ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

หมอกระดูก รพ.แพร่ หนุนนโยบายผ่าตัดวันเดียว ชี้ปัจจัยความสำเร็จทั้ง 3 กองทุนสุขภาพต้องปรับวิธีจ่ายเงิน ยิ่ง“ผ่าตัดเร็ว-วันนอนน้อย” ยิ่งได้เงินเยอะ ส่วน สธ.ต้องลงทุนเครื่องมือใหม่ๆ ให้แพทย์ในระบบของรัฐได้มีทางเลือก และราชวิทยาลัยต้องสนับสนุนองค์ความรู้

นพ.ลักษณ์ ชุติธรรมานันท์

นพ.ลักษณ์ ชุติธรรมานันท์ หัวหน้ากลุ่มงานศัลยกรรมออร์โธปิดิกส์ โรงพยาบาลแพร่ จ.แพร่ ให้ความเห็นถึงการให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กรมบัญชีกลาง และสำนักงานประกันสังคม ปรับวิธีการจ่ายเงินเพื่อสนับสนุนและขับเคลื่อนคลินิกหมอครอบครัว One day surgery/Minimal invasive surgery ซึ่งเป็นหนึ่งในข้อเสนอของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่จะขับเคลื่อนให้เกิดผลใน 1 ปี 4 เดือน และผ่านการเห็นชอบจากประชุมคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินเชิงยุทธศาสตร์ (มินิคาบิเนต) ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เมื่อต้นเดือน มิ.ย.2560 ที่ผ่านมา ว่าเห็นด้วยกับนโยบายนี้ เพราะการผ่าตัดวันเดียวช่วยให้ผู้ป่วยลดวันนอนในโรงพยาบาล ซึ่งเป็นการลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อและประหยัดค่าใช้จ่ายทั้งของผู้ป่วยและกองทุนสุขภาพด้วย

นพ.ลักษณ์ กล่าวว่า การผ่าตัดในลักษณะนี้ สามารถทำได้ในบางโรค เช่น ผ่าตัดข้อเข่าเทียม ผ่าตัดกระดูกที่หักจุดเดียว หรือแม้แต่การผ่าตัดกระดูกสันหลังก็มีเทคโนโลยีกล้องเอ็นโดสโคปช่วยลดเวลาการผ่าตัดและเปิดแผลเล็ก บางโรคจากที่ต้องนอนพักฟื้น 10-14 วันก็สามารถผ่าเช้าเย็นกลับได้แล้ว ในต่างประเทศอย่างอังกฤษและสหรัฐอเมริกาพยายามทำเรื่องผ่าตัดวันเดียวกันมากขึ้น เนื่องจากกองทุนด้านสุขภาพรับค่าใช้จ่ายไม่ไหวและโรงพยาบาลถูกบีบด้วยงบประมาณ

นพ.ลักษณ์ กล่าวอีกว่า ในส่วนของเมืองไทย หากจะผลักดันให้นโยบายนี้ประสบความสำเร็จ โดยส่วนตัวคิดว่ามี 2-3 ปัจจัยที่มีส่วนสำคัญคือ

1.กองทุนด้านสุขภาพต้องปรับวิธีการจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้จูงใจมากขึ้น เพราะระบบการจ่ายเงินแบบเดิมยิ่งผู้ป่วยใช้วันนอนนาน โรงพยาบาลยิ่งได้เงินเยอะ และเพื่อความอยู่รอดโรงพยาบาลของรัฐจึงมีแนวโน้มจะให้ผู้ป่วยนอนนานๆ เข้าไว้ก่อน

“อย่างการผ่าตัดกระดูกสะโพกหัก บ้านเราต้องอยู่นานๆ 3-7 วันโรงพยาบาลถึงจะได้เงินเยอะ แต่ถ้าผ่าตัดวันเดียว ผ่าวันนี้กลับบ้านพรุ่งนี้โรงพยาบาลได้เงินน้อยกว่า ดังนั้นต้องมีนโยบายทางการเงินที่จูงใจ เช่น อังกฤษผลักดันให้ผ่าใน 24-48 ชั่วโมง ถ้าทำได้จะให้เงินเพิ่มเพราะถือว่าทำดี ไม่ใช่ลงโทษว่าผ่าตัดเร็วแล้วได้เงินน้อยกว่าผ่าตัดช้าและนอนโรงพยาบาลหลายวัน” นพ.ลักษณ์ กล่าว

2.สธ.ต้องผลักดันหน่วยบริการให้ทำการผ่าตัดวันเดียวให้มากขึ้น เช่น อาจตั้ง Node รอบๆ โรงพยาบาลศูนย์ เพื่อกระจายผู้ป่วยที่ไม่มีความเร่งด่วนไปผ่าตัดที่ Node แทน เนื่องจากโรงพยาบาลศูนย์จะมีความซับซ้อน ส่วนใหญ่มีคนไข้ที่มีปัญหาความเป็นความตาย มีความเร่งด่วน และมีเนื้องานมหาศาล การทำเรื่องผ่าตัดวันเดียวอาจทำได้ลำบาก แต่ในส่วนของโรงพยาบาลทั่วไป หรือโรงพยาบาลชุมชนขนาดใหญ่ยังมีศักยภาพในการทำเรื่องนี้ได้

นอกจากนี้ สธ.ควรลงทุนกับเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อให้แพทย์ในโรงพยาบาลรัฐได้มีโอกาสเรียนรู้และมีทางเลือกในการใช้เครื่องมือใหม่ๆ ขณะเดียวกัน ตัวแพทย์เองก็ต้องมีความสนใจและพัฒนาตัวเองอย่างสม่ำเสมอ

3.ราชวิทยาลัยต่างๆ ต้องสนับสนุนด้านองค์ความรู้ ซึ่งปัจจุบันก็เริ่มให้ความสนใจกันมากขึ้นแล้ว แต่การทำเรื่องใหม่ๆ ก็อาจโดนต่อต้านว่าเป็นไปไม่ได้ ดังนั้นในส่วนนี้คงต้องใช้เวลาสร้างการยอมรับอีกระยะหนึ่ง