ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ยื่น 3 เงื่อนไข ร่วมเวทีปรึกษาสาธารณะแก้ กม.บัตรทอง พรุ่งนี้ ย้ำต้องไม่ใช่อยู่ท่ามกลางสถานการณ์สู้รบ ทหารตำรวจเข้าควบคุม ไม่รีบรวบรัดสรุปประเด็นรีบเดินหน้ายกร่างแก้ไข ยกประเด็นขัดแย้งเห็นต่างสู่เวทีสมัชชาสุขภาพหาข้อสรุป ด้าน “หมอพลเดช” เผย มีผู้แทนร่วมหารือ 3 กลุ่ม ภาคประชาชน ผู้ให้บริการ และ สปสช. ยืนยัน 30 มิ.ย.นี้ รวบรวมความเห็นส่ง คกก.ยกร่างฯ แน่นอน ระบุ สช.พร้อมจัดเวทีสาธารณะหากมีผู้เสนอ ส่วนจะเดินหน้าแก้ไข กม. หรือรอข้อสรุปเวทีสมัชชาหรือไม่ ขึ้นอยู่กับ รมว.สาธารณสุข เป็นผู้ตัดสิน

ที่สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ – เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2560 เวลา 11:30 น. กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ พร้อมด้วยเครือข่ายผู้ป่วย นำโดย นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์, นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, นางสาวสุภัทรา นาคะผิว ผู้อำนวยการมูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์, นางสาวกรรณิการ์ กิจติเวชกุล ผู้ประสานงานกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอ ว็อชท์) และนายธนพลธ์ ดอกแก้ว ประธานชมรมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย ได้เข้าหารือ นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ และประธานคณะอนุกรรมการดำเนินการประชาพิจารณ์พิจารณา (ร่าง) พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ฉบับที่...) พ.ศ. ... ถึงการประชาพิจารณ์ร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติฯ ในเวทีปรึกษาสาธารณะ ซึ่งจะมีขึ้นในวันพรุ่งนี้ (21 มิ.ย. 60)

ทั้งนี้ภายหลังการหารือซึ่งใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง นายนิมิตร์ พร้อมด้วยกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ได้ร่วมกันแถลงถึงข้อสรุปจากการหารือว่า ในการหารือวันนี้เนื่องจากภาคประชาชนมีความกังวลต่อเวทีปรึกษาฯ ที่จะเกิดขึ้น ดังนั้นในการเข้าหารือกับ นพ.พลเดช จึงได้นำเสนอเงื่อนไขการเข้าร่วม 3 ข้อ เพื่อให้เกิดกระบวนการพูดคุยที่ได้ข้อสรุปเดินไปด้วยกัน คือ

1.ต้องเป็นเวทีพูดคุยกันที่ไม่ใช่ในภาวะสงครามเต็มไปหมด เราเรียกร้องฝ่ายจัดการให้ฝ่ายความมั่นคงว่า กระบวนการที่จะไปพูดคุยนั้นไม่ไปคุยท่ามกลางสถานการณ์สู้รบที่มีทหารตำรวจเต็มไปหมด โดยจะมีภาคประชาชนร่วมตามจำนวนที่ได้รับ 18 คน แต่อาจมี 5 คนติดตามไปแต่อยู่นอกห้องประชุม

2.การคุยพรุ่งนี้ต้องไม่เป็นการคุยเพื่อรวบรัดประเด็น แต่เราอยากเห็นการคุยเพื่อหาข้อยุติร่วมให้ได้ โดยเราคาดหวังว่าจะเห็นประเด็นที่ทุกภาคส่วนเห็นร่วมกัน ประเด็นที่ทุกภาคส่วนเห็นต่างกัน และประเด็นข้อเสนอแนะที่นำไปสู่การปฏิรูประบบสุขภาพ และเป็นธรรมกับทุกคน โดยเวทีพรุ่งนี้ สช.ต้องไปรวบรัด ไม่ตัดประเด็น ไม่ปิดโอกาสการแสดงความเห็น คนทุกฝ่ายต้องได้แสดงความเห็น และขมวด 3 เรื่องนี้ให้ได้

3.กระบวนการหลังจากวันพรุ่งนี้ รัฐบาลต้องไม่เร่งรัดนำข้อสรุปเข้าสู่คณะกรรมการยกร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติฯ โดยรีบสรุปร่างกฎหมาย เนื่องจากหากยังมีประเด็นที่เห็นต่างกันอยู่ ได้หารือกับสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ว่าจากนี้จะขอให้กระบวนการสมัชชาสุขภาพ กำหนดเป็นวาระพิเศษหรือประเด็นเฉพาะ มีการศึกษาเพื่อนำไปสู่ทางออกการแก้ไขกฎหมายดีที่สุด

“เวทีวันพรุ่งนี้ต้องมีทั้งเรื่องที่เห็นร่วมกันและดำเนินกระบวนการต่อได้ แต่ประเด็นที่เห็นต่างคงต้องหยุดและมาใช้กระบวนการสมัชชาดำเนินการต่อ นอกจากนี้ควรมีการพูดคุยเรื่องที่ควรแก้เพื่อนำไปสู่การปฏิรูประบบที่คงต้องหารือร่วมกัน” นายนิมิตร์ กล่าวและว่า ทั้งนี้ในวันพรุ่งนี้หากยังคงมีกองกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารมาประจำการเช่นเดียวกับเวทีที่ผ่านมา ภาคประชาชนคงไม่เข้าร่วมแน่นอน

ด้าน นพ.พลเดช กล่าวว่า ในเวทีปรึกษาสาธารณะฯ พรุ่งนี้ จะมีผู้เข้าร่วมหารือ 3 ส่วน คือ 1.ภาคประชาชน 2.ผู้ให้บริการ และ 3.สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) คาดว่ามีจำนวนประมาณ 100 คน โดยรูปแบบจะแบ่งเป็นกลุ่มย่อยคละกันทุกภาคส่วน เพื่อสรุปหารือในประเด็นการแก้ไขต่างๆ โดยคณะอนุกรรมการประชาพิจารณ์ฯ จะทำการสรุปการรับฟังความเห็นทั้งหมดเพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการยกร่างฯ ในวันที่ 30 มิถุนายน นี้ตามกำหนดการเดิม

ส่วนกรณีที่ภาคประชาชนเสนอให้มีการนำประเด็นที่ยังหาข้อสรุปไม่ได้เข้าสู่กระบวนการสมัชชานั้น เรื่องนี้สามารถทำได้ โดยกระบวนการสมัชชาสามารถนำเสนอได้โดยภาคประชาชน หน่วยงานทั้งกระทรวงสาธารณสุข และ สปสช. และคณะรัฐมนตรี โดยทำเป็นหนังสือเข้ามายัง สช. ส่วนร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติฯ จะเดินหน้าต่อหรือไม่ หรือจะรอผลจากเวทีสมัชชาในประเด็นที่ยังเห็นต่างนั้น เรื่องนี้คงขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของ รมว.สาธารณสุข ซึ่งเป็นผู้ตัดสินนโยบาย