ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เครือข่ายแพทย์แผนไทยและหมอพื้นบ้าน ยื่นหนังสือถึง รมว.สาธารณสุข ขยายเวลารับฟังความเห็นพร้อมประชาพิจารณ์ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย / ร่าง พ.ร.บ.ผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยแห่งชาติ หลังเปิดรับฟังความเห็นเพียงช่องทางเดียวผ่านเว็บไซต์กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยฯ ระบุไม่รอบด้าน ส่งผลกระทบภายหลัง

พล.ร.อ.ชาญชัย เจริญสุวรรณ ประธานชมรมการแพทย์ภูมิปัญญา (อดีตประธานอนุกรรมาธิการปฏิรูปการแพทย์แผนไทย สภาปฏิรูปแห่งชาติ) กล่าวว่า จากรณีที่กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข ได้เปิดรับฟังความเห็นจากประชาชนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่อกฎหมายสำคัญ 2 ฉบับ คือ “ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย (ฉบับที่ ..) พ.ศ....” ซึ่ง ครม.ได้เห็นชอบในหลักการแล้วเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2560 โดยอยู่ระหว่างการรวบรวมความเห็นเพื่อเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณา และ ร่าง พ.ร.บ.ผลิตภัณฑ์สมุนไพรแห่งชาติ พ.ศ... ที่อยู่ระหว่างรอการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี ผ่านเว๊บไซต์ของหน่วยงาน http://www.dtam.moph.go.th/index.pxp เพียงช่องทางเดียวและไม่มีการเปิดเวทีประชาพิจารณ์ร่างกฎหมาย และสิ้นสุดในวันที่16 มิถุนายน นี้

เมื่อวันที่ 15 มิ.ย.เครือข่ายชมรมการแพทย์ภูมิปัญญา สมาพันธ์การแพทย์แผนไทยล้านนา สมาคมวิถีธรรมชาติ ชมรมแพทย์แผนไทยปราจีนบุรี วิสาหกิจชุมชนกลุ่มรักษ์สมุนไพร มูลนิธินโยบายสุขภาวะ สมาคมหมอเมืองล้านนา สมาคมเภสัชและอายุรเวชโบราณแห่งประเทศไทย สมาพันธ์เครือข่ายสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อมไทย (สคสท.) สมาคมสหพันธ์สุขภาพและสิ่งแวดล้อม (ประเทศไทย) และกลุ่มลักษณ์แผนไทย ได้ยื่นหนังสือถึง รมว.สาธารณสุข โดยมีความยินดีสนับสนุนกระทรวงสาธารณสุขที่จัดให้มีการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายเดิม คือ ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย (ฉบับที่ ...) พ.ศ. .... และยกร่างกฎหมายใหม่ คือ ร่างพระราชบัญญัติผลิตภัณฑ์สมุนไพรแห่งชาติ พ.ศ. ..... แต่มีข้อวิตกห่วงใยถึงผลกระทบที่อาจมีขึ้นในชั้นของการรับฟังความคิดเห็นตามที่กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยฯ ดำเนินการขณะนี้ เพราะใช้เว๊บไซต์หน่วยงานเพียงช่องทางเดียวเพื่อให้ประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียได้ร่วมแสดงความคิดเห็นต่อร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับนี้เท่านั้น จึงไม่อาจครอบคลุมรอบด้าน และทำให้ไม่สามารถเข้าถึงผู้มีส่วนได้เสียได้อย่างแท้จริง ส่งผลให้ข้อมูลความเห็นที่จะนำมาประกอบการจัดทำร่างกฎหมายอาจอยู่ในขอบเขตจำกัด ไม่ครบถ้วนมากพอต่อการนำมาวิเคราะห์เปรียบเทียบผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นได้

ชมรมการแพทย์ภูมิปัญญา และกลุ่มภาคีเครือข่ายแพทย์แผนไทยและหมอพื้นบ้าน จึงประกาศเจตนารมณ์ครั้งนี้ว่า ไม่เห็นด้วยและขอคัดค้านวิธีการรับฟังความคิดเห็นในร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ ผ่านช่องทางเว๊บไซต์กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยฯ โดยไม่ใช้ช่องทางอื่น รวมทั้งการเปิดเวทีประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นในรูปแบบอื่นที่มีความครอบคลุมทั่วถึงอย่างรอบด้านและเป็นระบบมากกว่า และขอตั้งข้อสังเกตไว้ว่าเหตุใดจึงไม่ใช้กระบวนการเปิดรับฟังความคิดเห็นและการทำประชาพิจารณ์ในช่องทางอื่นที่มีความหลากหลายไว้ด้วย

พล.ร.อ.ชาญชัย กล่าวว่า ชมรมการแพทย์ภูมิปัญญา และกลุ่มภาคีเครือข่ายแพทย์แผนไทยและหมอพื้นบ้าน จึงมีข้อเสนอแนะต่อกระทรวงสาธารณสุข ดังนี้

1.ขยายเวลาการรับฟังความคิดเห็นดังกล่าวออกไปจากที่กำหนดไว้

2.เปิดเวทีประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นร่วมกันทั่วทุกภูมิภาค เพื่อให้ผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholder) แพทย์แผนไทย หมอพื้นบ้าน สถาบันการศึกษา ภาคธุรกิจเอกชนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง (Key Partnership) ได้มีส่วนร่วมในเวทีรับฟังความคิดเห็นต่อร่างกฎหมาย 2 ฉบับนี้

3.ควรเปิดเผยผลการรับฟังความคิดเห็นและการวิเคราะห์นั้นต่อประชาชน และนำมาประกอบการพิจารณาในกระบวนการตรากฎหมายทุกขั้นตอน เมื่อกฎหมายมีผลใช้บังคับแล้วรัฐพึงจัดให้มีการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายทุกรอบระยะเวลาที่กำหนดโดยรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องประกอบด้วย เพื่อพัฒนากฎหมายทุกฉบับให้สอดคล้องและเหมาะสมกับบริบทต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป และเป็นไปตามแนวทางการจัดทำและเสนอร่างกฎหมายตามบทบัญญัติ มาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

“ในฐานะตัวแทนสมาชิกชมรมการแพทย์ภูมิปัญญา พร้อมกับแพทย์แผนไทยและหมอพื้นบ้าน ตลอดจนกลุ่มลักษณ์แผนไทย ยินดีสนับสนุนข้อมูลความคิดเห็นเพิ่มเติมในการยกร่างกฎหมายทั้งสองฉบับทุกขั้นตอนให้กับหน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุข สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อให้หน่วยงานของรัฐใช้เป็นกรอบหรือแนวทางการดำเนินการในการจัดทำร่างกฎหมายเพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญัติมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ และเป็นที่ยอมรับของสังคมโดยรวม” ประธานชมรมการแพทย์ภูมิปัญญา กล่าว