ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

โรคสมาธิสั้นหรือ attention-deficit hyperactivity disorder (ADHD) เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติในการทำงานของสมองที่ทำให้ผู้ป่วยมีความบกพร่องในการควบคุมสมาธิและการแสดงออกทางพฤติกรรมใน 3 ด้าน ได้แก่

1) ขาดสมาธิที่ต่อเนื่อง เช่น ทำงานตกหล่น สับเพร่า เหม่อลอย ขี้ลืม ทำของหายบ่อยๆ ทำอะไรนานๆไม่ได้ เปลี่ยนกิจกรรมบ่อยๆ ทำงานไม่เสร็จ วอกแวกง่าย อะไรผ่านก็หันไปมอง เหมือนไม่ได้ฟัง เวลามีคนพูดด้วย

2) ซนมากกว่าปกติหรืออยู่ไม่นิ่ง เช่น ยุกยิก กระสับกระส่าย มืออยู่ไม่สุข อยู่นิ่งไม่ได้ ต้องขยับตลอดนั่งไม่ติดที่ ชอบเดินไปมา ชอบวิ่ง ไม่เดิน ชอบปีนป่าย เล่นผาดโผน เล่นแรง เล่นได้ไม่เหนื่อย พูดเก่ง พูดเร็ว พูดไม่หยุด พูดไปเรื่อยๆ

3) ขาดการยั้งคิดหรือหุนหันพลันแล่น เช่น รอคอยไม่ได้ คิดอะไรจะทำทันที เหมือนรถไม่มีเบรคพูดสวนพูดทะลุกลางปล้อง ตอบก่อนผู้ถามจะถามจบ ถ้าต้องทำอะไรที่ช้าๆหรือนานๆ จะไม่อยากทำหรือไม่อดทนพอที่จะทำสิ่งนั้น

โดยเริ่มแสดงอาการตั้งแต่ในวัยเด็ก อาการของโรคสมาธิสั้นจะเปลี่ยนแปลงไปตามวัย โดยอาการพฤติกรรมอยู่ไม่นิ่งจะลดลงเมื่อผู้ป่วยโตขึ้นและส่วนใหญ่มักเป็นต่อเนื่องไปจนถึงวัยรุ่นหรือวัยผู้ใหญ่หากไม่ได้รับการรักษาที่ดีอาการความผิดปกติที่เป็นจะทำให้เกิดผลกระทบต่อผู้ป่วยทั้งในด้านการเรียน อาชีพ ครอบครัว และสังคม

ผู้ป่วยเด็กโรคสมาธิสั้น โดยเฉพาะหากไม่ได้รับการรักษามักจะประสบปัญหาในด้านการเรียน ปัญหาด้านปฏิสัมพันธ์กับเพื่อน และมีภาพพจน์ต่อตนเองที่ไม่ดี เมื่อโตขึ้นถึงวัยรุ่นหรือผู้ใหญ่จะมีความเสี่ยงมากกว่าบุคคลทั่วไปต่อการเกิดปัญหาการใช้สารเสพติด พฤติกรรมเสี่ยงอันตราย อุบัติเหตุในการขับขี่ยานพาหนะ ความล้มเหลวในการประกอบอาชีพ และปัญหาทางจิตเวชอื่นๆ

ในรายงานเกี่ยวกับแนวทางการวินิจฉัยและรักษาโรคสมาธิสั้นในเด็กและวัยรุ่นล่าสุด มีอัตราความชุกเฉลี่ยจากการศึกษาในประเทศต่างๆ (worldwide-pooled prevalence) เท่ากับ 5.295 ในประเทศไทยได้มีการศึกษาในเด็กชั้นประถมศึกษาในเขตกรุงเทพมหานครพบว่ามีความชุกของโรคสมาธิสั้นร้อยละ 5.016

ดังนั้นหากคำนวณจากเด็กวัยเรียน 10 ล้านในประเทศไทยจะได้จำนวนเด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้น 500,000 คน หรือประมาณได้ว่าในแต่ละชั้นเรียนที่มีเด็กนักเรียน 40-50 คน จะมีเด็กสมาธิสั้นรวมอยู่ด้วย 2 คน โรคนี้พบในเพศชายบ่อยกว่าในเพศหญิงในอัตราส่วนประมาณ 3:17

สำหรับสาเหตุนั้น เชื่อกันว่าโรคสมาธิสั้นมีสาเหตุเป็นได้จากหลายปัจจัย โดยมีปัจจัยทางพันธุกรรมเป็นสาเหตุหลักในส่วนใหญ่ของผู้ป่วย และในปัจจุบันได้มีการค้นพบยีนหลายตัวที่น่าจะเกี่ยวข้องกับสาเหตุของโรคสมาธิสั้นได้ด้วย เช่น dopamine beta-hydroxylase gene และ serotonin transporter gene เป็นต้น

นอกจากนี้ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมบางอย่างอาจมีส่วนทำให้เกิดโรคสมาธิสั้น เช่น ภาวะพิษจากสารตะกั่ว การสูบบุหรี่ของมารดาในขณะตั้งครรภ์ การคลอดก่อนกำหนด และภาวะแทรกซ้อนอื่นๆของการตั้งครรภ์และการคลอด ส่วนปัจจัยด้านการเลี้ยงดู เช่น การเลี้ยงดูที่ขาดระเบียบหรือการปล่อยให้เด็กดูโทรทัศน์มากเกินไป ไม่ได้เป็นสาเหตุ แต่อาจมีส่วนทำให้อาการของโรคสมาธิสั้นเป็นมากขึ้นได้

การรักษาโรคสมาธิสั้น ต้องอาศัยการช่วยเหลือหลายวิธีร่วมกัน ได้แก่ การให้ความรู้เกี่ยวกับโรคแก่พ่อแม่ผู้ปกครอง การให้คำแนะนำในการจัดสิ่งแวดล้อมเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วย การประสานงานกับทางโรงเรียนเพื่อให้การช่วยเหลือในชั้นเรียน และการใช้ยาเพื่อลดอาการด้านพฤติกรรมที่เป็นปัญหาเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยสามารถควบคุมตนเองและปรับตัวได้ดีขึ้น

เก็บความจาก

วิฐารณ บุญสิทธิ .โรคสมาธิสั้น: การวินิจฉัยและรักษา. วารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย 2555; 57(4): 373-386, สาขาวิชาจิตเวชศาสตร์เด็กและวัยรุ่น ภาควิชากุมารเวชศาสตร์คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล. แหล่งที่มา: http://www.psychiatry.or.th/JOURNAL/57-4/00-Vitharon.pdf.

จิตเวชศาสตร์ (RamaMental).โรคสมาธิสั้น.คณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล. แหล่งที่มา: http://med.mahidol.ac.th/ramamental/generalknowledge/child/09042014-1854

ขอบคุณรูปภาพจาก

แหล่งที่มา: http://med.mahidol.ac.th/ramamental/generalknowledge/child/09042014-1854