรกลุ่มใหญ่ของประเทศได้ เนื่องจากยังมีกลุ่มประชากรที่ยังเข้าไม่ถึงกระบวนการรับฟังความเห็นนี้ จึงไม่มีโอกาสที่จะร่วมแสดงความคิดเห็นได้ อาทิ กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มผู้พิการ กลุ่มคนยากจน และกลุ่มผู้ที่ไม่ชอบไอที ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้มีจำนวนไม่น้อย ทั้งเป็นกลุ่มที่ใช้บริการสุขภาพค่อนข้างมากและได้รับผลกระทบโดยตรง

ผศ.นพ.ธีระ กล่าวว่า เพื่อให้กลุ่มคนเหล่านี้ได้มีโอกาสแสดงความเห็น จึงเสนอว่าคณะกรรมการจัดประชาพิจารณ์ฯ ควรเพิ่มช่องทางรับรู้เกี่ยวกับการแก้ไขกฎหมายพร้อมเปิดโอกาสการแสดงความเห็น โดยอาจใช้วิธี “Public Speak Out” เช่นเดียวกับประเทศแอฟริกาใต้เคยนำมาใช้ในช่วงระดมความเห็นเพื่อร่วมแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดโรคเอดส์ นอกจากให้ข้อมูลที่เป็นสาระสำคัญในการแก้ไขกฎหมายแล้ว ยังเป็นช่องทางเพื่อรวบรวมความเห็นกลุ่มประชาชนที่ได้รับผลกระทบโดยตรง โดยผ่านการจัดเวทีเล็กๆ การจัดบูธต่างๆ รวมถึงการตั้งตู้รับฟังความเห็น เป็นต้น กระจายไปตามชุมชนแทรกเข้าไปในวิถีชีวิตประชาชนเพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วม ซึ่งใช้งบประมาณไม่มาก แต่ผลที่ได้รับคือการแก้ปัญหาจากเสียงสะท้อนในภาพรวมที่ก่อให้เกิดความยั่งยืน

“การกำหนด 3 ช่องทางประชาพิจารณ์กฎหมายบัตรทองขณะนี้ มองว่าเป็นการทำที่เจาะจงเฉพาะกลุ่มและยากที่คนทั่วไปจะเข้าถึงได้ โดยเฉพาะกลุ่มคนระดับรากหญ้า เข้าไม่ถึงไอที และเพื่อไม่ให้การแก้ไขกฎหมายนี้ถูกชี้นำโดยผู้มีการศึกษาสูง มีเศรษฐานะดี ที่เป็นกลุ่มที่เข้าถึงไอทีเท่านั้น จึงมีข้อเสนอเพิ่มช่องทางประชาพิจารณ์เพื่อเพิ่มโอกาสให้กลุ่มคนระดับรากหญ้า และที่เข้าไม่ถึงไอทีได้แสดงความเห็นว่าเขาเห็นด้วยใน 14 ประเด็นแก้ไขหรือไม่ หรือมีข้อกังวลอย่างไร ทั้งนี้เพื่อให้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นของทุกกลุ่ม ทุกเศรษฐานะ ไม่ถูกทอดทิ้งยามเจ็บป่วย โดยได้รับการดูแลตามอัตราภาพตามเจตนารมณ์ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” อาจารย์ประจำภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม กล่าว

นอกจากช่องทางรับฟังความเห็นที่จำกัดแล้ว ผศ.นพ.ธีระ กล่าวว่า เมื่อดูกระบวนการทำประชาพิจารณ์มองว่าเป็นการดำเนินที่เร่งรีบ เปรียบเหมือนอาหารจานด่วน ทั้งที่การปรับปรุงกฎหมายที่ส่งผลกระทบต่อคนจำนวนมากนั้นเป็นเรื่องสำคัญ จึงต้องใช้เวลาดำเนินการอย่างรอบคอบและครบถ้วน ไม่ใช่จำกัดเวลาให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน ดูแล้วจึงรู้สึกไม่สบายใจ เพราะเมื่อดูข้อเสนอแก้ไข มีประเด็นที่เกี่ยวข้องทั้งเรื่องสิทธิ การร่วมจ่าย ซึ่งทำให้เกิดความไม่มั่นใจต่อการเข้าถึงระบบสุขภาพในอนาคต รวมไปถึงการแก้ไของค์ประกอบบอร์ดหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่เสนอให้เพิ่มตัวแทนผู้ให้บริการทุกระดับและหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งจะทำให้กลายเป็นบอร์ดราชการ การคำนึงถึงประโยชน์ประชาชนก็จะลดน้อยลงหากสัดส่วนภาคประชาชนไม่มากพอ

นอกจากนี้ร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติฯ ที่หยิบยกแก้ไข 14 ประเด็นนั้น ยังเป็นการมุ่งแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นกับหน่วยบริการ ทั้งในเรื่องบุคลากร งบประมาณ และวิธีการทำงาน รวมถึงการอภิบาลระบบ แม้ว่าขณะนี้จะมีส่วนอื่นที่ยังเป็นปัญหาแต่ยังไม่ได้แตะไปถึง อาจด้วยเวลาที่รัฐบาลมีจำกัด จึงต้องเร่งแก้ไขปัญหาให้กับหน่วยบริการก่อน อาทิ การแยกเงินเดือน การสนับสนุนบริการในการจ้างบุคลากร การใช้งบค่าเสื่อม เป็นต้น แต่ทั้งนี้คงต้องรอดูว่าการแก้ไขนี้จะช่วยแก้ปัญหาให้กับหน่วยบริการได้ในระยะยาวหรือไม่ หรือเป็นเพียงแค่พาราเซตามอลที่ระงับปวดเท่านั้น