ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

5 องค์กรหลัก ประกอบด้วย สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และกรุงเทพมหานคร ร่วมกันจัดงาน “Kick off เขตสุขภาพเพื่อประชาชน” เพื่อขับเคลื่อนการเสริมสร้างสุขภาวะของประชาชนโดยใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง สร้างนวัตกรรมการทำงานบูรณาการแบบใหม่ ขับเคลื่อนงานสุขภาวะโดยใช้พื้นที่เป็นฐาน มุ่งเป้ายกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน ก้าวข้ามความขัดแย้ง

พลเรือเอกณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะ ประธานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวปาฐกถาพิเศษเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ “Kick off เขตสุขภาพเพื่อประชาชน” ภายใต้หัวข้อ “เขตสุขภาพเพื่อประชาชน กลไกพัฒนาระบบสุขภาพระดับพื้นที่ และประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับ” ว่า เขตสุขภาพเพื่อประชาชนถูกจัดตั้งตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดตั้งเขตสุขภาพเพื่อประชาชน พ.ศ.2559 เพื่อเป็นกลไกการปฏิรูประบบสุขภาพที่มองทุกมิติ ทั้งกาย ใจ สังคม และปัญญา ซึ่งการขับเคลื่อนการทำงานที่สำคัญของ กขป. จะเป็นการนำความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ และเครือข่ายที่หลากหลายของกรรมการ มาช่วยกันกำหนดประเด็นด้านสุขภาพที่เป็นปัญหาในพื้นที่ที่ต้องขับเคลื่อนร่วมกัน โดยบูรณาการทรัพยากรที่มีอยู่แล้ว ทั้งงบประมาณรัฐ หรือของเอกชนที่พร้อมมาเชื่อมโยงเพื่อสนับสนุนให้เกิดประโยชน์สูงสุด

“การทำงานของ กขป. ถือเป็นงานอาสา ที่ทุกคนต้องเสียสละเวลาและความสุขส่วนตัวมาช่วยกันแก้ปัญหา โดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง”

หลังจากนั้นได้มีการเสวนา “สร้างพลังบูรณาการอย่างไร ผ่านกลไกเขตสุขภาพเพื่อประชาชน” โดย แพทย์หญิงประนอม คำเที่ยง รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข, นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ, ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ และนายแพทย์พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ

นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า กขป. เป็นกลไกที่เกิดขึ้นเพื่อเติมเต็มประเด็นที่มีผลต่อสุขภาพให้รอบด้านมากขึ้น ทั้งคุณภาพชีวิต สังคม ความเป็นชุมชน ภัยพิบัติ และสิ่งแวดล้อม ฯลฯ เป็นกลไกใหม่ที่มองมิติด้านสุขภาพในมุมมองที่กว้างขึ้น ทำหน้าที่เชื่อมโยงการทำงานของทุกภาคส่วน

“โครงสร้างของ กขป. ที่มีกรรมการมาจากตัวแทนทุกภาคส่วน เหมือนเป็นการทำงานแบบสภา แต่เวทีนี้ไม่ใช่เวทีต่อสู้ แย่งชิง และรักษาผลประโยชน์ของกลุ่มตนเอง แต่เป็นสภาของภาคพลเมืองที่ทุกภาคส่วนมาประสาน สนับสนุนและช่วยเหลือเพื่อประโยชน์ของประชาชนในพื้นที่ กขป. นับเป็นอีกกลไกในการสร้างสันติวัฒนธรรมให้เกิดขึ้น”

พญ.ประนอม คำเที่ยง รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่าเขตสุขภาพเพื่อประชาชน เป็นการทำงานโดยใช้พื้นที่เป็นฐานที่ถูกผลักดันมาตลอด 30 ปี เพราะกระทรวงสาธารณสุขให้ความสำคัญงานส่งเสริมป้องกันมากกว่าการรักษา เพื่อป้องกันผลกระทบจากปัจจัยเสี่ยง หรือ “สร้างนำซ่อม” ซึ่งต้องอาศัยทุกภาคส่วนมาร่วมมือกัน

“เราต้องก้าวข้ามความขัดแย้ง และมาปรับทัศนคติมองสิ่งที่จะทำให้ประชาชนเกิดประโยชน์ ทำทุกอย่างเพื่อสาธารณะ ไม่มีใครเป็นเจ้าของอะไร ทุกอย่างจะง่ายขึ้น"

ด้าน นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่าคำถามตั้งต้นของ กขป. คือการวางภาพพึงประสงค์ของสุขภาวะในพื้นที่ และทุกภาคส่วนมารับผิดชอบและขับเคลื่อนร่วมกันให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรม ถือเป็นการบูรณาการแนวราบที่มีสหวิชาชีพมาทำงานร่วมกัน โดยมีนโยบายมาเสริม และใช้ทุนในพื้นที่ ซึ่ง สปสช. เองก็มีกองทุนสุขภาพตำบลกว่า 8,000 กองทุนในตำบลต่างๆ ที่สามารถสนับสนุนการทำงานของ กขป. ได้

“กขป. เป็นกลไกเสริม เป็นนวัตกรรมการทำงานแบบใหม่ เพื่อแก้ปัญหาของประเทศที่นับวันจะซับซ้อนมากขึ้น ทำให้ประชาชนได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่”

ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ กล่าวว่า สสส. ในฐานะร่วมเป็นกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชนในทุกเขตและเป็นเลขานุการร่วมของ กขป. จะใช้บทบาทนี้สนับสนุนให้เกิดการสร้างสุขภาพในมิติพฤติกรรมทางสังคมและสิ่งแวดล้อม โดย สสส.จะใช้พลังทรัพยากรที่มีอยู่ซึ่งสะสมมากว่า 10 กว่าปี ทั้งความรู้ ภาคีเครือข่าย และการทำงานในลักษณะถักทอประสานกับเครือข่ายทุกภาคส่วนต่างๆ มาร่วมสร้างเป้าหมายและทิศทางร่วมกัน เนื่องจาก สสส. ไม่ใช่หน่วยงานบริการสุขภาพ แต่เป็นหน่วยสนับสนุนที่คล่องตัวและสนับสนุนทุกภาคส่วนทั้งภาคประชาสังคม วิชาการ เอกชน และภาครัฐหลายภาคส่วน พร้อมกับมีโครงสร้างแผนงานต่างๆ ภาคีเครือข่ายที่กระจายทุกพื้นที่ องค์ความรู้จากศูนย์วิชาการต่างๆ รวมถึงการทำงานในภาพรวมที่เป็นโจทย์ของทั้งประเทศที่พร้อมร่วมสนับสนุนต่อไป