ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“ยามีคุณอนันต์ แต่มีโทษมหันต์” คำพังเพยที่คุ้นชินกันทุกคน สิ่งสำคัญคือจะใช้ยาอย่างไรให้ปลอดภัย เภสัชกรจึงถือกำเนิดด้วยภารกิจที่สังคมมอบหมายให้เป็นผู้รู้เรื่องยา ตั้งแต่การพัฒนายา การผลิตยา และการใช้ยา เพื่อให้ประชาชนใช้ยาอย่างเหมาะสม ลดความเสี่ยงจากการใช้ยา

วิชาชีพเภสัชกรรม หมายความว่า วิชาชีพที่เกี่ยวกับการกระทําในการเตรียมยา การผลิตยา การประดิษฐ์ยา การเลือกสรรยา การวิเคราะห์ยา การควบคุมและการประกันคุณภาพยา การปรุงและการจ่ายยาตามใบสั่งยาของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรม หรือผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ การปรุงยา การจ่ายยา การขายยา และการดําเนินการตามกฎหมายว่าด้วยยา และกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับยา การให้คําแนะนําปรึกษาและการคุ้มครองผู้บริโภคด้านยา รวมทั้ง การดําเนินการหรือร่วมกับผู้ประกอบวิชาชีพด้านการแพทย์และสาธารณสุขในการค้นหา ป้องกันและแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวเนื่องกับการใช้ยา

ประเทศไทยมีเภสัชกรที่ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมมากว่า 100 ปี โดยในระยะแรก เภสัชกรมีบทบาทหลักใน 2 สาขาคือปรุงยาและขายยา

ปัจจุบันบทบาทของเภสัชกรขยายเป็น 7 สาขาหลัก เพื่อสนองตอบความจำเป็นของสังคมไทย คือ สาขาเภสัชกรโรงพยาบาล, สาขาเภสัชกรชุมชน (ร้านยา), สาขาเภสัชกรการอุตสาหกรรม, สาขาเภสัชกรการตลาด, สาขาการคุ้มครองผู้บริโภค, สาขาเภสัชกรด้านทะเบียนและกฎหมายผลิตภัณฑ์ และสาขาเภสัชกรการศึกษา และยังคงมีการขาดแคลนเภสัชกรในบางสาขาอยู่มาก

เมื่อพิจารณาปัจจัยหลักที่จะส่งผลให้รูปแบบความต้องการทางสุขภาพเปลี่ยนแปลงไป ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรของไทยที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วง 3 - 4 ทศวรรษที่ผ่านมา ทำให้ประเทศเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงวัย ตั้งแต่ประมาณปี 2543 - 2544 หรือความผันแปรของภูมิอากาศมีผลต่อลักษณะอากาศ ทำให้ความรุนแรงของภัยธรรมชาติเพิ่มมากขึ้น จึงจำเป็นที่เภสัชกรจะมีบทบาทเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ และภัยพิบัติที่คุกคามความมั่นคงของประเทศ ตัวอย่างเช่น

การจัดหา ผลิตยา และนำส่งยาไปยังบ้านของผู้ป่วยในสภาวะฉุกเฉิน

การดูแลการใช้ยาของผู้สูงอายุ วิเคราะห์แผนการใช้ยาเพื่อให้เกิดความสมดุล ระหว่างผู้สูงอายุและรูปแบบการรักษา

การเพิ่มศักยภาพของผู้ป่วย เพื่อให้ผู้ป่วยมีความเท่าทัน ด้านการใช้ยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพ

แล้วจำนวนเภสัชกรไทยเพียงพอกับความต้องการของสังคมไทยหรือไม่ ?

การวางแผนกำลังคนด้านเภสัชศาสตร์มีความสำคัญเพื่อวิเคราะห์ความต้องการในอนาคต เตรียมความพร้อมในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลง จากปัจจัยแวดล้อมภายนอก ในด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และระบบสุขภาพที่เป็นพลวัตร

ประเทศไทยมีการศึกษาความต้องการกำลังคนด้านเภสัชกรรม ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2538 จนถึงปัจจุบัน พบงานวิจัยกว่า 10 ฉบับ โดยฉบับล่าสุดจัดทำโดยสภาเภสัชกรรมในปี พ.ศ.2559 ข้อสรุปจากรายงานการวิจัยที่ผ่านมาคือ จำนวนเภสัชกรที่มีอยู่ในประเทศยังไม่เพียงพอ สังคมไทยจำเป็นต้องมีเภสัชกรเพิ่มขึ้นเพื่อดูแลการใช้ยาของประชาชนที่เพิ่มสูงขึ้นทุกปี

ข้อเสนอจากการศึกษากำลังคนเภสัชกรล่าสุดในปี พ.ศ.2559 ระบุว่า จากจำนวนประชากรสูงอายุที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้คนไทยควรจะได้รับการบริบาลเภสัชกรรมในเชิงลึกเพิ่มขึ้น ในขณะที่ปัจจุบันเรายังขาดแคลนเภสัชกรที่ปฏิบัติงานบริบาลเภสัชกรรมในเชิงลึกในโรงพยาบาล (ดู ที่นี่)

นอกจากนี้เพื่อให้ประเทศไทยสามารถพึ่งตนเองด้านยา การเพิ่มจำนวนเภสัชกรด้านสมุนไพรจึงเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อป้อนการขยายตัวของอุตสาหกรรม การตลาดสมุนไพร และการใช้สมุนไพรในโรงพยาบาล

ยามีคุณอนันต์ แต่มีโทษมหันต์ ถ้าไม่มีเภสัชกรช่วยดูแล

ผู้เขียน : รศ.ภญ.นุศราพร เกษสมบูรณ์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

รศ.ภญ.นุศราพร เกษสมบูรณ์