ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สธ.พัฒนาระบบการผ่าตัดแบบวันเดียวกลับ ผู้ป่วยมีแผลเล็กเจ็บน้อย ไม่นอนโรงพยาบาลนาน ลดคิวรอผ่าตัด ลดแออัดในโรงพยาบาล ตั้งเป้าทุกเขตสุขภาพผ่าตัดแบบวันเดียวกลับ 5,000 รายต่อปี ผ่าตัดแผลเล็ก 1,000 รายต่อปี ช่วยรัฐประหยัดงบการดูแลผู้ป่วย 1,267.50 ล้านบาท ครม.เห็นชอบให้ 3 กองทุนสุขภาพปรับวิธีการจ่ายเงินเพื่อสนับสนุน

นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้ขับเคลื่อนการปฏิรูประบบสาธารณสุข (MOPH 4.0) โดยขับเคลื่อนคลินิกหมอครอบครัวให้ทุกครัวเรือนมีทีมหมอครอบครัวดูแล เน้นการดูแลส่งเสริมสุขภาพการป้องกันโรค ขณะเดียวกัน ให้โรงพยาบาลใหญ่พัฒนาระบบการผ่าตัดแบบวันเดียวกลับ one day surgery) และการผ่าตัดแผลเล็ก (Minimally invasive surgery) ยกระดับการเข้าถึงเทคโนโลยีการแพทย์ชั้นสูงของประชาชน

ซึ่งที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กรมบัญชีกลาง และสำนักงานประกันสังคม ปรับวิธีการจ่ายเงินเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานดังกล่าว ตาม 1 ใน 5 ข้อเสนอของกระทรวงสาธารณสุขที่จะขับเคลื่อนให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมใน 1 ปี 4 เดือนจากนี้ไป ตั้งเป้าหมายภายในปี 2564 ทุกเขตสุขภาพมีโรงพยาบาลศูนย์อย่างน้อย 1 แห่งมุ่งสู่ความเป็นเลิศด้านการผ่าตัดแบบวันเดียวกลับและการผ่าตัดแผลเล็ก ลดค่าใช้จ่ายในการดูแลผู้ป่วย 1,267.50 ล้านบาท ใน 5 ปี โดยแต่ละเขตสุขภาพผ่าตัดวันเดียวกลับได้ 5,000 รายต่อปี และผ่าตัดแผลเล็ก 1,000 รายต่อปี

นพ.โสภณ กล่าวต่อว่า ขณะนี้ โรงพยาบาลหลายแห่งในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข สามารถทำการผ่าตัดรูปแบบใหม่ วันเดียวกลับ (one day surgery) โดยให้ผู้ป่วยเตรียมตัวก่อนการผ่าตัดที่บ้านและมารับการผ่าตัดที่โรงพยาบาล หลังพักฟื้นจากการผ่าตัดไม่กี่ชั่วโมงสามารถช่วยเหลือตัวเอง และกลับบ้านได้ในวันเดียวหรืออยู่ในโรงพยาบาลไม่เกิน 24 ชั่วโมง

รวมทั้งพัฒนาระบบการผ่าตัดแผลเล็ก (Minimal invasive surgery) ด้วยการส่องกล้องผ่าตัด ช่วยให้ผู้ป่วยมีแผลเล็ก เจ็บน้อย ฟื้นตัวเร็ว ลดเวลานอนในโรงพยาบาล ลดการติดเชื้อของแผลผ่าตัดและลดการติดเชื้อในโรงพยาบาล ลดภาระค่าใช้จ่ายและการเสียรายได้ของผู้ป่วยและญาติระหว่างมาโรงพยาบาล ช่วยเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจองค์รวมของประเทศ รวมทั้งช่วยลดระยะเวลารอคอยผ่าตัด ทำให้โรงพยาบาลผ่าตัดผู้ป่วยได้มากขึ้น เนื่องจากไม่ต้องใช้เตียงนอนเตรียมตัวก่อนผ่าตัด ไม่ต้องรอเตียงว่าง ลดความแออัดในโรงพยาบาล มีเตียงรองรับผู้ป่วยผ่าตัดฉุกเฉินหรือโรคที่ยุ่งยากซับซ้อน ซึ่งการผ่าตัดรูปแบบนี้ที่นิยมในต่างประเทศเช่น อเมริกาและยุโรปที่ทำมานานกว่า 40 ปี

นพ.โสภณ กล่าวว่า ตัวอย่างโรงพยาบาลที่ดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม เช่น โรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนา กาญจนบุรี ทำการผ่าตัดแบบวันเดียวกลับมานานกว่า 10 ปี มีผู้ป่วยรับบริการกว่า 1,500 รายทั้งในจังหวัด ต่างจังหวัด และต่างประเทศ เฉลี่ยปีละ 200 ราย มากที่สุดคือโรคไส้เลื่อนที่ขาหนีบ ริดสีดวงทวาร ก้อนที่เต้านม โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา ผ่าตัดแบบวันเดียวกลับปีละ 100 ราย และผ่าตัดแผลเล็กโดยส่องกล้องปีละ 800 ราย ส่วนใหญ่คือโรคนิ่วในถุงน้ำดี เนื้องอกมดลูกและเนื้องอกรังไข่ โรงพยาบาลชัยภูมิผ่าตัดส่องกล้องโรคหมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาทปีละ 100 กว่าราย อย่างไรก็ดี การผ่าตัดวันเดียวกลับและการผ่าตัดแผลเล็ก จำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนระบบการเบิกจ่ายจากปัจจุบัน เพื่อให้โรงพยาบาลได้รับค่าใช้จ่ายที่เหมาะสมกับความเป็นจริง ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการของทั้ง 3 กองทุนสุขภาพ