ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รมว.สธ.สนับสนุนการขับเคลื่อนโรงพยาบาลประชารัฐ ใช้พลังประชาชน เอกชน และรัฐ ร่วมพัฒนาคุณภาพการดูแลสุขภาพระดับอำเภอ เพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วยและญาติ เริ่มดำเนินการแล้ว 38 แห่ง ตั้งเป้าหมายโรงพยาบาลชุมชนทุกแห่งเป็นโรงพยาบาลประชารัฐในปี 2562 ยกต้นแบบ รพ.อุบลรัตน์ บริจาควันละ 3 บาทหรือปีละ 1,000 บาท เมื่อป่วยใช้ห้องพิเศษฟรี

นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับนโยบายโรงพยาบาลประชารัฐ ซึ่งเป็นโครงการที่คณะปฏิรูปโรงพยาบาลชุมชนเสนอขอรับการสนับสนุนจากกระทรวงสาธารณสุขว่า กระทรวงสาธารณสุข พร้อมสนับสนุนการดำเนินงานโรงพยาบาลประชารัฐ ได้มอบนโยบายให้นำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 มาใช้เป็นหลักในการทำงาน คือ เข้มแข็งจากภายใน เติบโตไปด้วยกัน และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เพื่อให้เป็นโรงพยาบาลที่มากกว่าโรงพยาบาล โดยคนในพื้นที่รู้สึกเป็นเจ้าของ และมีส่วนร่วมในการพัฒนาต่าง ๆ ซึ่งถือเป็นการขับเคลื่อนการปฏิรูประบบสุขภาพระดับอำเภอ ที่เน้นการทำงานและการใช้ทรัพยากรร่วมกันของทุกภาคส่วน

นพ.ปิยะสกล กล่าวต่อว่า ขณะนี้ ได้ดำเนินการในโรงพยาบาลอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น พบว่าได้ผลดี โดยเปลี่ยนวิธีคิดและการบริหารจัดการงบประมาณให้มีประสิทธิภาพ เปิดโอกาสให้ประชาชนและภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมกับโรงพยาบาล ให้ประชาชนร่วมบริจาควันละ 3 บาท หรือปีละ 1,000 บาท เมื่อป่วยสามารถใช้ห้องพิเศษฟรี ประสานภาคเอกชนรับผู้ป่วยที่พิการเข้าทำงาน และเชิญชวนบริษัทที่พร้อมทำธุรกิจที่ตอบแทนต่อสังคม ร่วมกับกรรมการสุขภาพอำเภอ และคลินิกหมอครอบครัว

เริ่มระยะ1 ตั้งแต่กรกฎาคม 2560 - กันยายน 2560 ในโรงพยาบาลชุมชน 38 แห่ง

ระยะที่ 2 ตุลาคม 2560-กันยายน 2561 ขยายเพิ่มจังหวัดละ 1 อำเภอทุกจังหวัด

และระยะที่ 3 ตุลาคม 2561-กันยายน 2562 จะขยายผลในโรงพยาบาลชุมชนทุกแห่งทั่วประเทศ

นอกจากนี้ โรงพยาบาลชุมชนถือเป็นหัวใจของระบบสุขภาพระดับอำเภอ มีการทำงานเชื่อมต่อส่งผู้ป่วยไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไปอย่างไร้รอยต่อ และรับดูแลผู้ป่วยที่พ้นระยะวิกฤตและมีอาการคงที่กลับมาดูแลฟื้นฟู โดยเฉพาะ 3 โรคสำคัญ คือ โรคหลอดเลือดสมอง การบาดเจ็บที่สมอง และการบาดเจ็บที่กระดูกสันหลัง เพื่อช่วยลดการนอนรักษาในโรงพยาบาลใหญ่ ผู้ป่วยได้รับการดูแลฟื้นฟูจากทีมหมอครอบครัวสหวิชาชีพต่อเนื่องจากโรงพยาบาลจนถึงบ้าน ทั้งด้านการทำกายภาพบำบัด โภชนาการ สอนญาติในการดูแลผู้ป่วย เพื่อช่วยลดความพิการ หรือบางรายหายเป็นปกติกลับไปทำงานเป็นพลังของสังคมได้