ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

อดีตอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนฯ แนะ สธ.ออกมาตรการเข้ม โรงพยาบาลไหนไม่ขายประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าวให้ถือว่ามีความผิด แก้ปัญหาคลอดลูกแล้วทิ้งเพราะไม่มีเงินจ่ายค่ารักษา ชี้ยิ่งขายประกันเยอะ สธ.ยิ่งได้กำไร

มูลนิธิภิวัฒน์สาธารณสุขไทย (ภวส.) ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเวทีเสวนาเรื่อง “เด็กไร้สัญชาติพุ่ง ลูกแรงงานข้ามชาติถูกทิ้งคาโรงพยาบาล เหตุไม่มีเงินจ่าย” เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. 2560ที่ผ่านมา โดยมีนายภาคภูมิ แสวงคำ เจ้าหน้าที่มูลนิธิรักษ์ไทย และ นายสุรพงษ์ กองจันทึก ประธานมูลนิธิช่วยเหลือสังคมเพื่อเด็กและสตรี และอดีตอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติและผู้พลัดถิ่น เข้าร่วมเสวนา

นายสุรพงษ์ กล่าวว่า ปัญหาแรงงานข้ามชาติคลอดบุตรแล้วทิ้งไว้ที่โรงพยาบาล เป็นปัญหาที่มีมานานนับ 10 ปี และยังคงมีอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจัยที่ทำให้เด็กถูกทิ้งมีหลายองค์ประกอบ เช่น ไม่มีเงินจ่าย เรื่องนี้เป็นสาเหตุที่มีการพูดถึงกันอย่างมาก บางคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย เมื่อคลอดลูกแล้วมีค่าใช้จ่ายในการรักษาสูงแล้วรู้ตัวว่าไม่มีเงินจ่ายก็หลบหนีเพราะกลัวโรงพยาบาลจะเรียกตำรวจมาจับ นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นๆ เช่น ไม่พร้อมดูแล นายจ้างไม่ให้เอาเด็กเข้าไปอยู่ในสถานประกอบการ หรืออาจเป็นเพราะเด็กคลอดออกมาแล้วไม่ปกติ สุขภาพไม่แข็งแรง เป็นต้น

นายสุรพงษ์ กล่าวอีกว่า ในส่วนของประเด็นการทิ้งเด็กเพราะไม่มีเงินจ่ายให้โรงพยาบาลนั้น จะเห็นได้ว่าปกติรัฐบาลวางระบบให้แรงงานข้ามชาติมีสิทธิในการรักษาพยาบาลอยู่แล้ว คือการขายบัตรประกันสุขภาพในราคา 3,200 บาท/2ปี สำหรับแรงงานที่จดทะเบียนแรงงานต่างด้าว หรือแม้แต่กลุ่มแรงงานที่เข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายก็มีนโยบายให้ขายบัตรประกันสุขภาพให้ในราคา 2,000 บาท/ปี และประกันสุขภาพสำหรับเด็ก 365 บาท/ปี

อย่างไรก็ตาม ในบางพื้นที่มีแรงงานข้ามชาติมาขึ้นทะเบียนหรือซื้อบัตรประกันสุขภาพน้อย หรือได้รับการจัดสรรงบรายหัวตามจำนวนประชากรที่มีทะเบียนบ้านในพื้นที่ แต่ในทางปฏิบัติกลับมีประชากรแฝงจำนวนมาก ทำให้สถานบริการมีรายได้น้อยแต่ต้องดูแลผู้ป่วยจำนวนมากจนเกิดภาวะขาดทุน ซึ่งทางออกของปัญหาคือต้องรณรงค์ให้แรงงานข้ามชาติมาขึ้นทะเบียนหรือมาซื้อประกันสุขภาพเยอะๆ หรือต้องปรับระบบการจัดสรรงบประมาณใหม่ จากเดิมจ่ายตามจำนวนประชากรที่มีทะเบียนบ้านในพื้นที่ เป็นจ่ายตามจำนวนประชากรที่มีในพื้นที่จริง จะช่วยลดความกดดันของโรงพยาบาลในเรื่องค่าใช้จ่ายได้

“บางพื้นที่ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอาจจะไม่เข้าใจ หรือผู้ว่าราชการจังหวัดไม่เข้าใจนโยบาย เช่น กลัวว่าหากให้แรงงานที่เข้าเมืองผิดกฎหมายมาซื้อประกันสุขภาพแล้วจะทำให้มีแรงงานผิดกฎหมายเข้ามามากขึ้น จึงไม่ขายประกันสุขภาพให้ ซึ่งเรื่องนี้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จำเป็นต้องทำความเข้าใจกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และควรทำหนังสือเวียนไปยังหน่วยงานในสังกัด ให้ดำเนินการรักษาแรงงานข้ามชาติและห้ามปฏิเสธการขายประกันสุขภาพ หากปฏิเสธจะมีความผิด หรือหาก สธ.ไม่สามารถทำได้ อาจก็อาจให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกคำสั่งตามรัฐธรรมนูญมาตรา 44”นายสุรพงษ์ กล่าว

นายสุรพงษ์ กล่าวอีกว่า การทำเช่นนี้อาจมีเสียงวิจารณ์ว่าเป็นการใช้ภาษีของคนไทยมาอุดหนุนแรงงานข้ามชาติ หรือค่าใช้จ่ายของแรงงานข้ามชาติต่ำกว่างบประมาณรายหัวบัตรทองเสียอีก ซึ่งประเด็นนี้ยืนยันว่าแรงงานข้ามชาติก็ต้องเสียภาษี ทั้งภาษีทางตรงและภาษีทางอ้อมหรือ VAT 7% เมื่อซื้อสินค้าและบริการในประเทศไทย

นอกจากนี้ หากดูตัวเลขการขายบัตรประกันสุขภาพโดยรวม รัฐไม่เสียประโยชน์และยังได้กำไรอีก เนื่องจากตามสถิติแต่ละปีมีค่าใช้จ่ายสำหรับแรงงานที่มีประกันสุขภาพมารับบริการในโรงพยาบาลของรัฐประมาณ 600 ล้านบาท และแรงงานที่เข้าเมืองผิดกฎหมายที่มารับบริการแล้วไม่มีเงินจ่ายจนโรงพยาบาลต้องสงเคราะห์อีกประมาณ 300 ล้านบาท รวมแล้วประมาณปีละ 900 ล้านบาท แต่ตัวเลขที่รัฐบาลบอกว่ามีแรงงานข้ามชาติมาขึ้นทะเบียนประมาณ 1 ล้านคน ซึ่งบัตรประกันสุขภาพขายอยู่ที่ 3,200 บาท/2ปี หรือปีละ 1,600 ล้านบาท เมื่อมีแรงงานขึ้นทะเบียน 1 ล้านคนเท่ากับมีรายได้จากการขายประกันสุขภาพปีละ 1,600 ล้านบาท แต่มีค่าใช้จ่าย 900 ล้านบาท ดังนั้นในภาพรวมแล้วรัฐหรือ สธ.ยังได้กำไร

ขณะที่การบอกว่าขายประกันสุขภาพในราคาที่ต่ำกว่างบรายหัวบัตรทองนั้น ในทางปฏิบัติแล้วแรงงานข้ามชาติหากไม่จำเป็นจริงๆ จะไม่ค่อยมารับบริการ ทางโรงพยาบาลจึงมีค่าใช้จ่ายไม่มาก เห็นได้จากในอดีตที่เคยเปิดให้โรงพยาบาลเอกชนขายประกันสุขภาพให้แรงงานข้ามชาติได้ ปรากฏว่าโรงพยาบาลเอกชน เช่น ในพื้นที่ จ.สมุทรสาคร ยังสามารถขายและบริหารให้มีกำไรได้

ทั้งนี้ ในส่วนของเด็กที่ถูกทิ้งนั้น เป็นหน้าที่ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ที่ต้องดูแล นอกจากนี้ยังมีเอกชนบางส่วนที่รับดูแลเด็กที่ถูกท้องเหล่านี้ เช่น มูลนิธิช่วยเหลือสังคมเพื่อเด็กและสตรี ดำเนินการในพื้นที่ อ.แม่สอด จ.ตาก ส่วนทางออกในเรื่องสถานะบุคคลของเด็กกลุ่มนี้ มติคณะรัฐมนตรีวันที่ 7ธ.ค. 2559 ที่ผ่านมา ได้เปิดให้เด็กขอสัญชาติไทยได้ 2 ช่องทางคือ 1.เป็นลูกของแรงงานข้ามชาติที่เกิดในไทยและเรียนจนจบการศึกษาในระดับปริญญาตรี หรือ 2.เกิดในประเทศไทย มีบัตรแสดงสถานะบุคคล อยู่ในไทย 10 ปีขึ้นไป เคยได้รับการศึกษาไนไทย อีกทั้งเป็นบุคคลไร้รากเหง้าหรือไม่ทราบว่าพ่อแม่เป็นใครและมีหนังสือรับรองจาก พม. ก็สามารถขอสัญชาติไทยได้เช่นกัน โดยขณะนี้ตนร่วมกับ พม.อยู่ระหว่างดำเนินการให้มีเคสแรกเกิดขึ้นก่อน โดยคาดว่าจะเริ่มที่เด็กที่อยู่ในสถานสงเคราะห์หรือบ้านพักเด็กของพม.ก่อน ส่วนเด็กที่อยู่ในการอุปการะโดยเอกชน กำลังหารือแนวทางว่าต้องมีหนังสือรับรองจากสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.)

ด้านนายภาคภูมิ กล่าวว่า จากการทำงานกับแรงงานข้ามชาติในพื้นที่ จ.สมุทรสาคร สมุทรสงคราม ตราด และสุราษฎร์ธานีมา 10 ปี พบว่าจำนวนเด็กที่คลอดแล้วถูกทิ้งไม่ได้มีมาก ส่วนใหญ่หากไม่มีเงินจ่ายก็จะทำเรื่องค้างชำระแล้วผ่อนจ่ายกับโรงพยาบาล แต่ก็มีบางส่วนที่ทิ้งเด็กเพราะมีลูกโดยไม่พร้อม ไม่ได้วางแผนครอบครัวก่อนซึ่งแนวทางแก้ปัญหาในเรื่องนี้ คิดว่าควรทำงานในเชิงป้องกัน เช่น ให้ความรู้ในเรื่องการคุมกำเนิด การวางแผนครอบครัว จะเป็นทางออกที่ดีที่สุด

นายภาคภูมิ กล่าวอีกว่า ในส่วนของปัญหาเรื่องแรงงานข้ามชาติไม่ซื้อบัตรประกันสุขภาพ พบว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะการประชาสัมพันธ์ไม่ทั่วถึง แรงงานบางส่วนที่ทำงานในอำเภอรอบนอกไม่ค่อยทราบข้อมูล และอีกส่วนคือตัวสถานบริการเองที่ได้งบรายหัวน้อย หรือมีแรงงานมาซื้อประกันสุขภาพน้อย จึงมีนโยบายไม่ขายประกันสุขภาพให้แรงงานที่ตั้งครรภ์ หรือผู้ติดเชื้อ HIV หรือบางพื้นที่ให้รวมกลุ่มกันมาซื้อขั้นต่ำ 50 คน/โรงงาน ซึ่งเป็นส่วนที่สร้างอุปสรรคให้แรงงานที่ต้องการซื้อประกัน

“พฤติกรรมการรับบริการสุขภาพของแรงงานข้ามชาติก็ไม่ต่างจากคนไทย คือไม่จำเป็นจริงๆ ไม่มาโรงพยาบาล เพราะการลางาน 1 วันก็เท่ากับรายได้หายไป 1 วัน ส่วนใหญ่หากป่วยเล็กๆน้อยๆจะเลือกไปคลินิกมากกว่า ดังนั้นต่อให้ซื้อประกันสุขภาพไปแล้ว ในทางปฏิบัติก็จะไปคลินิกเอกชนกัน” นายภาคภูมิ กล่าว