ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

จังหวัดระนอง จัดว่าเป็นจังหวัดหนึ่งที่ต้องตั้งใจเดินทางไปจริงๆ ครับ จนได้ฉายาว่า “ระนอง ต้องตั้งใจมา” สองข้างทางจากตัวเมืองระนองสู่อำเภอสุขสำราญที่ผมเดินทางมารับใช้ประชาชน ที่นี่เต็มไปด้วยสมุนไพรที่ผมเองก็แอบคิดว่า ชาวบ้านแถวนี้คงโชคดีมาก เพราะที่นี่มีสมุนไพรที่อุดมสมบูรณ์มากอยู่

เมื่อสมัยที่ผมเรียนที่คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่นี่มักจะเน้นการสอนวิชาที่มุ่งเน้นไปในสาย “Pharmaceutical science” เน้นทางด้านการผลิต และวิชาหนึ่งที่ผมรักมากที่สุดนั่นก็คือวิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ และเภสัชวินิจฉัย สมัยที่ผมเรียนก็ไม่เคยคาดคิดว่า วิชาเหล่านี้จะนำมาใช้ประโยชน์ให้กับประชาชนในอนาคตข้างหน้าได้เป็นอย่างดี ครั้นเมื่อใกล้ถึงวันสอบวิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ ผมจะนัดกับเพื่อนๆ ไปเดินชมสมุนไพรในสวนอุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ ที่ศาลายา จังหวัดนครปฐม พวกเราเดินไปก็ท่องชื่อสมุนไพรไป โดยเฉพาะชื่อวิทยาศาสตร์ที่จำได้ยากเย็นแสนเข็ญ หนึ่งในสมุนไพรนั้นก็มีสมุนไพรต้นหนึ่งที่เรามักจะท่องกันเล่นๆ เพื่อให้จำได้ง่าย และจำได้ขึ้นใจ นั่นก็คือ ต้น “ผู้ชาย อินเดีย ดื่มดี และฉี่บ่อย” ซึ่งนั่นก็คือชื่อของ ต้น Pluchea indica หรือ ต้น “ขลู่”นั่นเอง ในตอนนั้นเราจำได้ว่า สรรพคุณที่เรารู้จักคือยาขับปัสสาวะ ลดความดันโลหิตเท่านั้น

คุณก้อหนี หาญจิตร

เมื่อไม่นานมานี้ ผมมีโอกาสได้สัมภาษณ์ผู้ป่วยท่านหนึ่ง ชื่อคุณก้อหนี หาญจิตร ซึ่งท่านเองเป็นอดีตกำนันคนสำคัญของตำบลกำพวน อำเภอสุขสำราญ ผมเคยได้ยินกิตติศัพท์มาจากพี่ทีมงาน FCT ที่เราเป็นทีมเยี่ยมบ้านด้วยกันเป็นประจำ ซึ่งพี่มักจะเล่าให้ผมฟังว่า อดีตกำนันก้อหนี ท่านเป็นผู้ป่วยที่มีภาวะน้ำตาลสูงมากโดยค่าน้ำตาลสูงจนน่าตกใจ เฉลี่ยสูงเกือบ 800 mg% แต่หลังหลังจากที่มีการติดตามโดยทีมงาน FCT เรื่องการใช้ยา และการใช้ชีวิตประจำวัน และมีการติดตามค่าน้ำตาล ก็พบว่าผู้ป่วยนั้นมีการมีค่าน้ำตาลลดลงมาเป็นลำดับ

ทางทีมงานจึงได้ปรึกษาผมในฐานะเภสัชกรที่ดูแลงานเยี่ยมบ้าน เพื่อติดตามการใช้สมุนไพรของผู้ป่วยท่านนี้ที่ได้มีการใช้สมุนไพรชนิดหนึ่งที่เรียกว่า “ขลู่” ซึ่งผู้ป่วยใช้ดื่มเป็นน้ำชามาตลอด โดยดื่มชาใบขลู่หลังจากที่มีค่าน้ำตาลสูง เฉลี่ยอยู่ที่ 800 mg % และทางที่เยี่ยมบ้านได้มีการติดตามค่าน้ำตาลมาตลอดพบว่า หลังรับประทานชาใบขลู่ต่อเนื่อง ค่าน้ำตาลของผู้ป่วยท่านนี้ลดลงมาเป็นลำดับ 162 mg%, 144 mg% และ 134 mg% กอปรกับความดันโลหิตลดลง จาก 186/109 mmHg, 158/80 mmHg มาเป็น 130/80 mmHg ซึ่งลดลงได้เป็นอย่างดี

จากงานที่ได้รับมอบหมายจากทีมงาน FCT ผมจึงกลับมาศึกษาเรื่อง “ขลู่” สมุนไพรที่เคยรู้ว่ามันคือยาขับปัสสาวะตอนสมัยเรียนเป็นนักศึกษา ตอนนั้นตามหลักการพวกเราเคยถูกสอนในห้องเรียนว่าเราต้องมีการติดตามเรื่อง ความปลอดภัยจากการใช้สมุนไพรก่อนเป็นอันดับแรก เพราะอะไรก็ตามแต่ ที่เราได้ยินได้ฟังมาจากการบอกเล่านั้น จะต้องมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ (Evidence Base Medicine) ที่ถูกต้องเสียก่อนจึงจะยืนยันความปลอดภัยในการใช้สมุนไพรนั้นๆ ต่อไปในด้านประสิทธิภาพ หรือประสิทธิผลจากการใช้สมุนไพรนั้นๆ

ต้นขลู่

และจากหลักฐาน รวมทั้งจากบทความในด้าน Ethno Pharmacology และจากการแพทย์แผนไทย พบว่า ขลู่เป็นพืชสมุนไพรที่ใช้รับประทานเป็นผักเครื่องเคียงได้ โดยการนำใบไปลวกจิ้มน้ำพริก หรือใส่ในแกงคั่ว นอกจากนั้น ยังนำใบไปตากแห้ง ใช้ทำชา ดื่มแก้กระหายน้ำ ช่วยลดน้ำหนักได้เนื่องจากขับน้ำส่วนเกินได้เป็นอย่างดี อีกทั้ง ยอดอ่อนรับประทานโดยทำเป็นแกง ดอกนำไปยำกับเนื้อสัตว์ต่างๆ ได้ มีรสชาติอร่อย

ส่วนฤทธิ์ทางด้านสมุนไพรของขลู่นั้น ทั้งต้นใช้ต้มเป็นช่วยขับปัสสาวะ แก้ปัสสาวะพิการ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ต้มอาบ แก้ผื่นคันและโรคผิวหนัง

ใบและรากใช้แก้ไข้ พอกแก้แผลอักเสบ

ใบกับต้นอ่อนใช้รักษาอาการปวดตามข้อ

ใบช่วยรักษาโรคริดสีดวงทวาร โดยการคั้นน้ำจากใบสด แก้กระษัย ช่วยในด้านอายุวัฒนะ

รากสด รับประทานเพื่อฝาดสมาน แก้บิด ไข้หวัด

ซึ่งสรรพคุณดังที่บทความกล่าวมานั้น ถ้าเรายึดถือตามหลัก Ethno Pharmacology และหลักการแพทย์แผนไทย ถือได้ว่า ขลู่ เป็นสมุนไพรที่ปลอดภัย และสามารถใช้เป็นอาหารได้ อีกทั้งนำมาทำเป็นเครื่องดื่มประเภทชา ซึ่งกำนันก้อหนีที่ผมได้ไปสัมภาษณ์นั้นได้ให้ข้อมูลว่า จากการบอกเล่าของ ปู่ยา ตา ยาย สมุนไพรในบ้านสุขสำราญเรามีมากมาย โดยเฉพาะ ขลู่ ซึ่งเป็นพืชท้องถิ่นที่ขึ้นง่าย และมีขึ้นหนาแน่น ตามแหล่งพรุ หรือป่าชายเลนที่อุดมสมบูรณ์ และขึ้นเองตลอดทางจากตำบลนาคาซึ่งเป็นตำบลตอนเหนือของอำเภอสุขสำราญ ไปจนถึงตำบลกำพวน ซึ่งเป็นตำบลที่กำนันก้อหนี หาญจิตร เคยอยู่สมัยหนุ่มๆ ซึ่งก็พบว่า ขลู่เป็นสมุนไพรที่ถูกใช้มานาน โดยใช้เป็นชาในการรักษาเบาหวานความดันโลหิตสูง ตั้งแต่บรรพบุรุษ แม้กระทั่งชาวเล หรือชาวมอร์แกน ก็ปรากฎว่ามีการใช้เพื่อดูแลสุขภาพมานานแล้ว ชาวเล หรือชาวมอร์แกน มักเรียกขลู่ว่า "ชาเล"

และหนึ่งในงานเภสัชกรรมปฐมภูมิ รวมทั้งงานแพทย์แผนไทยนั้น จึงทำให้ผมได้จุดประกายขึ้นมาได้ว่านี่คืองานที่สามารถตอบโจทย์ตัวชี้วัดเรื่องการพึ่งพาตนเองด้วยสมุนไพร ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และกระทรวงสาธารณสุขได้อีกตัวชี้วัดหนึ่ง และยังเป็นการส่งเสริมภูมิปัญญาของคนท้องถิ่น ที่ได้เคยใช้กันมานานแล้ว เพียงแต่ขาดปัจจัยจะส่งเสริม และในการนำหลักวิชาการมาสนับสนุน เพื่อส่งเสริมความน่าเชื่อถือที่ว่า ให้เป็นไปตามหลักทางวิชาการมากขึ้น จึงเป็นที่มาของโครงการนำร่องพัฒนาตัวชี้วัดงานเภสัชกรรมปฐมภูมิ และงานส่งเสริมด้านสมุนไพรของแพทย์แผนไทย ในหัวข้อ การส่งเสริมการพึ่งพาตนเองด้านสมุนไพรโดยใช้ใบขลู่ เป็นหนึ่งในสมุนไพรที่จะนำมาช่วยส่งเสริมสุขภาพให้ชุมชน ผมได้เข้าไปติดตามดูแล กำนันก้อหนี หาญจิตร ท่านนี้ และขอให้ท่านได้เป็นตัวอย่างหรือนายแบบสุขภาพของเราที่พึ่งพาตนเองด้านสมุนไพรในการป้องกันและส่งเสริมสุขภาพ โดยให้ท่านเป็น “นายแบบขลู่” ซึ่งจะเป็นบุคคลต้นแบบ โดยเป็นผู้นำในการใช้สมุนไพรเพื่อการป้องกันและส่งเสริมสุขภาพ ในทางเดียวกันเหมือนที่ท่านเคยเป็นผู้นำในด้านการปกครองมาก่อนในตอนที่ท่านเคยดำรงตำแหน่งเป็นกำนันประจำตำบลกำพวน

ดอกขลู่

“ขลู่” อาจจะเคยถูกมองว่าเป็นดอกไม้ริมทางด้อยค่า และมองข้ามไปอย่างน่าเสียดาย แต่ในความเป็นจริงแล้วนั้น ดอกไม้ริมทางดอกนี้ เป็นสมุนไพรหนึ่งที่สำคัญที่มีส่วนช่วยในการป้องกันและส่งเสริมสุขภาพให้คนสุขสำราญที่เป็นเบาหวาน และความดันโลหิตสูง ที่รอคอยความหวังที่จะได้มีทางเลือกอีกทางหนึ่งในการดูแลสุขภาพที่ดีต่อไป ดังนั้นเราจึงได้มีดำริคิดทำโครงการต่อยอด โดยการนำหลักการงานประจำมาสู่งานวิจัยในอนาคตต่อไป โดยจะจัดทำโครงการเครื่องดื่มชาสมุนไพรในการส่งเสริมสุขภาพ และการส่งเสริมการปลูกขลู่ในชุมชน ทั้ง สถานที่ราชการ โรงพยาบาล โรงเรียน วัด มัสยิด รพ.สต. และบ้าน เพื่อตอบโจทย์หลายๆ โจทย์ที่รอคอยคำตอบต่อไป

ขอเชิญ...ติดตามรับชม...สกู๊ปสารคดี...รายการ “หมอข้างบ้าน” ทางสถานีโทรทัศน์ ช่อง ไทย พีบีเอส (Thai PBS ) ได้ที่นี่

ผู้เขียน : ภก.นวเรศ เหลืองใส โรงพยาบาลสุขสำราญ จังหวัดระนอง

ภก.นวเรศ เหลืองใส โรงพยาบาลสุขสำราญ จังหวัดระนอง